เล่มที่ 3
ข้าว
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคข้าว

            โรคข้าวที่ระบาดทำลายต้นข้าวจนเสียหายนั้น เกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด เช่น เชื้อรา เชื้อบักเตรีและเชื้อไวรัส นอกจากนี้ไส้เดือนฝอย ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ก็สามารถทำให้ต้นข้าวเกิดเป็นโรคได้ด้วย เพราะฉะนั้น โรคข้าวที่สำคัญๆ จะแบ่งออกได้เป็นพวกๆดังนี้

โรคไหม้

โรคที่เกิดจากเชื้อรา

            โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ โรคถอดฝักดาบ โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคดอกกระถิน

๑. โรคไหม้ (blast disease)

            โรคนี้ระบาดทั่วไป ในทุกภาคของประเทศไทย เกิดจากเชื้อราชื่อ ไพริคูลาเรีย ออไรซี (Pyricularia oryzae) ซึ่งเมล็ดสืบพันธุ์ (conidia) ของเชื้อรานี้ แพร่กระจายไปได้โดยปลิว ไปกับลม ฉะนั้น โรคไหม้จึงแพร่กระจายไปโดยลม เมื่อเมล็ดสืบพันธุ์ของเชื้อราตกลงบนส่วนต่างๆ ของต้นข้าวที่มีความชื้นสูง มันก็จะงอกเป็นเส้นใยเข้าทำลาย ต้นข้าว ปกติโรคนี้จะทำให้ใบของต้นกล้าเกิดเป็นแผล รูปกลมหรือคล้ายรูปตาของคน เป็นสีเทา และบางครั้ง จะมีขอบของแผลเป็นสีน้ำตาลด้วย เมื่อใบข้าวถูกเชื้อโรค เข้าทำลายอย่างรุนแรง แต่ละใบก็จะมีแผลโรคเป็นจำนวน มาก แล้วทำให้ใบข้าวแห้งตาย ถ้าใบข้าวจำนวนมาก แห้งตายไปเพราะโรค ในที่สุดก็จะทำให้ต้นกล้าแห้งตายไปด้วย นอกจากนี้ เชื้อรายังสามารถทำให้คอรวงข้าวเน่าเป็นสีน้ำตาลแก่ ทำให้เมล็ดลีบ ดังนั้น เชื้อรานี้สามารถทำให้ต้นข้าวเป็นโรคตั้งแต่ระยะ ต้นกล้าจนถึงออกรวง สำหรับประเทศไทย โรคนี้ รุนแรงมากในฤดูฝน ในระยะที่ต้นข้าวเป็นต้นกล้าและ กำลังออกรวง ความรุนแรงของโรคจะมีมากยิ่งขึ้น ถ้าชาวนาปลูกข้าวด้วยพันธุ์ที่ไม่มีความต้านทานโรค และใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูงลงในดินนา

การป้องกันและกำจัด มีหลายวิธีด้วยกันดังนี้

            ๑) ปลูกด้วยพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานโรคไหม้ เช่น พันธุ์หางยี ๗๑ กข.๖ กข. ๗ กข.๘ กข.๑๓

            ๒) ทำการตกกล้าในแปลงขนาดกว้าง ๕๐ เซนติเมตร และความยาวของแปลงขนานไปกับทิศทางลม ทั้งนี้เพื่อลดความชื้นระหว่างต้นข้าว

            ๓) ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่ไม่สูงเกินไป ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับระดับความต้านทานของพันธุ์ข้าว

            ๔) ใช้สารเคมีพ่นลงบนต้นข้าว เช่น คาซูมิน (kasumin) เบนเลต (benlate) ฮิโนแซน (hinosan) ทำการพ่นทุกๆ ๗ วัน เป็นจำนวน ๒ ครั้งก็เพียงพอ

โรคถอดฝักดาบ

๒. โรคถอดฝักดาบ (elongation disease)

