นกเงือกไทย
ในบรรดานกเงือกเอเชีย ๓๑ ชนิด ประเทศไทยมีนกเงือกถึง ๑๓ ชนิด และเป็นนกเงือกป่าทั้งสิ้น เรียงลำดับตามวิวัฒนาการดังนี้
๑. นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill, Berenicornis comatus)
๒. นกชนหิน (Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil)
๓. นกเงือกดำ (Black Hornbill, Anthracoceros malayanus)
๔. นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill, Anthracoceros albirostris)
๕. นกเงือกปากดำ (Bushy-crested Hornbill, Anorrhinus galeritus)
๖. นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill, Ptilolaemus austeni)
๗. นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill, Ptilolaemus tickelli)
๘. นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill, Buceros rhinoceros)
๙. นกกก (Great Hornbill, Buceros bicornis)
๑๐. นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill, Aceros nipalensis)
๑๑. นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill, Rhyticeros corrugatus)
๑๒. นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill, Rhyticeros subruficollis)
๑๓. นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbill, Rhyticeros undulatus)
นกเงือกไทย ๑๓ ชนิด อาจแบ่งกลุ่มย่อยตามลักษณะของปากและโหนกได้เป็น ๔ กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มโหนกใหญ่ ได้แก่ นกชนหิน นกเงือกหัวแรด และนกกก
๒. กลุ่มโหนกขนาดกลาง ได้แก่ นกเงือกดำ และนกแก๊ก
๓. กลุ่มโหนกเล็กเป็นลอนหรือหยัก ปากมีรอยย่นหรือเป็นร่อง ได้แก่ นกเงือกคอแดง นกเงือกปากย่น นกเงือกกรามช้างปากเรียบ และนกเงือกกรามช้าง
๔. กลุ่มโหนกเป็นสัน ได้แก่ นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำหรือนกกาเขา นกเงือกสีน้ำตาล และนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว
๑. ความสัมพันธ์ระหว่างนกเงือกไทยและนกเงือกอื่นๆ
นกเงือกไทย ๑๓ ชนิด มีความสัมพันธ์ในระดับพันธุกรรมจากบรรพบุรุษร่วม ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ดังนี้
๑. นกเงือกหัวหงอก เป็นนกเงือกเก่าแก่มากที่สุดของนกเงือกเอเชีย ถือกำเนิดมาประมาณ ๔๗ ล้านปี สันนิษฐานว่า มีบรรพบุรุษ ร่วมกับนกเงือกขนาดเล็กของอินเดียสกุล Ocyceros และนกเงือกป่าแอฟริกาสกุล Tropicranus, Ceratogymna และ Bycanistes โดยนกเงือกหัวหงอกยังมีความสัมพันธ์ห่างๆ กับนกเงือกป่าเอเชียสกุล Aceros, Rhyticeros และ Penelopides ซึ่งเพศเมียมีลำตัวและปีกสีดำ
๒. นกชนหิน ถือกำเนิดมาประมาณ ๔๕ ล้านปี มีบรรพบุรุษร่วมกับกลุ่มนกเงือกโหนกใหญ่ คือ นกเงือกสกุล Buceros ซึ่งได้แก่ นกกก และนกเงือกหัวแรด รวมทั้งยังมีนกเงือกสกุล Buceros ในประเทศฟิลิปปินส์
นกชนหินนี้อาจนับได้ว่า มีความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษของกลุ่มนกเงือกโหนกขนาดกลางสกุล Anthracoceros ได้แก่ นกแก๊ก และนกเงือกดำ รวมทั้งกลุ่มนกเงือกโหนกเล็กเป็นสันคือ นกเงือกปากดำ นกเงือกสีน้ำตาล และนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว
๓. นกเงือกคอแดง ถือกำเนิดมาเมื่อประมาณ ๒๙ ล้านปี มีบรรพบุรุษร่วมกับบรรพบุรุษกลุ่มนกเงือกโหนกเล็กเป็นลอนหรือหยัก ปากมีรอยหยักหรือร่องและมีสีสัน สกุล Rhyticeros ได้แก่ นกเงือกปากย่น นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกกรามช้าง นกเงือกซุมบา นกเงือกปาปวน นกเงือกนาร์คอนแดม และนกเงือกฟิลิปปินส์ สกุล Penelopides spp. ซึ่งมีขนาดเล็ก
๒. วัฏจักรชีวิตของนกเงือก
ฤดูทำรังและการเสาะหาโพรงรัง
นกเงือกทำรังในโพรงไม้ โดยไม่สามารถเจาะโพรงเองได้ สำหรับฤดูทำรังของนกเงือกขึ้นอยู่กับภูมิภาคของประเทศไทย ในภูมิภาคเหนือคอคอดกระ (เหนือจังหวัดระนอง) จะเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม ส่วนภูมิภาคใต้คอคอดกระลงไป ฤดูทำรังจะเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง
นกกกคู่ผัวเมียหน้าโพรงรัง
เมื่อฤดูทำรังเริ่มขึ้น นกคู่ผัวเมียจะเริ่มเสาะหาโพรงรังตามต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ นกเงือกขนาดใหญ่มาก เช่น นกกก ใช้โพรงในต้นไม้ ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๑๑๐ เซนติเมตร ต้นไม้ที่มีโพรงรังของนกเงือกโดยมากเป็นต้นไม้ใน วงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) เช่น ต้นยางเสียน (Dipterocarpus gracilis) ต้นตะเคียน (Hopea sp.) และในวงศ์ Myrtaceae เช่น ต้นหว้า (Cleistocalyx nervosum) ซึ่งมีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามพันธุ์ไม้ที่พบว่า มีโพรงรังนกเงือกก็ขึ้นอยู่กับประเภท ของป่าถิ่นอาศัยด้วย (ตารางที่ ๑)
*วัดที่ความสูง ๑๓๐ ซม. จากพื้นดิน
การเกี้ยวพาราสี
ความพิเศษของนกเงือกเรื่องการทำรังนี้ เป็นที่กล่าวขานและเป็นที่รู้จักกันดีมาแต่โบราณ โดยเมื่อนกเงือกจับคู่แล้ว จะอยู่แบบคู่ผัวเดียวเมียเดียวไปจนตลอดชีวิต เมื่อฤดูทำรังมาถึง นกเงือกเพศผู้จะเกี้ยวพาราสีเพศเมียก่อนที่เพศเมียจะเข้าโพรงรัง ซึ่งพวกมันมักจะใช้โพรงรังที่มีอยู่เดิมหากโพรงเก่า ยังคงมีสภาพดี พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีนั้น จะพบในระยะต้นของการทำรัง ที่หน้าโพรงรัง เพศผู้จะป้อนอาหารซึ่งมักเป็นผลไม้ให้แก่คู่ของมัน แล้วพาเพศเมียไปดูโพรงรัง โดยบินเข้า-ออกระหว่างคอนที่เกาะ และหน้าโพรงรัง เพื่อเป็นการเชิญชวน ให้เพศเมียเข้าไปดูภายในโพรง
นกเงือกเพศผู้-เพศเมีย เกี้ยวพาราสีโดยการป้อนอาหารแก่กัน
การปิดโพรงและผสมพันธุ์
เมื่อนกคู่ผัวเมียได้โพรงรังแล้ว เพศเมียจะเข้าไปทำความสะอาดภายในโพรง กำจัดวัสดุที่ใช้ปิดโพรงเก่า และเศษอาหารหรือขยะ ของปีก่อนๆ ออกทิ้ง แล้วจึงเริ่มปิดปากโพรงโดยถ่ายมูล จากนั้นใช้ปากคาบมูลของตัวเองและอาหารที่ขย้อนออกมาแปะข้างๆ ผนังโพรงจากภายใน และใช้ปากด้านข้างตีให้วัสดุที่พอกไว้ติดกันแน่น เปรียบเสมือนช่างปูนใช้เกรียงโบกปูนในการก่อสร้าง ซึ่งทั้งมูล และอาหารที่ขย้อนออกมานี้มีลักษณะเหนียวทำให้ยึดเกาะกันได้ดี เมื่อวัสดุนี้แห้งจะแข็ง นกเงือกเพศเมียจะทำงานวันละประมาณ ๑ ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ในระยะนี้เพศเมียจะยังเข้า-ออกโพรง และในช่วงที่เพศเมียออกมา เพศผู้จะเข้าไปผสมพันธุ์ เพศเมียใช้เวลาปิดโพรงประมาณ ๓-๗ วัน หลังจากนั้นจะไม่ออกมาอีก เพราะปากโพรงจะแคบเข้าเรื่อยๆ เพศเมียใช้เวลาตกแต่ง ภายในโพรงอีกราว ๑ สัปดาห์จึงออกไข่ หลังจากออกไข่แล้ว เพศเมียจะผลัดขนปีกและหางทิ้งทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ขนตามตัวจะค่อยๆ ผลัดทิ้ง ส่วนเพศผู้จะผลัดขนแบบค่อยเป็นค่อยไป
แม่นกกกไข่และเลี้ยงลูกในโพรงไม้
การกกไข่ ฟักไข่ เลี้ยงลูก
