การกระจายของนกเงือก
นกเงือกที่ถือกำเนิดในทวีปแอฟริกานั้นแพร่มาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างไร ตามทฤษฎี การเคลื่อนตัวของทวีป (Theory of Continental Drift) นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า จากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในช่วง ๘๐-๑๐๐ ล้านปีมาแล้ว อนุทวีปอินเดียได้เคลื่อนตัวแยกออกจากทวีปโบราณชื่อ กอนด์วานาแลนด์ (Gondwanaland) ซึ่งในปัจจุบันได้แยกออกเป็น ทวีปแอฟริกา เกาะมาดากัสการ์ ทวีปแอนตาร์กติกา และทวีปออสเตรเลีย แล้วเคลื่อนขึ้นเหนือผ่านทางตะวันออก ของเกาะมาดากัสการ์เข้าใกล้จะงอยของทวีปแอฟริกา และทางใต้ของคาบสมุทรอาหรับ ส่วนทางตะวันออกของอนุทวีปอินเดียนั้น เคลื่อนเข้าใกล้เขตซุนดาแลนด์ในช่วงระยะเวลาประมาณกลางสมัยอีโอซีน (Eocene) ทำให้เชื่อได้ว่า อนุทวีปอินเดียเปรียบเสมือน "สะพาน" ที่นำนกเงือกเดินทางจากทวีปแอฟริกากระจายมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกันนั้นนกเงือกก็ได้นำพืชโบราณ จากอนุทวีปอินเดียกระจายมายังภูมิภาคนี้ เกิดเป็นป่าดิบโบราณซึ่งในสมัยนั้นมีอุณหภูมิและความชื้นสูงมาก มีพืชพรรณธรรมชาติ เป็นป่าดิบชื้นเขตร้อนอุณหภูมิสูง และยังคงเป็นป่าดิบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

แสดงแหล่งกำเนิดและหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ การกระจายของนกเงือกปัจจุบันและการกระจายของนกทูแคน :
๑. ซากดึกดำบรรพ์สมัยไบโอซีนของนกเงือกพื้นดินที่ประเทศโมร็อกโก
๒. ซากดึกดำบรรพ์ยุคควอเทอร์นารีของนกชนหินที่ประเทศเวียดนาม
๓. เขตซุนดาแลนด์
คนไทยไม่น้อยยังคงมีความสับสนระหว่างนกเงือกและนกทูแคน (Toucan) ซึ่งเป็นนกคนละชนิดกัน โดยนกทูแคนพบเฉพาะในป่า ของทวีปอเมริกาใต้เท่านั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ทวีปอเมริกาใต้แยกตัวออกจากกอนด์วานาแลนด์แล้ว