            โรคนี้ระบาดรุนแรงเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น ส่วนภาคอื่นมีระบาดเป็นจำนวนน้อยมาก เกิดจากเชื้อราชื่อ ยิบเบอเรลลา ฟูจิคูรอย (Gibberella fujikuroi) อาการของต้นข้าวที่เป็นโรคนี้จะมองเห็นได้ชัดในระยะ ๔๕ วัน นับจากวันปักดำ ต้นที่เป็นโรคจะแตกกอน้อย ใบสีเหลือง ซีด และต้นสูงกว่าต้นอื่นๆ มาก จนมองเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ พบว่า ต้นข้าวที่เป็นโรคจะมีรากพิเศษเกิด ขึ้นที่ข้อที่อยู่เหนือระดับน้ำในนาด้วย ต่อจากนั้นกาบใบ ที่อยู่ใกล้ระดับน้ำในนา จะมีกลุ่มของเส้นใยของเชื้อโรค เป็นสีชมพู แล้วแห้งตายไปทั้งต้น เมล็ดสืบพันธุ์ของเชื้อ โรคนี้แพร่กระจายไปโดยลม มักจะตกลงไปในดอกข้าว แล้วเชื้อราก็จะอยู่ในเมล็ดข้าว จนถึงเวลาตกกล้าใน ฤดูต่อไป โดยเหตุนี้ เชื้อโรคนี้จึงแพร่กระจายทางเมล็ด พันธุ์ เพราะเมื่อเอาเมล็ดที่มีเชื้อโรคไปปลูก เชื้อโรคก็จะเข้าทำลายต้นข้าว ตั้งแต่เมล็ดงอกเป็นต้นกล้า แล้วแสดงอาการของโรคออกมาให้เห็น

การป้องกันและกำจัด การป้องกันกำจัดโรคถอด ฝักดาบที่ได้ผลดีมีดังนี้

            ๑) ถอนต้นที่เป็นโรคมาเผาทิ้ง
            ๒) ปลูกด้วยพันธุ์ต้านทานโรค
            ๓) คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนตกกล้า ๑๕ วัน ด้วยสาร เคมีเช่น ไดเทนเอ็ม ๔๕ (daithane M-45) ปกติใช้ยานี้ ๐.๒๕ กรัม คลุกกับเมล็ดพันธุ์ที่แห้งหนัก ๑๐๐ กรัม

โรคใบจุดสีน้ำตาล
๓. โรคใบจุดสีน้ำตาล (brown spot disease)

            โรคนี้ระบาดรุนแรงในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินเลว โดยเฉพาะบางท้องที่ในภาคกลางและภาคใต้ เกิด จากเชื้อราชื่อ เฮลมินโทสพอเรียม ออไรซี (Helminthosporium oryzae) เมล็ดสืบพันธุ์ของเชื้อรานี้ปลิวไปได้กับลม และเมื่อตกลงบนดอกข้าวหรือเมล็ดข้าวที่ยังไม่แก่ เมล็ดสืบพันธุ์ก็จะงอกเข้าทำลายเมล็ดข้าว ทำให้เมล็ดข้าวเป็นรอยด่างสีเทา นอกจากนี้ เชื้อรายัง สามารถเข้าทำลายแป้งของเมล็ดด้วย ดังนั้น เมล็ดข้าวที่ถูกเชื้อราเข้าทำลาย จะมีคุณภาพไม่ดี น้ำหนักเบา เอาไปสีจะหักมาก เชื้อราจะติดอยู่กับเมล็ดข้าว จนถึงเวลาตกกล้า เมื่อเอาเมล็ดที่มีเชื้อราไปตกกล้า เชื้อที่ติดมาก็จะเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ แล้วเข้าทำลายต้นกล้า ทำให้ใบของต้นกล้ามีจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปไข่ ขนาดกว้างยาวของจุดประมาณ ๑x๒ มิลลิเมตร นอกจากนี้ เชื้อโรคยังสามารถทำให้ต้นข้าวในระยะแตกกอ และออกรวง มีจุดดังกล่าวที่ใบด้วย ดังนั้น เชื้อราจึงแพร่กระจายไปได้โดยเมล็ดพันธุ์ และปลิวไปกับลม