นกเงือกส่วนมากออกไข่ ๒-๓ ฟอง ระยะเวลาการกกไข่สำหรับนกเงือกขนาดเล็กนาน ๒๕-๒๗ วัน จึงฟักเป็นตัว และเลี้ยงลูกอยู่ในโพรงอีกประมาณ ๒ เดือน โดยอาจเลี้ยงลูกได้ ๑-๓ ตัว แล้วแต่ชนิด ถ้าเป็นนกเงือกขนาดใหญ่ ระยะเวลากกไข่นาน ๔๐-๔๕ วัน จึงฟักเป็นตัว และเลี้ยงลูกเพียง ๑ ตัว เป็นเวลาประมาณ ๒๑-๒ เดือน และอยู่ในโพรงไม้ตลอด รวมเวลา ที่นกเงือกเพศผู้ต้องหาอาหารเลี้ยงครอบครัวนานประมาณ ๓-๔ เดือน นกเงือกเพศผู้จึงเป็นที่ยกย่องมาก นอกจากนี้จะต้องเอาใจเพศเมียและลูก เวลาที่นำอาหารมาป้อน บางครั้งเพศเมียขว้างทิ้ง เพราะว่า ผลไม้ที่เพศผู้นำมาป้อน เป็นผลไม้ชนิดเดิมซ้ำๆ กันหลายมื้อ เพศเมียก็จะส่งสัญญาณให้เปลี่ยนอาหาร โดยขว้างทิ้งต่อหน้า เพศผู้ได้แต่มองตามลูกไม้ที่หล่นไป แล้วก็หาอาหารมาเปลี่ยนให้ใหม่ นกเงือกเพศผู้ยังต้องคอยขับไล่ศัตรู และดูแลความสะอาดหน้าปากโพรง เมื่อลูกนกถ่ายมูลไม่พ้นปากโพรง ส่วนนกเงือกเพศเมียถ่ายมูลออกทางปากโพรงทุกครั้ง โพรงรังนกเงือกจึงสะอาด ดังนั้น นกเงือกเพศเมียและลูกนกจึงมีชีวิตขึ้นกับนกเงือกเพศผู้ ซึ่งหาอาหารมาป้อนตลอด จนลูกนกโตพอที่จะออกจากโพรงรังได้
รูปแบบการเลี้ยงลูก
โดยทั่วไปเรามักคิดว่า พ่อนกเงือกทุกชนิดเป็นผู้หาอาหารมาเลี้ยงแม่นกและลูกเพียงลำพัง แต่ที่จริงนกเงือกบางชนิดมีรูปแบบการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันออกไป โดยอาจแบ่งนกเงือกไทยตามรูปแบบการเลี้ยงลูกได้เป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
๑. พ่อดูแล (Father care) คือ พ่อนกหาอาหารเลี้ยงครอบครัวเพียงลำพัง รับผิดชอบในการดูแลครอบครัวตั้งแต่แม่นกปิดโพรงขังตัวเอง ออกไข่ และเลี้ยงลูกจนลูกนกโตออกจากโพรง นกเงือกในกลุ่มนี้ ได้แก่ นกชนหิน นกเงือกดำ นกแก๊ก นกเงือกคอแดง นกเงือกปากย่น นกเงือกกรามช้างปากเรียบ และนกเงือกกรามช้าง นกเงือกกลุ่มนี้เลี้ยงลูกเพียง ๑ ตัว ยกเว้นนกแก๊กอาจเลี้ยงลูกได้ ๑-๒ ตัว
พ่อนกหาอาหารเลี้ยงแม่นกและลูกนก
๒. พ่อแม่ดูแลร่วมกัน (Bi-parental care) คือ พ่อนกหาอาหารเลี้ยงครอบครัวระยะหนึ่งจนลูกนกออกจากไข่และมีอายุได้ราว ๔-๖ สัปดาห์ แม่นกจึงกะเทาะวัสดุปิดปากโพรง (ซึ่งก็เป็นช่วงที่เพศเมียมีขนใหม่งอกเกือบสมบูรณ์) แล้วออกมาช่วยพ่อนกเลี้ยงลูก โดยทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันหาอาหารมาเลี้ยงลูกจนลูกนกออกจากโพรง นกเงือกในกลุ่มนี้มีเพียง ๒ ชนิด คือ นกเงือกหัวแรด และนกกก นกเงือกในกลุ่มนี้เลี้ยงลูกเพียง ๑ ตัว
๓. มีผู้ช่วยดูแล (Cooperative care) คือ พ่อนกมีผู้ช่วยคอยหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งอาจมีผู้ช่วยตั้งแต่ ๑-๕ ตัว นกเงือกในกลุ่มนี้ ได้แก่ นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกสีน้ำตาล และนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว ซึ่งสามารถเลี้ยงลูกได้ ๑-๓ ตัว สำหรับนกเงือกสีน้ำตาลคอขาวคู่ใดที่ไม่มีผู้ช่วย การเลี้ยงลูกก็จะประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างต่ำ (โอกาสที่ลูกจะรอด น้อยกว่าร้อยละ ๕๐)
นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว และนกผู้ช่วยเลี้ยง ซึ่งเป็นนกหนุ่มที่ยังไม่มีคู่
อาหารของนกเงือก
นกเงือกกินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร แต่ผลไม้ยังคงเป็นอาหารหลัก ดังตัวอย่างตาราง
แสดงสัดส่วนของประเภทอาหารและสารอาหารที่นกเงือก ๔ ชนิดกินในฤดูทำรังที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้แก่ นกกก และนกเงือกกรามช้าง กินผลไทรมากที่สุด คือ ร้อยละ ๕๖ และร้อยละ ๕๒ ตามลำดับ ส่วนนกแก๊กและนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว กินผลไทรร้อยละ ๓๒ และร้อยละ ๒๖ ตามลำดับ ทั้งนี้ แล้วแต่ชนิดนกเงือกและประเภทป่าถิ่นอาศัย โดยพ่อนกจะป้อนอาหาร จำพวกสัตว์เป็นอาหารเสริมตอนช่วงที่ลูกนกกำลังโต จะเห็นว่า นกเงือกสีน้ำตาลคอขาวนั้นกินอาหารจำพวกสัตว์สูงมากเกือบร้อยละ ๔๐ เพราะนกเงือกสีน้ำตาลคอขาวเลี้ยงลูกมากกว่า ๑ ตัว จึงต้องการอาหารโปรตีนสูง ส่วนนกเงือกกรามช้างได้สารอาหารโปรตีน จากสัตว์ ค่อนข้างต่ำ แต่ได้จากผลไม้เป็นส่วนใหญ่
อาหารของนกเงือกมีทั้งผลไม้และสัตว์เล็กๆ
ผลไม้ป่าซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญของนกเงือก จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา วงศ์ปาล์ม วงศ์อบเชย วงศ์สมอ วงศ์ตาเสือ วงศ์ไทร และวงศ์จันทน์เทศ ซึ่งเป็นวงศ์ไม้เด่นของป่ายุคโบราณที่เรียกว่า Megathermal tropical rainforest นั่นเอง
ผลไม้ป่าซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญของนกเงือกในฤดูทำรังจัดอยู่ในวงศ์ต่อไปนี้
Annonaceae วงศ์กระดังงา น้อยหน่า ได้แก่ ยางโอน (Polyalthia viridis)
Aracaceae วงศ์ปาล์ม ได้แก่ ค้อ (Livistona jenkinsiana)
Lauraceae วงศ์อบเชย ได้แก่ สุรามะริด (Cinnamomum subavenium)
Burseraceae วงศ์สมอ หนำเลี๊ยบ ได้แก่ มะเกิ้ม หรือมะกอกเกลื้อน (Canarium euphyllum)
Myrtaceae วงศ์หว้า ได้แก่ หว้า (Cleistocalyx nervosum)
Myrtisticaceae วงศ์จันทน์เทศ มะพร้าวนกกก ได้แก่ ส้มโมงหรือมะพร้าวนกกก (Horsfieldia amygdalina) และเลือดม้า (Knema elegans)
Meliaceae วงศ์ตาเสือหรือมะฮอกกานี มะอ้า ได้แก่ ตาเสือใหญ่ (Aglaia spectabilis) ตาเสือเล็ก (Aglaia lawii) และตาเสือดง (Dysoxylum densiflorum)
Moraceae วงศ์มะเดื่อ ไทร มะหาด ขนุน สาเก ได้แก่ ไทรชนิดต่างๆ กร่าง (Ficus altissima) ไทรย้อยใบทู่ (Ficus microcarpa) ไทรย้อยใบแหลม (Ficus benjamina) ไทรยอดย้อย (Ficus kurzii) และมะหาด (Artocarpus lacucha)
ศัตรูของนกเงือก
แม้นกเงือกจะทำรังอยู่ในโพรงบนต้นไม้สูง แต่ก็มีศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ หมาไม้ และหมีขอ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ โดยหมาไม้ลงหากินบนพื้นดินด้วย ส่วนหมีขอยังไม่เคยพบว่า ลงหากินบนพื้นดิน แม้ว่าหมาไม้จะลงหากินบนพื้นดิน แต่ขึ้นต้นไม้ได้เก่งมาก หมาไม้และหมีขอสามารถเข้าไปกินแม่นกและลูกนกในโพรงรังได้ ถ้าปากโพรงถูกเปิดโดยแม่นก ด้วยเหตุใดก็ตาม และนี่คงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ต่อวิวัฒนาการในการทำรังของนกเงือก โดยปิดโพรงรัง เพื่อขังตัวเองและลูกนกอยู่ในโพรง ให้พ้นภัยจากผู้ล่า
หมาไม้
การรวมฝูง
ช่วงที่ลูกนกเงือกออกจากโพรงแล้ว ถือว่าฤดูทำรังสิ้นสุดลงและย่างเข้าสู่ฤดูฝน เมื่อลูกนกโตมากพอที่จะบินตามพ่อแม่นกได้ ก็จะรวมฝูงกัน ซึ่งการรวมฝูงนี้เป็นพฤติกรรมทางสังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะการหาแหล่งอาหาร การเฝ้าระวังศัตรู และอาจรวมไปถึง การจับคู่ ฝูงนกเงือกอาจมีขนาดใหญ่เล็กต่างกัน นกเงือกกรามช้างรวมฝูงกันมากที่สุดเป็นจำนวนหลายร้อยตัว ส่วนนกเงือกสีน้ำตาลคอขาวรวมฝูงน้อยที่สุดมักไม่เกิน ๘๐ ตัว สำหรับนกแก๊กและนกกกในบางปีอาจรวมฝูงกันนับได้เกือบ ๒๐๐ ตัว
นกเงือกรวมฝูงบนเรือนยอดของต้นไม้
นกเงือกกับระบบนิเวศป่า