การป้องกันและกำจัด ทำการป้องกันกำจัดโรค ใบจุดสีน้ำตาลได้โดยวิธีต่างๆ ดังนี้

            ๑) ปลูกด้วยพันธุ์ที่ต้านทาน เช่น พันธุ์ กข.๑ กข.๒ กข.๖. กข.๘ กำผาย ๑๕ นางพญา ๗๐
            ๒) ใช้สารเคมีคลุกเมล็ดก่อนปลูก เช่น การคลุก เมล็ดพันธุ์ด้วยยาซีรีแซน (ceresan) หรือไดเทนเอ็ม ๔๕ หรือเบนเลต

โรคดอกกระถิน
๔. โรคดอกกระถิน (false smut disease)

            โรคนี้ ระบาดทั่วไปในที่ที่มีความชื้นสูง ในระยะเวลาที่ต้นข้าว ออกรวง เกิดจากเชื้อราชื่อ อูสทิเลยินอยเดีย ไวเรนส์ (Ustilaginoidea virens) เชื้อรานี้เข้าทำลายต้นข้าวที่เมล็ด แล้วสร้างเส้นใยและเมล็ดสืบพันธุ์จำนวนมากในเมล็ด นั้น จนโผล่นูนออกมานอกเมล็ด กลุ่มของเส้นใยและเมล็ด สืบพันธุ์ที่เมล็ดนี้จะเป็นสีเขียวแก่ ปกติในรวงหนึ่งๆ จะมีเมล็ดที่ถูกทำลายประมาณ ๕-๑๐ เมล็ด การแพร่ กระจายของเชื้อรา ตลอดถึงวิธีการป้องกันกำจัดยังไม่ได้มีการศึกษา อย่างไรก็ตาม พบว่าหญ้าบางจำพวก ก็ถูกเชื้อรานี้ทำลายจนเป็นโรคคล้ายโรคดอกกระถิน ในข้าวด้วย ฉะนั้น เมล็ดสืบพันธุ์จากเมล็ดหญ้าดังกล่าวที่เป็นโรค อาจปลิวไปกับลม เมื่อตกลงในดอกข้าว อาจทำให้ต้นข้าวเกิดเป็นโรคดอกกระถินได้

โรคที่เกิดจากเชื้อบัคเตรี

โรคที่สำคัญๆ ได้แก่ โรคขอบใบแห้ง โรคใบขีด โปร่งแสง

๑. โรคขอบใบแห้ง (bacterial leaf blight disease)

            โรคนี้ระบาดทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะ ท้องที่ที่อยู่ใกล้ถนนและที่ลุ่มซึ่งมีน้ำขังเป็นเวลานาน เกิดจากเชื้อบัคเตรี ชื่อ แซนโทโมนัส ออไรซี (Xanthomonas oryzae) เข้าทำลายต้นข้าวทางแผลที่ ใบหรือราก เชื้อโรคนี้สามารถทำให้ต้นข้าวที่อยู่ในระยะ แตกกอและออกรวง เกิดเป็นโรคอย่างรุนแรง โดยทำให้ ใบของข้าวในระยะแตกกอ และใบธงของข้าวในระยะ ออกรวงเกิดเป็นแผลช้ำสีเทาอ่อน ปกติแผลที่เป็นโรคจะเริ่ม จากขอบและปลายใบ แล้วขยายลงไปที่ข้อต่อของใบ แทบทุกใบของพันธุ์ข้าวที่ไม่มีความต้านทานจะเป็นโรค จนแห้งตายไปทั้งใบ นอกจากนี้ เชื้อโรคก็อาจทำให้ต้น และใบของต้นข้าวหลังปักดำใหม่ ๆ แห้งและตายไปทั้ง ต้น ซึ่งเรียกว่า ครีเสค (kresek) ภายในของต้นที่แห้งตาย เพราะครีเสค จะมีของเหลวสีเหลืองและมีกลิ่นของ บัคเตรีด้วย โรคนี้จะเป็นรุนแรงมากยิ่งขึ้นถ้าใส่ปุ๋ย ไนโตรเจนลงในดินนามากขึ้น