บทบาทของนกเงือกต่อระบบนิเวศป่า จะเห็นได้ชัดจากภาพเขียนเปรียบเทียบป่าเสื่อมโทรมและป่าสมบูรณ์ ในป่าเสื่อมโทรม จำนวนสัตว์ป่ากลุ่มผู้ล่าและกลุ่มผู้กระจายเมล็ดลดน้อยลงหรือสูญหายไป แต่กลุ่มสัตว์ที่ทำลายเมล็ด ได้แก่ หนู กระรอก หมูป่า ซึ่งกินเมล็ดผลไม้โดยตรง มีชุกชุมเพราะขาดผู้ล่า เมื่อต้นไม้ออกผลแต่ไม่มีสัตว์ที่กินผลไม้ ช่วยนำเมล็ดไปจากต้นแม่ ผลไม้จึงร่วงหล่นสะสมอยู่ใต้ต้น เป็นการดึงดูดกลุ่มสัตว์ที่ทำลายเมล็ด ทำให้เมล็ดไม่มีโอกาสที่จะงอกเป็นต้นกล้าหรือมีน้อยมาก ส่วนในป่าที่สมบูรณ์ซึ่งมีทั้งผู้กระจายเมล็ด ได้แก่ นกเงือก ชะนี ลิง เก้ง กวาง และนกนานาชนิด ยังมีผู้ล่าขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งคอยควบคุมประชากรกลุ่มสัตว์ที่ทำลายเมล็ด ทำให้กลุ่มผู้กระจายเมล็ดสามารถนำเอาผลและเมล็ดไปจากต้นแม่ได้ จึงเหลือตกหล่นใต้ต้นเพียงเล็กน้อย ดังนั้น เมื่อเมล็ดถูกกระจายไปตกตามที่ต่างๆ จึงมีโอกาสงอกเป็นต้นกล้าไม้ได้มากขึ้น
ภาพเขียนแสดงป่าสมบูรณ์ที่มีสัตว์ช่วยกระจายเมล็ด จึงงอกเป็นต้นกล้าได้มาก
การแพร่กระจายเมล็ดนั้นประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับขนาดปากของผู้นำเมล็ดไป รวมทั้งขนาดของผลและเมล็ด และระยะทาง ที่สามารถนำไป เช่น นกปรอดเป็นนกขนาดเล็กซึ่งมีปากเล็ก กินผลไม้ขนาดเล็กและนำไปได้ไม่ไกล ส่วนนกเงือก มีปากขนาดใหญ่มาก จึงสามารถเก็บกินผลไม้ได้หลายชนิดและหลายขนาด นกเงือกยังมีอุปนิสัยเลือกเก็บเฉพาะผลสุก ซึ่งผลสุก จะมีเมล็ดที่สมบูรณ์ และยังเก็บกักตุนได้คราวละหลายผล แล้วไปขย้อนเมล็ดที่สมบูรณ์ออกทิ้ง ขณะกำลังบินหรือระหว่างเกาะพัก ตามต้นไม้ โดยจะขย้อนเมล็ดครั้งละ ๑ หรือ ๒ เมล็ด นอกจากนี้ นกเงือกยังบินเป็นระยะทางไกล ครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก โดยเฉพาะนอกฤดูทำรัง แต่ละเดือนนกเงือกบินไปมาในป่าครอบคลุมพื้นที่ โดยเฉลี่ย ๙๖ ตารางกิโลเมตร หรือ ๖๐,๐๐๐ ไร่ ทำให้เกิดการแพร่กระจายออกไป แต่ก็มีนกบางชนิดจิกกินเฉพาะเนื้อผลไม้ และปล่อยให้เมล็ดร่วงหล่นอยู่ใต้ต้นนั่นเอง
เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการแพร่กระจายเมล็ดของนกเงือกกับนกมูม (Mountain Imperial Pigeon, Dacula badia) นกมูมเป็นนกในวงศ์เดียวกับนกพิราบ (Columbidae) แต่มีขนาดใหญ่กว่าและอยู่ในป่าแห่งเดียวกับนกเงือก นกมูม สามารถกินผลไม้ขนาดค่อนข้างใหญ่ได้ เช่น ผลมะเกิ้ม ซึ่งมีเมล็ดกว้าง ๒๒ มิลลิเมตร และยาวประมาณ ๔๐ มิลลิเมตร จากผลการวิจัยพบว่า นกมูม ๑ ตัวสามารถจะนำผลไม้ไปได้เพียง ๒ ผลเท่านั้น ในขณะที่นกเงือก ๑ ตัวสามารถนำไปได้ถึง ๕ ผล ส่วนผลตาเสือใหญ่ ซึ่งมีเมล็ดกว้าง ๒๔ มิลลิเมตร มีแต่นกเงือกเท่านั้นที่เป็นผู้นำไปได้ และนกเงือก ๑ ตัว สามารถนำเมล็ดตาเสือใหญ่นี้ ไปได้ ๓ เมล็ด ฉะนั้น พืชที่มีผลหรือมีเมล็ดขนาดใหญ่จำเป็นต้องอาศัยนกเงือก หากนกเงือกหมดไป พืชเหล่านั้น ก็มีแนวโน้มที่จะต้องสูญพันธุ์เช่นกัน
ตัวอย่างแสดงประสิทธิภาพการปลูกป่าโดยนกเงือกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยลูกนกเงือก ๔ ชนิด จำนวน ๘๐ ตัว จะเห็นว่า เป็นการบริการเพาะกล้าไม้และปลูกป่าให้เปล่า ที่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ คือมีความหลากหลายด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง นกเงือก คือ "นักปลูกป่า" (Farmer of the forest) มืออาชีพโดยแท้
การอนุรักษ์นกเงือก
แม้นกเงือกจะอาศัยอยู่ในป่าสมบูรณ์ดังเช่นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ก็ยังมีปัจจัยที่คุกคามนกเงือก นอกจากฝีมือมนุษย์แล้ว นกเงือกยังต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทำให้เกิดการขาดแคลนโพรงรังซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะนกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงรังได้เอง ฉะนั้น โพรงรังจึงเป็นปัจจัยจำกัดในการขยายพันธุ์ของนกเงือก สาเหตุของการขาดแคลนโพรงรัง มาจากการสูญเสียต้นไม้ที่มีโพรงรัง เนื่องจากถูกพายุพัดต้นโพรงรังหัก อัตราสูงถึงร้อยละ ๒๐
การซ่อมแซมโพรงรัง
นอกจากโพรงรังที่หักแล้ว ยังมีโพรงรังที่ถูกทอดทิ้งซึ่งบ่งชี้ว่าโพรงรังเหล่านั้นสูญเสียสภาพ มีอัตราสูงถึงร้อยละ ๗๐ ในการสำรวจโพรงรังนั้น คณะวิจัยใช้วิธีปีนด้วยเชือก เหมือนกับการปีนเขา เพราะโพรงรังมักอยู่สูงประมาณ ๒๐-๓๐ เมตรจากพื้นดิน ผลการสำรวจ พบสาเหตุพื้นโพรงทรุด ร้อยละ ๕๐ เป็นผลจากกระบวนการผุพังตลอดเวลา ทำให้พื้นทรุดลงไปเรื่อยๆ การแก้ปัญหาพื้นโพรงทรุดทำได้ง่ายด้วยการถมดิน อีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้สภาพโพรงรังไม่เหมาะสมก็คือ ปากโพรงปิด หรือแคบลงร้อยละ ๔๐ เนื่องจาก ต้นไม้ที่มีโพรงรัง แม้จะมีไส้เน่าเปื่อยจากเชื้อรา แต่เนื้อไม้ส่วนเปลือกยังมีชีวิต และเนื้อเยื่อ ก็ยังเจริญเติบโต จึงต้องถากเปิดออก เมื่อโพรงรังสภาพดีมีอยู่น้อย ทำให้เกิดการแก่งแย่งโพรง พฤติกรรมนี้สามารถบ่งชี้ได้ว่าเกิดการขาดแคลนโพรงรัง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำรัง ของนกเงือก การซ่อมแซมโพรงรังและปรับปรุงโพรงธรรมชาติให้สามารถเป็นโพรงรังได้ ทำให้เพิ่มโพรงรังแก่นกเงือกได้อีกร้อยละ ๓๐ เป็นการเพิ่มโอกาสให้นกเงือกได้ขยายพันธุ์
สรุปบทบาทสำคัญของนกเงือกในระบบนิเวศป่า คือ นกเงือกจัดเป็นสัตว์ "ชนิดหลัก" (Keystone species) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญ โดยเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ที่มีประสิทธิภาพคงความหลากหลายของพันธุ์ไม้ป่า อีกทั้งยังเป็นผู้ล่า ซึ่งรักษาความสมดุล ของระบบนิเวศ จึงทำให้ป่าสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นสัตว์ชนิดให้ร่มเงา (Umbrella species) เนื่องจาก มีการใช้พื้นที่ป่า ครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก และยังมีปฏิสัมพันธ์ทั้งกับนก สัตว์ และพืชหลากหลายชนิด ดังนั้น ถ้าอนุรักษ์นกเงือกไว้ได้ ก็เท่ากับ อนุรักษ์สัตว์และพืชอื่นๆ ได้อีกมากมาย นอกจากนี้ นกเงือกเป็นสัตว์ชนิดบ่งชี้ (Indicator species) บอกถึงความสมบูรณ์ ของป่าได้ด้วย และเป็นสัตว์ชนิดนำธง (Flagship species) คือ เป็นชนิดที่มีความโดดเด่นและดึงดูดความสนใจของคนทั่วไปด้วย
นกกกและนกเงือกกรามช้างเกิดการแย่งโพรงรังเดียวกัน
๓. สถานภาพนกเงือกไทย
ประเทศไทยมีป่าหลากหลายประเภท มีทั้งป่าเต็งรัง ร้อยละ ๓๑ ป่าเบญจพรรณ ร้อยละ ๒๒ และป่าดิบ ร้อยละ ๔๓ ซึ่งรวมป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น ป่าดิบเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของนกเงือก เพราะในป่าดิบจะพบนกเงือกหลายชนิดมากที่สุด แต่ในประเทศไทย ป่าถูกทำลายไปมากโดยเฉพาะป่าดิบ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่ประมาณร้อยละ ๒๘ ของพื้นที่ประเทศ และส่วนที่เป็นป่าอนุรักษ์ก็มีอยู่เพียงร้อยละ ๑๘ สถานการณ์ ดังกล่าวทำให้นกเงือกไทยหลายชนิดอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง สำหรับนกเงือกไทย ๑๓ ชนิด พบกระจายอยู่ตามกลุ่มป่าอนุรักษ์ต่างๆ แผนที่แสดงกลุ่มป่าในประเทศไทย โดยสถานภาพนกเงือกไทย ถูกจัดไว้ดังนี้คือ
๑. สถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง มี ๒ ชนิด คือ นกเงือกดำ และนกเงือกปากย่น
๒. สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ มี ๔ ชนิด คือ นกชนหิน นกเงือกหัวแรด นกเงือกกรามช้างปากเรียบ และนกเงือกคอแดง (ซึ่งเป็นนกเงือกที่มีสีสันสวยงามมาก อาจเรียกได้ว่าสวยที่สุดในโลก เพราะนกเงือกชนิดอื่นๆ มีขนสีดำ-ขาวเป็นส่วนใหญ่)
๓. สถานภาพมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ มี ๖ ชนิด คือ นกเงือกหัวหงอก นกกก นกเงือกกรามช้าง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว และนกเงือกปากดำหรือกาเขา
๔. สถานภาพยังไม่น่าเป็นห่วง มีเพียง ๑ ชนิด คือ นกแก๊ก
ทั้งนี้ หากมีการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นกเงือกอย่างจริงจังและเข้มข้น ก็จะสามารถทำให้สถานภาพของนกเงือกดีขึ้น
ประเทศไทยมีนกเงือกอยู่ ๑๓ ชนิด โดยพบกระจายอยู่ตามป่าอนุรักษ์ต่างๆ ดังปรากฏในแผนที่แสดงกลุ่มป่าในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ (๒๕๔๒) นกเงือกไทยทั้ง ๑๓ ชนิด เรียงลำดับตามสถานภาพของนกเงือกที่ถูกคุกคาม ซึ่งประเมินโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (๒๕๕๐) มีรายละเอียด ดังนี้
๑. กลุ่มใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)
๑. นกเงือกดำ (Black Hornbill, Anthracoceros malayanus)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย พบได้ที่กลุ่มป่าเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช และกลุ่มป่าฮาลา-บาลา ที่เขตใต้สุด ของประเทศ
ภูมิภาคอื่นๆ พบบนคาบสมุทรมลายู เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา
ขนาด ความยาววัดจากปลายจะงอยปากถึงปลายหาง ๗๕-๘๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑,๐๕๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย คล้ายนกแก๊กแต่ตัวเต็มวัยขนาดใหญ่กว่านกแก๊กเล็กน้อย ขนตามตัวและปีกมีสีดำปลอด ขนหางดำ ครึ่งปลายสีขาว ยกเว้น ๒ เส้นกลางสีดำปลอด โหนกมีขนาดกลาง เพศผู้ จะงอยปากมีสีขาว ม่านตาสีน้ำตาลจนถึงน้ำตาลแดง หนังขอบตาสีดำ อาจมีสีเหลืองแต้มที่หนังใต้ตา เพศเมีย จะงอยปากมีสีดำ ม่านตาสีส้ม หนังขอบตามีสีขาวและสีชมพูคล้ำ ทั้ง ๒ เพศ อาจมีขนเป็นแถบสีขาวจากขอบตาบนจรดท้ายทอย
นกเงือกดำเพศผู้และเพศเมีย (ที่มา: รณยุทธ ศรีบุญยานนท์)
นกเงือกดำชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ และไม่ทราบอุปนิสัยของนกเงือกชนิดนี้ดีนัก พบบริเวณป่าที่ราบต่ำ โดยเฉพาะใกล้แหล่งน้ำ เช่น ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส บางครั้งพบบริเวณที่โล่ง เพราะป่าที่ราบต่ำถูกบุกรุกแผ้วถางง่าย จำนวนนกเงือกดำจึงลดลงไปอย่างรวดเร็ว จนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
นกเงือกดำเพศผู้
อาหาร ในป่าพรุโต๊ะแดง พบว่านกเงือกดำกินผลไม้และสัตว์ อาหารจำพวกผลไม้ เช่น ไทร ส้มโมง ทัง จันทน์ป่า ส่วนอาหารจำพวกสัตว์ เช่น แมลงชนิดต่างๆ จิ้งเหลน
การทำรังและเลี้ยงลูก ที่ป่าพรุโต๊ะแดง นกเงือกดำทำรังในต้นสะเตียว (Ganua motleyana) ที่ความสูง ๒๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ยังไม่ทราบช่วงการปิดโพรงรังที่แน่นอน แต่ลูกนกออกจากโพรงรังราวเดือนมิถุนายน พ่อนกหาอาหารเลี้ยงแม่นก และลูกนก เพียงลำพัง เลี้ยงลูกคราวละ ๑ ตัว
สถานภาพ จัดเป็นนกเงือกที่หายากและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
๒. นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill, Rhyticeros corrugatus)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย พบได้ที่กลุ่มป่าฮาลา-บาลา ที่เขตใต้สุดของประเทศ
ภูมิภาคอื่นๆ พบบนคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว
ขนาด ๘๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑,๖๐๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย เป็นนกเงือกที่มีสีสันสวยงามชนิดหนึ่ง เพศผู้ ขนตามตัวมีสีดำ บริเวณหน้าและคอสีขาว แต่นกทาน้ำมันสีเหลือง ซึ่งผลิตจากต่อมน้ำมันที่โคนหาง ทำให้บริเวณหน้าและคอมีสีเหลือง มีกระหม่อมสีดำ โคนหางสีดำส่วนปลาย ๒ ใน ๓ ของหางมีสีน้ำตาลอ่อนหรือขาว ถุงใต้คอสีขาวหรือฟ้าซีดๆ มักถูกทาด้วยสีเหลือง โหนกสูงเป็นสันและหยักเป็นริ้วสีแดง หนังขอบตาสีฟ้า จะงอยปากล่างมีรอยย่น ซึ่งทาบทับด้วยสีน้ำตาล ส่วนโคนจะงอยปากบนสีแดงเรื่อ เพศเมีย ลำตัวและปีกมีสีดำ ส่วนหางเหมือนเพศผู้ ปากและโหนกมีสีเหลืองจากต่อมน้ำมัน โหนกเป็นสันสูงแต่ไม่เป็นริ้วเหมือนของเพศผู้ ถุงใต้คอสีน้ำเงินแกมเขียวหรือสีฟ้า หนังขอบตาสีฟ้า แยกได้ง่ายจากนกเงือกกรามช้างเพศเมียซึ่งหนังรอบตา มีสีแดงชมพู นกเงือกปากย่นจับคู่ผสมพันธุ์เมื่ออายุไม่น้อยกว่า ๓ ปี
นกเงือกปากย่นเพศเมีย
นกเงือกปากย่นชอบหากินในระดับเรือนยอดไม้ พบอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นฝูงเล็กๆ อาจพบรวมฝูงมากถึง ๒๐ ตัว ชีวิตของนกเงือกชนิดนี้ ยังเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก ชอบอาศัยตามป่าระดับต่ำจนถึงป่าดิบชื้นที่ความสูง ๕๐-๙๖๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งป่าถิ่นอาศัยของนกเงือกปากย่นถูกบุกรุกทำลายได้ง่าย อาจสูญพันธุ์ก่อนที่เราจะรู้จักชีวิตนกเงือกปากย่นได้อย่างจริงจัง
นกเงือกปากย่นเพศผู้
อาหาร ในกลุ่มป่าฮาลา-บาลา นกเงือกปากย่นกินผลไม้ เช่น เลือด จันทน์ม่วง ค่างเต้น ไทร ขนุนป่า ตาเสือ ส้มโมง พน ยางโอน ปอ ส่วนอาหารจำพวกสัตว์ เช่น แมงป่อง แมลง งู กิ้งก่า กิ้งกือ
การทำรังและเลี้ยงลูก นกเงือกปากย่นทำรังในต้นตะเคียนและชมพู่ดง ที่ความสูง ๒๐๐-๓๔๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล นกเงือกปากย่นเริ่มทำรังช้ากว่านกเงือกชนิดอื่น ที่อุทยานแห่งชาติบางลาง จังหวัดยะลา นกเงือกชนิดนี้ เริ่มปิดรังประมาณ เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา ลูกนกจะออกจากรัง ราวเดือนตุลาคม พ่อนกหาอาหารเลี้ยงแม่นกและลูกนกเพียงลำพัง เลี้ยงลูกคราวละ ๑ ตัว
สถานภาพ จัดเป็นนกเงือกที่หายากและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
๒. กลุ่มใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)
๑. นกชนหิน (Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย พบได้ในผืนป่าขนาดใหญ่ ตั้งแต่กลุ่มป่าจังหวัดชุมพรลงไปจนถึงกลุ่มป่าฮาลา-บาลา ที่เขตใต้สุด ของประเทศ
ภูมิภาคอื่นๆ พบได้บนคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว
ขนาด ๑๒๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๓,๐๖๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย เป็นนกเงือกชนิดเดียวในบรรดานกเงือกในโลก ที่มีโหนก เป็นสันหนาและสูง แข็ง และตัน คล้ายงาช้าง สีแดงคล้ำ ขนตามตัวสีน้ำตาลเข้ม ท้องขาวนวล หางขาวมีแถบดำพาดขวางคล้ายหางนกกก มีขนยาวพิเศษ ๒ เส้น ซึ่งยาวเกินส่วนหางออกไป ถึง ๕๐ เซนติเมตร ขอบปีกขาว ปากสั้นสีแดงคล้ำ ปลายปีกสีครีม เพศผู้ มีหนังเปลือย บริเวณคอสีแดงคล้ำ เพศเมีย มีหนังบริเวณคอเป็นสีฟ้าอ่อนจนถึง สีน้ำเงิน นกวัยรุ่น เพศผู้บริเวณคอสีแดงเรื่อ ส่วนเพศเมียมีสีออกม่วง โหนกมีขนาดเล็ก ส่วนบนมน สีน้ำตาลแดง ขนหางพิเศษยังไม่เจริญเต็มที่
นกชนหินเพศเมีย