โรคขอบใบแห้ง

การป้องกันและกำจัด มีหลายวิธีดังนี้

            ๑) ปลูกด้วยพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรค เช่น กข.๗ กข.๒๑ กข.๒๓
            ๒) ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูงมากเกินไป ๓) ใช้สารเคมีพ่นลงบนต้น เช่น ฟีนาซีน-๕- ออกไซด์ (phenazine-5-oxide)

๒.โรคใบขีดโปร่งแสง (bacterial leaf streak disease)

            โรคนี้เกิดจากเชื้อบัคเตรี ชื่อ แซนโทโมนัส ทรานส์ลูเซนส์ ออไรซิโคลา (Xanthomonas translucens f.sp.oryzicola) ระบาดทั่วไปในประเทศไทย และมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคขอบใบแห้ง เชื้อโรคนี้ เข้าทำลายต้นข้าวอย่างรุนแรงในระยะแตกกอ โดยทำ ให้ใบเป็นรอยขีดช้ำเป็นทางยาวจำนวนมาก แล้วเปลี่ยน เป็นสีน้ำตาล ทำให้ใบแห้งตาย รอยช้ำนี้จะขนานกับเส้น ใบของข้าว และมีก้อนกลมสีเหลืองขนาดเล็กเกิดขึ้นใน รอยช้ำนี้ด้วย ก้อนกลมสีเหลืองนี้ คือ สิ่งที่บัคเตรี ถ่ายออกมาก ซึ่งมีเชื้อบัคเตรีปะปนอยู่ด้วย และเรียกว่า แบคทีเรียล เอกซูเดต (bacterial exudate) เมื่อถูก น้ำฝนชะล้างลงในน้ำหรือบนใบของต้นข้าวอื่น จะทำ ให้เชื้อบัคเตรีกระจายไปถึงต้นอื่นๆ นั้นด้วย แล้ว ทำให้ต้นข้าวที่ได้รับเชื้อเกิดเป็นโรคในเวลาต่อมา นี่คือ การแพร่กระจายของเชื้อโรคใบขีดโปร่งแสง

การป้องกันและกำจัด

            ๑) ปลูกด้วยพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรค
            ๒) ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่สูงมากเกินไป

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส

            โรคที่สำคัญ ๆ ได้แก่ โรคใบสีส้ม โรคใบสีแสด โรคเหลืองเตี้ย โรคเขียวเตี้ยและโรคจู๋ อย่างไรก็ตาม โรคเหล่านี้บางโรคต่อมาได้พบว่า ไม่ได้เกิดจากเชื้อ ไวรัส แต่เกิดจากเชื้อไมโครพลาสมา (microplasma)

๑.โรคใบสีส้ม (yellow orange leaf disease)

            โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เยลโล โอเรนจ์ลีฟไวรัส (yellow orange leaf virus) ส่วนใหญ่แพร่กระจาย โดยแมลงเพลี้ยจักจั่นสีเขียวชื่อ เนโฟเทตทิกซ์ อิมพิก- ทิเซพส์ (Nephotettix impicticeps) เป็นพาหะของเชื้อไวรัส ส่วนแมลงเพลี้ยจักจั่นสีเขียวชนิด เนโฟเทตทิกซ์ อะพิคาลิส (Nephotettix apicalis) และเพลี้ยจักจั่นปีก ลายหยักชื่อ อินาซูมา ดอร์ซาลิส (Inazuma dorsalis) นั้นเป็นตัวแพร่กระจายโรคได้น้อยมาก เชื้อโรคนี้ไม่สามารถแพร่กระจายโดยวิธีอื่นๆ ต้นข้าวเป็นโรคใบ สีส้มได้ทุกระยะตั้งแต่ต้นกล้าจนถึงตั้งท้องออกรวง แต่ต้นข้าวที่อยู่ในระยะแตกกอจะได้รับความเสียหาย มากที่สุด ต้นที่เป็นโรคใบอ่อนจะมีลักษณะเป็นรอยด่าง ของคลอโรฟีลล์ที่ถูกทำลายหายไป แล้วเปลี่ยนเป็นสี เหลือง ต้นแคระแกร็น นอกจากนี้ ใบล่างจะตกลงต่ำ แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แตกกอน้อย การเจริญเติบโต ของรากไม่ดี ออกดอกช้ากว่าปกติ รวงข้าวมีเมล็ด น้อยกว่าปกติ เมล็ดจำนวนมากอาจเปลี่ยนเป็นสีดำ น้ำหนักเมล็ดเบา อีกประการหนึ่งต้นข้าวที่เป็นโรคนี้ มักจะมีจุดแผลของโรคใบจุดสีน้ำตาลที่ใบของมัน ด้วย โรคใบสีส้ม นับได้ว่าเป็นโรคที่สำคัญมากในฤดู นาปีในภาคกลางของประเทศไทย