นกชนหินปกติมักหากินที่ระดับยอดไม้ในป่าดิบชื้น เพศผู้จะร้องเสียงดังมาก คือ ตุ๊ก...ตุ๊ก... ทอดเป็นจังหวะ ร้องติดต่อกันยาว เสียงร้องกระชั้นขึ้นเป็นลำดับ เมื่อสุดเสียง จะคล้ายกับเสียงหัวเราะ ประมาณ ๔-๕ ครั้ง เวลาตกใจจะแผดเสียงสูงคล้ายเสียงแตร หากต่อสู้กัน จะบินเอาโหนกชนกันกลางอากาศ ทำให้เกิดเสียงดัง
อาหาร อาหารหลัก ได้แก่ ไทร และผลไม้ป่าอื่นๆ เช่น ตาเสือ ทัง เลือด จันทน์ม่วง ส่วนอาหารจำพวกสัตว์ นอกจากแมลงต่างๆ แล้ว นกชนหินยังล่าสัตว์อื่นๆ เช่น กิ้งก่า กระรอก ลูกนก แมลง
นกชนหินเพศผู้
การทำรังและเลี้ยงลูก พบทำรังในต้นตะเคียน กาลอ ตอแล ที่ความสูง ๓๐๐-๕๓๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยรังของนกชนหิน มีลักษณะพิเศษ คือ มีปุ่มขนาดค่อนข้างใหญ่ยื่นออกมาเหนือหรือใต้โพรงรัง เพื่อเป็นที่เกาะเมื่อเพศผู้ป้อนอาหาร นกชนหินเริ่มปิดรัง ราวเดือนมีนาคม-เมษายน ลูกนกออกจากโพรงรังราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ่อนกจะหาอาหารมาเลี้ยงแม่นก และลูกนก เลี้ยงลูกคราวละ ๑ ตัว เป็นนกเงือกที่ใช้เวลาทำรังนานมาก บางคู่ใช้เวลาถึง ๖ เดือนนับตั้งแต่วันที่นกเพศเมียปิดโพรงเสร็จ จนกระทั่ง ลูกนกออกจากโพรงรัง
สถานภาพ เป็นนกเงือกที่พบได้ไม่บ่อยจนถึงหายาก และมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์
๒. นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill, Buceros rhinoceros)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย ปัจจุบันพบได้ที่กลุ่มป่าฮาลา-บาลา โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุทยานแห่งชาติบางลาง ในจังหวัดยะลา อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ในจังหวัดสตูล และกลุ่มป่าทิวเขาบรรทัด ในภาคใต้ ซึ่งตั้งต้นจากจังหวัดตรังถึงจังหวัดสตูล
นกเงือกหัวแรดเพศผู้
ภูมิภาคอื่นๆ พบบนคาบสมุทรมลายู เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา
ขนาด ๑๒๕ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๓,๐๐๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย ตัวโตเต็มวัยทั้ง ๒ เพศมีลักษณะต่างกันเล็กน้อย ลักษณะทั่วไปคล้ายนกกก ขนตามตัวส่วนบน และปีก มีสีดำปลอด ส่วนท้องตอนล่างและใต้ก้นสีขาว หางสีขาวมีแถบคาดสีดำ จะงอยปากสีขาวงาช้าง โดยมีสีเหลืองบริเวณปาก และโหนก ซึ่งสีเหลืองนี้มาจากน้ำมันที่ผลิตโดยต่อมที่โคนหางและนกใช้ทา ส่วนจะงอยปากล่างสีขาวงาช้าง มีโหนกสีแดงสด ด้านหน้าของโหนกโค้งขึ้นคล้ายนอของแรด จึงได้ชื่อว่า "นกเงือกหัวแรด" และเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษว่า "Hornbill" เพศผู้ ม่านตา (Iris) มีสีแดง แนวขอบของโหนกด้านล่างมีเส้นดำตลอดแนวส่วนโค้ง เพศเมีย ม่านตามีสีขาว โหนกไม่มีขอบดำ นกวัยรุ่น มีโหนกเล็กและส่วนหน้าเป็นแนวตรง นกชนิดนี้จับคู่ผสมพันธุ์เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า ๔ ปี
นกเงือกหัวแรดบินเสียงดัง ส่งเสียงร้องคล้ายนกกกคือดังมาก แต่เสียงค่อนข้างแตกพร่ากว่านกกก หากินอยู่ตามเรือนยอดของต้นไม้ ในป่าดิบชื้น ที่มีระดับต่ำ จนถึงป่าดิบเขาที่มีความสูง ๑,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล
นกเงือกหัวแรดเพศเมีย
อาหาร ในป่าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี พบว่า นกเงือกหัวแรดกินผลไม้และสัตว์ แต่ชอบผลไม้มากกว่า โดยเฉพาะผลไทร และผลไม้ป่าชนิดอื่นๆ เช่น ทังป่า ตาเสือใหญ่ ตาเสือ หว้า พน ยางโอน ส่วนอาหารจำพวกสัตว์ เช่น ตั๊กแตน กิ้งกือ กิ้งก่าบิน ตะขาบ
การทำรังและเลี้ยงลูก ที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีมักพบทำรังในต้นยาง ตะเคียน กาลอ หว้า ฯลฯ ที่ความสูง ๕๐-๕๘๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล นกเงือกหัวแรดเริ่มปิดรังในเดือนมีนาคม ลูกนกออกจากรังเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แม่นกออกจากโพรงก่อนลูกนกเช่นเดียวกับนกกก แม่นกมักช่วยพ่อนกหาอาหารมาเลี้ยงลูกด้วย
สถานภาพ จัดเป็นนกเงือกที่หายาก และมีสถานภาพใกล้สูญพันธ
๓. นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill, Aceros nipalensis)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย นกเงือกคอแดงได้สูญพันธุ์ไปจากป่าดิบเขาในภาคเหนือ ปัจจุบันพบได้เฉพาะที่ บริเวณกลุ่มป่าตะวันตกเท่านั้น
ภูมิภาคอื่นๆ นกเงือกชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากประเทศเนปาลและจีนตอนใต้เช่นเดียวกัน แต่ยังพบได้ในประเทศภูฏาน แคว้นอัสสัม ของอินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา ลาว และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามุ์
นกเงือกคอแดงเพศผู้
ขนาด ๑๐๐-๑๒๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๒,๕๐๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย ทั้ง ๒ เพศมีลักษณะต่างกัน เพศผู้ มีขนบริเวณหัว คอและหน้าอก ส่วนบนเป็นสีน้ำตาลแดงอมส้ม สวยงาม เป็นนกเงือกไทยที่มีสีสันฉูดฉาด หลังและปีกสีดำเหลือบเขียว ปลายขนปีกสีขาว หางยาว ส่วนโคนหางสีดำ และส่วนปลายที่เหลือมีสีขาว ม่านตาสีแดง หนังขอบตาสีฟ้าอมเขียวสดใส ถุงใต้คอสีแดงสดอมส้ม ถุงใต้คอ บริเวณโคนจะงอยปากล่างสีน้ำเงินม่วง ปากสีขาวงาช้าง ด้านข้างจะงอยปากบนมีร่อง (Groove) เฉียงสีดำ อาจมีมากถึง ๘ ร่อง ซึ่งจำนวนร่องเหล่านี้ มีความสัมพันธ์กับอายุของนกด้วย เพศเมีย มีขนาดเล็กกว่าเพศผู้ ขนตามตัวและคอสีดำปลอด ถุงใต้คอสีเดียวกับเพศผู้ ลูกนก ที่เพิ่งออกจากรังมีลักษณะคล้ายเพศผู้ จะงอยปากสั้นและเล็กกว่า นกเงือกคอแดงจับคู่ผสมพันธุ์ เมื่ออายุไม่น้อยกว่า ๓ ปี
นกเงือกคอแดงหากินระดับเรือนยอดไม้ บางครั้งก็ลงมาเก็บผลไม้ที่ร่วงบนดิน เวลาอยู่บนพื้นดินจะกระโดดไปมา นอกฤดูผสมพันธุ์ ชอบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ ๔-๕ ตัว หรืออาจพบมากถึง ๑๕ ตัว เสียงร้องคล้ายเสียงเคาะกะลาบนพื้น ๒ จังหวะ คือ กอก...ก๊อก อาศัยอยู่ในป่าดิบเขาที่ความสูง ๘๐๐-๒,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล
นกเงือกคอแดงเพศเมีย (ที่มา : สมชาย พุ่มพวง)
อาหาร นกเงือกคอแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานีและตาก พบว่าชอบกินผลไม้และสัตว์ อาหารจำพวกผลไม้ เช่น หมากนกมูม ขนุนเขา ขี้อ้าย ตาเสือ เลือด ยางโอน มะเกิ้ม ไทร ส่วนอาหารจำพวกสัตว์ เช่น กิ้งก่า แมลงต่างๆ ที่ชอบมากคือ ปู
การทำรังและเลี้ยงลูก ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นกเงือกคอแดงทำรังในต้นหว้า มะอ้า มะเกิ้ม ในป่าดิบเขาที่ความสูง ๘๖๐-๑,๓๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยเริ่มปิดรังในราวเดือนมกราคม และลูกนกออกจากรังในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ่อนกหาอาหารเลี้ยงแม่นกและลูกนกเพียงลำพัง ส่วนมากเลี้ยงลูกได้เพียง ๑ ตัว
สถานภาพ เป็นนกเงือกที่หายาก และมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์
๔. นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill, Rhyticeros subruficollis)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย พบได้ตามแนวป่าที่บริเวณกลุ่มป่าตะวันตก ได้แก่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกลุ่มป่าฮาลา-บาลา ที่เขตใต้สุดของประเทศ
ภูมิภาคอื่นๆ พบตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ที่กั้นเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมา และบนคาบสมุทรมลายู ตรงบริเวณที่ต่อแดนกับประเทศไทย
นกเงือกกรามช้างปากเรียบเพศผู้
ขนาด ๗๕-๘๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑,๘๐๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย นกเงือกชนิดนี้แยกลักษณะจากนกเงือกกรามช้างได้ยากหากมองเห็นในระยะไกล แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก มีจะงอยปากด้านข้างเรียบบริเวณโคนมีสีแดงคล้ำ ส่วนลักษณะอื่นเหมือนนกเงือกกรามช้าง ทั้ง ๒ เพศ มีหางสีขาว เพศผู้ บริเวณหน้าและคอมีสีขาว กระหม่อมสีน้ำตาลแดง ถุงใต้คอสีเหลือง ไม่มีขีดสีดำ เพศเมีย มีสีดำทั้งหัว คอ ปีก และตัว ถุงใต้คอสีฟ้าไม่มีขีดดำ จับคู่ผสมพันธุ์เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า ๓ ปี นอกฤดูทำรังชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงละ ๖-๒๐ ตัว แต่อาจรวมฝูงขนาดใหญ่จำนวนหลายร้อยตัว โดยสามารถบินหากินเป็นระยะทางไกลๆ เสียงร้องคล้ายเสียงเห่า แหบๆ สั้นๆ อาศัยอยู่ในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณที่ระดับต่ำจนถึงที่สูงประมาณ ๙๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่เดิมเข้าใจว่า พบในบริเวณผืนป่าตะวันตกเท่านั้น แต่ปัจจุบันพบได้ที่บริเวณกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก และกลุ่มป่าฮาลา-บาลาอีกด้วย
นกเงือกกรามช้างปากเรียบเพศเมีย
อาหาร ในป่าเบญจพรรณ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่า กินทั้งผลไม้และสัตว์ อาหารจำพวกผลไม้ เช่น ไทร ยางโอน ตาเสือ กำลังเลือดม้า ส่วนอาหารจำพวกสัตว์ เช่น แมลงชนิดต่างๆ หอยทาก
การทำรังและเลี้ยงลูก ในป่าเบญจพรรณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่า ทำรังในต้นสมพง ตะแบก และไทรกะเหรี่ยง ที่ความสูง ๑๕๐-๓๔๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยโพรงรังมักเป็นโพรงรังเก่าของนกหัวขวานเสียส่วนใหญ่ นกเงือกกรามช้างปากเรียบเริ่มปิดรังในราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ลูกนกออกจากโพรงราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน การเลี้ยงดูลูก พ่อนกเป็นผู้เลี้ยงครอบครัวเพียงตัวเดียว และเลี้ยงลูกนกคราวละ ๑ ตัว
สถานภาพ จัดเป็นนกเงือกหายาก และมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์
๓. กลุ่มมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ (Vulnerable)
๑. นกเงือกหัวหงอก หรือนกนายพราน หรือนกหมาพราน (White-crowned Hornbill, Berenicornis comatus)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย พบได้ตามบริเวณป่าอนุรักษ์ที่เป็นป่าดิบชื้น ตั้งแต่กลุ่มป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ลงไปทางใต้จนถึงกลุ่มป่าฮาลา-บาลา ติดต่อกับเขตแดนมาเลเซีย ทั้งนี้ เคยมีรายงานว่าพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งด้วย แต่ยังไม่ยืนยัน
ภูมิภาคอื่นๆ พบได้ตั้งแต่ทางตอนใต้ของเมียนมา ตอนกลางและตอนใต้ของเวียดนาม บนคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว
นกเงือกหัวหงอกเพศเมีย
ขนาด ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑,๕๐๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย ตัวเต็มวัยมีขนสีขาวฟูคล้ายหงอน เวลาบิน จะเห็นหางสีขาวชัดเจน ขนหางมีความสั้น-ยาว ไล่จากด้านนอกเข้าหาเส้นกลางซึ่งยาวที่สุด ขนปีกสีดำมีปลายปีกสีขาว ปากและโหนกขนาดเล็กมีสีดำ หนังขอบตาสีฟ้าอ่อน เพศผู้ คอและท้องมีสีขาว เพศเมีย มีขนาดเล็กกว่าเพศผู้ ขนคอและท้องมีสีดำ ส่วนนกวัยรุ่น ขนตามตัวมีสีเทาประสีดำ หางดำปลายขาว ขนคลุมปีกปลายสีขาว ปากสั้นสีเหลืองอ่อน ไม่มีโหนก นกชนิดนี้ จะจับคู่ผสมพันธุ์ได้ เมื่ออายุไม่น้อยกว่า ๓ ปี
นกเงือกหัวหงอกเพศผู้
นกเงือกหัวหงอกมักพบอยู่เป็นคู่หรืออยู่รวมเป็นฝูงเล็กๆ ๔-๖ ตัว บางครั้งมากถึง ๒๐ ตัว เสียงร้อง อุ๊ อุ๊ อุ๊ ชอบอยู่ในป่าดิบชื้น ที่ความสูง ๑๒๐-๘๒๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ชอบหากินบริเวณใต้เรือนยอดของต้นไม้ หรือจับเหยื่อจากพื้นดิน เป็นนกเงือกที่บินเงียบมาก
อาหาร ในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบว่า นกเงือกหัวหงอกกินผลไม้ เช่น ไทร ตาเสือ ผลไม้ในวงศ์อบเชย และชอบกินสัตว์ เช่น กิ้งก่า แมลงต่างๆ มากเมื่อเปรียบเทียบกับนกเงือกชนิดอื่นๆ ในขณะที่มองหาเหยื่อ นกเงือกหัวหงอกสามารถปรับม่านตาให้หดหรือขยายได้ เพื่อการรับแสง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษต่างจากนกเงือกชนิดอื่นๆ
การทำรังและเลี้ยงลูก ที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี พบทำรังในต้นตะเคียนและหว้าหิน ที่ความสูง ๒๓๐-๕๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล นกเงือกหัวหงอกเริ่มปิดโพรงราวเดือนพฤษภาคม เลี้ยงลูกคราวละ ๑-๒ ตัว ลูกนกออกจากไข่ราวเดือนกรกฎาคม พ่อนกหาอาหารเลี้ยงแม่นกและลูกนก โดยมีผู้ช่วย ๑-๒ ตัว ผู้ช่วยนั้นมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย
สถานภาพ พบได้ไม่บ่อย และมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์
๒. นกเงือกปากดำ หรือกาเขา (Bushy-crested Hornbill, Anorrhinus galeritus)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย พบได้ตั้งแต่บริเวณกลุ่มป่าจังหวัดชุมพรลงไปจนถึงตอนใต้สุดของประเทศคือ กลุ่มป่าฮาลา-บาลา
ภูมิภาคอื่นๆ พบได้บนคาบสมุทรมลายู เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา
ขนาด ๗๕-๘๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑,๒๔๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย ขนาดใหญ่กว่านกเงือกสีน้ำตาลเล็กน้อย เพศผู้ ปากมีสีดำ เพศเมีย ปากมีสีเหลืองแซมด้วยสีดำ โหนกเล็กแต่หนา หนังขอบตาสีฟ้าซีดทั้ง ๒ เพศ ลูกนก ปากมีสีเหลืองอ่อนคล้ายนกเงือกสีน้ำตาล ขนส่วนใหญ่ ของนกมีสีดำเหลือบสะท้อนแสง โดยขนปีกมีสีน้ำตาลดำ รวมทั้งขนตามลำตัว หน้าอกและท้อง หางมีสีน้ำตาลอ่อน ปลายหางเป็นแถบสีดำ นกเงือกปากดำจับคู่ผสมพันธุ์เมื่ออายุไม่น้อยกว่า ๓ ปี
นกเงือกปากดำเพศผู้และเพศเมีย
นกเงือกปากดำหากินและนอนรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ๓-๑๕ ตัว ที่บริเวณเรือนยอดระดับต่ำในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ชอบส่งเสียงเอะอะ คล้ายนกเงือกสีน้ำตาล
อาหาร ในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี นกเงือกปากดำกินผลไม้ เช่น ไทร ทังป่า มะอ้า ตาเสือใหญ่ ส่วนอาหารจำพวกสัตว์ เช่น แมลง กิ้งกือ