โรคใบสีส้ม

การป้องกันและกำจัด

            ๑) ปลูกพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานโรค เช่น พันธุ์ กข.๑ กข.๙
            ๒) กำจัดแมลงที่เป็นพาหะของเชื้อโรคนี้ด้วยสาร เคมี เช่น เซวีน (sevin) ๘๕% มิพซิน (mipcin) ๕๐%

โรคใบสีแสด

๒. โรคใบสีแสด (orange leaf disease)

            โรคนี้ เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ ออเรนจ์ ลีฟ ไวรัส (orange leaf virus) แพร่กระจายโดยแมลงเพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก ชื่อ อินาซูมา ดอร์ซาลิส (Inazuma dorsalis) เป็นพาหะ เท่านั้น เชื้อไวรัสนี้ทำให้ต้นข้าวในระยะแตกกอเกิดเป็น โรครุนแรงมาก ต้นที่เป็นโรคจะมีปลายใบของมันแทบ ทุกใบเป็นสีเหลืองส้มหรือแสด ซึ่งต่อมาขยายลงไปถึง กาบใบ ใบตั้งตรง ไม่โค้งงอ ขอบใบม้วนเข้าหา ส่วนกลางของแผ่นใบ แล้วต้นที่เป็นโรคก็จะแห้งตาย ไปในที่สุด โรคใบสีแสดระบาดมากในท้องที่จังหวัด ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

การป้องกันและกำจัด

๑) ปลูกพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานโรค
๒) กำจัดแมลงที่เป็นพาหนะของเชื้อโรคนี้ด้วยสาร เคมี เช่น เซวีน ๘๕% มิพซิน ๕๐%

โรคเหลืองเตี้ย

๓. โรคเหลืองเตี้ย (yellow dwarf diseasw)

            โรค นี้เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เยลโล ดวอร์ฟ ไวรัส (yellow dwarf virus) แพร่กระจายโดยแมลงเพลี้ยจักจั่นสีเขียว หลายชนิด เช่น เนโฟเทตทิกซ์ อะพิคาลิส เป็นพาหะ โรคนี้ ทำลายต้นข้าวในระยะต้นกล้าและระยะแตกกอ อาการของโรคจะแสดงออกให้เห็นได้ชัดภายใน ๓๐ วัน หลังจากการปักดำ ต้นข้าวที่เป็นโรคจะมีใบเล็ก กว่าปกติ สีเหลืองซีดแตกกอมากมายและแคระแกร็น จนเตี้ยมาก ไม่ออกรวง โรคนี้มีน้อยมากในประเทศไทย
การป้องกันและกำจัด เนื่องจากโรคนี้มีเกิดขึ้น น้อยมาก จึงไม่ได้มีการศึกษาวิธีป้องกันกำจัด อย่าง ไรก็ตาม ก็ต้องใช้ยาพ่นกำจัดแมลงพาหะของเชื้อโรคนี้

โรคเขียวเตี้ย

๔. โรคเขียวเตี้ย (grassy stunt disease)