การทำรังและเลี้ยงลูก ที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี พบว่า รังของนกเงือกปากดำอยู่ในต้นไม้วงศ์ยาง และหว้าหิน ที่ความสูง ๗๐-๖๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล นกเงือกปากดำเริ่มทำรังราวเดือนมีนาคม ลูกนกออกจากรังราวเดือนมิถุนายน การเลี้ยงลูกคล้ายนกเงือกสีน้ำตาลคือ นอกจากพ่อนกหาอาหารมาเลี้ยงแม่นกและลูกนกแล้ว ยังมีนกผู้ช่วย ซึ่งประกอบด้วยนกเงือกปากดำทั้ง ๒ เพศและทุกวัยมาเป็นพี่เลี้ยง โดยอาจมีจำนวน ๑-๕ ตัว เลี้ยงลูกคราวละ ๑-๓ ตัว
สถานภาพ พบได้บ่อย แต่มีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์
๓. นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill, Ptilolaemus austeni)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย เป็นนกเงือกที่สูญพันธุ์หรือเกือบสูญพันธุ์ไปจากป่าภาคเหนือ ปัจจุบันพบได้ในกลุ่ม ป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าตะวันออก
ภูมิภาคอื่นๆ พบได้ในแคว้นอัสสัมของอินเดีย เมียนมา มณฑลหยุนหนานของจีน ลาว และเวียดนาม
ขนาด ๗๕ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๗๕๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย ลักษณะคล้ายนกเงือกสีน้ำตาลมาก (แต่เดิมจัดเป็นชนิดพันธุ์ย่อยของนกเงือกสีน้ำตาล) เพศผู้ จะงอยปากมีสีขาวงาช้าง มีโหนกเป็นสันเล็กๆ หนังขอบตาสีฟ้าอ่อน มีขนตามตัว หัว และท้ายทอยเป็นสีน้ำตาล ขนบริเวณลำคอเป็นสีขาว หรือสีน้ำตาลเรื่อๆ บริเวณคางและด้านข้างลำคอเป็นสีขาว ขนใต้ลำตัวมีสีน้ำตาลแดง ปลายปีกสีขาว ปลายขนหางมีสีขาว ยกเว้นขนหาง ๒ เส้นตรงกลางซึ่งมีสีน้ำตาลปลอด เพศเมีย ขนมีสีน้ำตาลเข้มตลอดตัว ส่วนด้านใต้ลำตัว มีสีน้ำตาลเทาออกคล้ำกว่าเพศผู้ จะงอยปากมีสีขาวคล้ายของเพศผู้ แต่มีโหนกเล็กกว่าของเพศผู้ ลูกนก คล้ายเพศผู้ ส่วนนกวัยรุ่น มีลักษณะเช่นเดียวกับนกเงือกสีน้ำตาล ตัวเต็มวัยมีอายุไม่น้อยกว่า ๓ ปี จึงจับคู่ผสมพันธุ์
นกเงือกสีน้ำตาลคอขาวเพศผู้และเพศเมีย
นกเงือกสีน้ำตาลคอขาวมีอุปนิสัยและเสียงร้องคล้ายนกเงือกสีน้ำตาลที่พบในผืนป่าตะวันตก ถิ่นอาศัยอยู่ในป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ของป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
อาหาร ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พบว่า นกเงือกสีน้ำตาลคอขาวชอบกินผลไม้ เช่น ไทร ยางโอน พิพวน หว้า ส้มโมง พญาไม้ แต่เวลาเลี้ยงลูกจะป้อนอาหารจำพวกสัตว์เล็กๆ เช่น จิ้งเหลน กิ้งก่า กิ้งกือ ตะขาบ รวมทั้งแมลงที่ชอบมากคือ จักจั่น นกเงือกสีน้ำตาลคอขาวกินอาหารจำพวกสัตว์มากกว่านกเงือกชนิดอื่นที่อาศัยอยู่ป่าเดียวกัน ได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง และนกแก๊ก คือประมาณร้อยละ ๔๐ ของปริมาณอาหารทั้งหมด
การทำรังและเลี้ยงลูก ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มักพบทำรังในต้นยางเสียน สีเสียดเทศ หว้า และกะเพราต้น ที่ความสูง ๗๐๐-๙๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล เพศเมียปิดโพรงขังตัวเองราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ลูกนกออกจากโพรงในเดือนพฤษภาคม นอกจากพ่อนกแล้ว ยังมีนกเพศผู้ที่ไม่ได้จับคู่ในฤดูผสมพันธุ์นั้น มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงหรือนกผู้ช่วยหาอาหารเลี้ยงแม่นกและลูกนก ในรัง ซึ่งนกพี่เลี้ยงอาจมีจำนวน ๑-๕ ตัว บางครั้งเวลาเข้าป้อนอาหาร บรรดาพี่เลี้ยงจะเรียงแถวกันเป็นลำดับ เป็นภาพที่น่าดูมาก เชื่อว่าพี่เลี้ยงเหล่านี้เป็นลูกของนกคู่ผัวเมียในปีก่อนๆ หรือเป็นพี่น้องกัน เลี้ยงลูกได้คราวละ ๑-๓ ตัว
สถานภาพ พบได้ไม่บ่อย และมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์
๔. นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill, Ptilolaemus tickelli)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย พบกระจายอยู่ในป่าแถบภาคตะวันตกและภาคใต้ ตั้งแต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในจังหวัดอุทัยธานีและตาก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ในจังหวัดชุมพรและระนอง เรื่อยลงมาจนถึงบริเวณป่าดิบ ในจังหวัดชุมพร
ภูมิภาคอื่นๆ พบได้ในประเทศเมียนมาตามแนวป่าเทือกเขาตะนาวศรี
ขนาด ๗๕ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๗๕๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย เป็นนกเงือกไทยที่มีขนสีน้ำตาล เพศผู้ จะงอยปากมีสีขาวงาช้าง มีโหนกเป็นสันเล็กๆ หนังขอบตาสีฟ้าอ่อน มีขนตามตัว หัว และท้ายทอย เป็นสีน้ำตาล ขนใต้ลำตัวมีสีน้ำตาลแดง ปลายปีกสีขาว ปลายขนหางมีสีขาว ยกเว้นขนหาง ๒ เส้นตรงกลางมีสีน้ำตาลปลอด เพศเมีย ขนมีสีน้ำตาลเข้มตลอดตัว ด้านใต้ลำตัวมีสีน้ำตาลเทาออกคล้ำกว่าเพศผู้ มีจะงอยปากสีดำ โหนกเล็กกว่าของเพศผู้ ลูกนก มีสีขนคล้ายเพศผู้ แต่จะงอยปากสีเหลืองอ่อน สั้น และไม่มีโหนก นกวัยรุ่น มีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยแต่มีโหนกเล็กโค้งมน นกชนิดนี้ตัวเต็มวัยที่มีอายุไม่น้อยกว่า ๓ ปี จะจับคู่ผสมพันธุ์
นกเงือกสีน้ำตาลเพศผู้
นกเงือกสีน้ำตาลอยู่เป็นฝูงเล็กๆ ๘-๑๐ ตัว หรือมากกว่า เป็นนกที่ชอบกรีดร้อง เอะอะ โวยวาย เสียงร้องของนกเงือกสีน้ำตาลมีหลายเสียง เช่น แว้ว แว้ว แว้ว กรี๊ด กรี๊ด กรี๊ด ต๊อด ต๊อด ต๊อด พบทั้งในป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง
อาหาร ในป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่านกเงือกสีน้ำตาลชอบกินผลไม้ เช่น ยางโอน ตาเสือ เลือด ขนุนเขา หมากนกมูม หันช้าง เมื่อลูกนกออกจากไข่ พ่อนกจะป้อนอาหาร พวกสัตว์เล็กๆ เช่น จิ้งเหลน กิ้งก่า กิ้งกือ ตะขาบ แมลง นกเงือกสีน้ำตาลกินอาหารจำพวกสัตว์มากกว่านกเงือกชนิดอื่นที่พบอยู่ร่วมป่ากัน ซึ่งได้แก่ นกกก นกเงือกคอแดง และนกแก๊ก
การทำรังและเลี้ยงลูก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมักพบทำรังอยู่ในต้นหว้า ต้นตะแบก และต้นสมพง ที่ความสูง ๔๐๐-๑,๒๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล เพศเมียปิดขังตัวเองในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ลูกนกออกจากโพรงรังในเดือนพฤษภาคม นอกจากพ่อนกแล้วยังมีนกวัยรุ่น หรือนกเพศผู้เต็มวัยที่ไม่ได้จับคู่ในฤดูผสมพันธุ์มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงหรือนกผู้ช่วย หาอาหารเลี้ยงลูกนกและแม่นกในรัง ซึ่งนกพี่เลี้ยงอาจมีจำนวน ๑-๕ ตัว เวลาเข้าป้อนอาหารบรรดาพี่เลี้ยงจะสลับกันเข้าป้อน เป็นลำดับ
สถานภาพ พบได้ไม่บ่อย และมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์
๕. นกกก หรือนกกาฮัง หรือนกกะวะ (Great Hornbill, Buceros bicornis)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย พบได้ทั่วไปตามผืนป่าใหญ่ ๆ เกือบทุกผืนป่า แต่ผืนป่าในภาคเหนือสูญพันธุ์ไปแล้ว
ภูมิภาคอื่นๆ พบกระจายตั้งแต่ตะวันตกและตอนเหนือของอินเดีย เนปาล ภูฏาน มณฑลหยุนหนานของจีน เมียนมา บนคาบสมุทรมลายู และเกาะสุมาตรา