            โรคนี้ เกิดจากเชื้อไมโครพลาสมา แพร่กระจายโดยแมลงเพลี้ย กระโดดสีน้ำตาลชื่อ นิลาพาร์วาทา ลูเยนส์ (Nilapar- vata lugens) เป็นพาหะเท่านั้น เชื้อโรคนี้ทำลายต้นข้าว ในระยะต้นกล้าและระยะแตกกอ ต้นข้าวจะแสดงอาการของโรคออกมาให้เห็นได้ชัด หลังจากการปักดำ โดยมีใบเป็นสีเขียวแก่และแผ่นใบแคบ แตกกอมากมาย แคระแกร็นจนต้นเตี้ยมาก ไม่ออกรวง โรคนี้มีน้อยมากในประเทศไทย แต่ระบาดรุนแรงมาก ในประเทศพิลิปปินส์ ฉะนั้น ในท้องที่ที่มีแมลงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด จะต้องหมั่นตรวจดูการเกิดเป็นโรคเขียวเตี้ยของต้นข้าวด้วย

การป้องกันและกำจัด

            ๑) ปลูกพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรค หรือต้านทาน แมลงพาหะ เช่น กข.๒๑ กข.๒๓
            ๒) พ่นยาเคมีกำจัดแมลงพาหะของเชื้อโรค

โรคจู๋

๕. โรคจู๋ (ragged stunt disease)

            เกิดจากเชื้อไวรัสแพร่กระจาย โดยแมลงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ชื่อ นิลาพาร์วาทาลูเยนส์ เป็นพาหะ เชื้อไวรัสจะเข้าทำลายต้นข้าวตั้งแต่ระยะต้นกล้าจนกระทั่งถึงระยะแตกกอเต็มที่ ทำให้ปลายใบบิดหรือม้วน และขอบใบอาจมีลักษณะฉีกขาดร่วมด้วย ใบสีเขียวเข้มกว่าปกติ ต้นเตี้ย ซึ่งจะเห็นได้ชัดมากในระยะข้าวตั้งท้อง ใบธงสั้น และรวงข้าวไม่สมบูรณ์ ต้นข้าวที่เป็นโรคมักไม่ออกรวง ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๖ โรคจู๋ทำให้ ข้าว กข.๗ เป็นโรคเสียหายอย่างรุนแรงในจังหวัดภาคกลาง

การป้องกันและกำจัด

            ๑) ปลูกพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรคหรือแมลงพาหะ เช่น กข.๙ กข.๒๑ กข.๒๓
            ๒) พ่นยาเคมีกำจัดแมลงพาหะของโรค เช่น มิพซิน ๕๐%

โรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย

โรคที่สำคัญได้แก่ โรครากปม

            ๑. โรครากปม (root knot disease)

            โรคนี้เกิด จากไส้เดือนชื่อ เมลอยโดไกเน เกรมินิโคลา (Meloidogyne greminicola) ไส้เดือนฝอยนี้ สามารถทำ ให้รากของต้นข้าวในระยะต้นกล้าและระยะแตกกอเกิด มีปมขนาดเล็กจำนวนมาก ใบสีเหลืองซีด แคระแกร็น แตกกอน้อย ไส้เดือนฝอยนี้จะระบาดรุนแรงมากในพื้นที่ ที่เป็นดินร่วนทรายไม่มีน้ำขัง โดยเฉพาะในท้องที่ภาค เหนือและภาคกลางตอนเหนือที่มีการปลูกพืชไร่ เช่น ยาสูบ ไส้เดือนฝอยอาศัยอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน เพราะมันสามารถอาศัยอยู่ในพืชหลายชนิด

การป้องกันและกำจัด

            ๑) ใช้สารเคมีฉีดหรืออบลงไปในดิน เพื่อฆ่า ไส้เดือนฝอยในดิน
            ๒) ไม่ปล่อยให้ดินนาในระยะปลูกข้าวขาดน้ำ
            ๓) ไขน้ำให้ท่วมดินนาระยะหนึ่ง เพื่อจะได้ทำลาย ไส้เดือนฝอย
            ๔) ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ กข.๖ กข.๑๕