ขนาด ๑๓๐-๑๕๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๓,๕๐๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย เป็นนกเงือกเอเชียและนกเงือกไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีสีดำ-ขาว เพศผู้ อาจมีขนาดความยาวกว่า ๑.๕ เมตร บริเวณหน้า คางมีสีดำ มีโหนกขนาดใหญ่แบนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (เมื่อมองจากด้านบน) ส่วนปลายด้านหน้าแหลมเป็น ๒ มุม (เมื่อมองจากด้านหน้า) และส่วนใต้โหนกมีสีดำ คอขาว ปีกมีสีดำแถบขาว และปลายขนปีกมีสีขาว หางสีขาวมีแถบคาดสีดำค่อนไปทางปลายหาง จะงอยปากมีสีเหลืองเจือส้ม นกจะทาสีเหลืองบนโหนก และจะงอยปาก รวมทั้งบริเวณหัว ส่วนคอ และปีกด้วยน้ำมันสีเหลืองที่ผลิตจากต่อมโคนหาง จึงเป็นนกเงือกที่ได้ชื่อว่ารู้จักใช้ "เครื่องสำอาง" มีม่านตาสีแดง หนังขอบตาสีดำ เพศเมีย โหนกด้านหน้าไม่มีสีดำ ม่านตาสีขาว หนังขอบตาสีแดง นกวัยรุ่นโหนกมีขนาดเล็กส่วนหน้าแบน นกชนิดนี้จับคู่ผสมพันธุ์เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า ๔ ปี
นกกกเพศผู้และเพศเมีย
นกกกหากินตามเรือนยอดไม้ มักชอบอยู่เป็นคู่ บางครั้งนอกฤดูทำรังอาจรวมฝูงถึง ๑๕๐ ตัว นอนอยู่ตามต้นไม้ในหุบเขา ลงมาหากินบนพื้นดินตามชายแหล่งน้ำ เสียงร้องดัง กก กก กก กาฮัง กาฮัง กาฮัง หรือ กะวะ กะวะ กะวะ จนเป็นที่มาของชื่อ พบในป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง หรือป่าเบญจพรรณ ส่วนใหญ่ชอบอยู่ป่าดิบชื้นค่อนข้างต่ำ คือมีความสูงต่ำกว่า ๑,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่ก็อาจพบตามภูเขาสูงถึง ๒,๐๐๐ เมตร ปัจจุบันนกกกสูญพันธุ์ไปแล้วจากภาคเหนือ เพราะถูกล่า และที่อยู่อาศัยถูกทำลาย
อาหาร ในป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบว่านกกกชอบผลไม้ป่าต่างๆ โดยเฉพาะไทร ยางโอน พิพวน ตาเสือใหญ่ ตาเสือ ฯลฯ นอกจากนี้ยังกินงู หนู นก แมลง ฯลฯ
การทำรังและเลี้ยงลูก ต้นไม้ที่นกกกใช้เป็นโพรงรังส่วนใหญ่ ได้แก่ ต้นไม้ในวงศ์ไม้ยาง ได้แก่ ต้นยางเสียน ต้นตะเคียน ต้นกาลอ และหว้า ที่ความสูง ๗๐-๑,๓๒๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล แล้วแต่ประเภทของป่า และอาจพบทำรังในโพรงหินขนาดใหญ่ ตามเขาหินปูน ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพศเมียปิดโพรงรังในเดือนมกราคม ส่วนลูกนกออกจากโพรงรัง ราวเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน แต่ที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เพศเมียปิดโพรงรังในเดือนมีนาคม และลูกนกออกจากโพรงรังเดือน กรกฎาคม เพศเมียกกไข่ในโพรงรังจนลูกนกฟักออกจากไข่ เมื่อลูกนกอายุราว ๔-๖ สัปดาห์ เพศเมียก็จะกะเทาะปากโพรงรัง ออกมาช่วยเพศผู้หาอาหารเลี้ยงลูก นกกกเลี้ยงลูกคราวละตัวเดียวเท่านั้น
สถานภาพ พบได้ค่อนข้างบ่อย แต่ก็มีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์
๖. นกเงือกกรามช้าง หรือนกกู๋กี๋ (Wreathed Hornbill, Rhyticeros undulatus)
เขตการแพร่กระจายในประเทศไทย พบได้ตามป่าผืนใหญ่เกือบทุกภาคของประเทศ ยกเว้นผืนป่าภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภูมิภาคอื่นๆ พบได้ตั้งแต่แคว้นอัสสัมของอินเดีย เมียนมา (ยกเว้นตอนกลาง) เวียดนาม ลาว มณฑลหยุนหนานของจีน คาบสมุทรมลายู เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา เกาะชวา และเกาะบาหลี
นกเงือกกรามช้างเพศผู้และเพศเมีย
ขนาด ๑๑๐-๑๒๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๓,๐๐๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย มีขนาดเล็กกว่านกกกเล็กน้อย โหนกเตี้ยแบนมีลอนหยัก จำนวนลอนบ่งบอกถึงอายุของนกคือ อายุ ๑ ปี มี ๑ ลอน นกเงือกกรามช้างที่เคยพบในธรรมชาติมีจำนวนลอนมากที่สุดคือ ๑๐ ลอน เพราะลอนที่อยู่ส่วนหน้าจะหลุดออกได้ ขนตามตัวและปีกสีดำ หางขาวปลอด ทั้ง ๒ เพศมีจะงอยปากสีขาวงาช้าง ปากด้านข้างมีรอยหยัก หนังขอบตาสีแดงชมพู เพศผู้ มีขนส่วนท้ายทอยเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนบริเวณหน้า ขมับ และคอมีสีขาว ถุงใต้คอมีสีเหลืองโดยมีขีดดำด้านข้าง เพศเมีย มีส่วนหัว และคอสีดำปลอด ยกเว้นหางมีสีขาวเช่นเดียวกับเพศผู้ ถุงใต้คอสีฟ้าและมีขีดดำด้านข้าง นกวัยรุ่น เหมือนตัวโตเต็มวัย จำนวนลอนของโหนกไม่เกิน ๓ ลอน ปากด้านข้างมีรอยหยักน้อยหรือเกือบไม่มีเลย ลูกนก เมื่อแรกออกจากรังจะมีสีขนเหมือนเพศผู้ ถุงใต้คอสีเหลืองมีรอยสีดำเป็นขีดจางๆ แต่หากลูกนกนั้นเป็นเพศเมีย สีขนจะเปลี่ยนเป็นสีดำตั้งแต่อายุได้ประมาณ ๘ เดือน หรือน้อยกว่านั้น ถุงใต้คอจากสีเหลืองจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวอมฟ้าและเป็นสีฟ้าเมื่อโตเต็มวัย นกชนิดนี้อายุตั้งแต่ ๓ ปีขึ้นไป จึงจะจับคู่ผสมพันธุ์
นกเงือกกรามช้างหากินในระดับเรือนยอดไม้ บินเสียงดังมากและบินได้ไกล หากินทั่วป่าจนได้ชื่อว่าเป็น "ยิปซีแห่งพงไพร" นอกฤดูผสมพันธุ์ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เคยนับได้มากกว่า ๑,๐๐๐ ตัว นกชนิดนี้มีเสียงร้อง เอิก เอิ๊ก เอิก เอิ๊ก ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้นจากที่ราบจนถึงที่สูง ๑,๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่อาจพบหากินในป่าเบญจพรรณตามเกาะต่างๆ อีกด้วย
นกเงือกกรามช้างบินได้สูงและไกลมาก
อาหาร ในป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พบว่า นกเงือกกรามช้างกินผลไม้เป็นอาหารหลัก โดยเฉพาะผลไทร ยางโอน และผลไม้ป่าหลากหลายชนิด เช่น หว้า ตาเสือเล็ก สุรามะริด ตาเสือใหญ่ มะอ้า พิพวน มะเกิ้ม ส้มโมง ส่วนอาหารจำพวกสัตว์ กินบ้าง แต่ไม่มากนัก เช่น แมลงต่างๆ
การทำรังและเลี้ยงลูก มักพบทำรังในต้นไม้วงศ์ยาง ได้แก่ ยางเสียน ต้นตะเคียน ต้นหว้า ที่ความสูง ๒๕๐-๙๔๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล แล้วแต่ประเภทของป่า ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นกเงือกกรามช้างเริ่มทำรังในเดือนมกราคม ลูกนกออกจากโพรงรังในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ส่วนที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี นกเงือกกรามช้างเริ่มทำรังราวเดือน มีนาคม-เมษายน ลูกนกออกจากโพรงรังราวเดือนกรกฎาคม พ่อนกหาอาหารเลี้ยงดูแม่นกและลูกนกเพียงลำพัง เลี้ยงลูกเพียงคราวละ ๑ ตัว
สถานภาพ อาจพบได้บ่อย และมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์
๔. กลุ่มยังไม่น่าเป็นห่วง (Least concern)
ได้แก่
๑. นกแก๊ก หรือนกแกง (Oriental Pied Hornbill, Anthracoceros albirostris)
เขตแพร่กระจายในประเทศไทย พบได้ในทุกกลุ่มป่าทั่วประเทศ
ภูมิภาคอื่นๆ พบได้ตั้งแต่เชิงเทือกเขาหิมาลัยในอินเดีย เนปาล ภูฏาน เมียนมา มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเอง กว่างซีจ้วงของจีน ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนชนิดพันธุ์ย่อยหรือพันธุ์มลายู (Anthracoceros albirostris convexus) พบได้ในตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู เกาะสิงคโปร์ เกาะลังกาวี เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา และเกาะชวา
นกแก๊กเพศผู้และเพศเมีย
ขนาด ๖๕ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๗๔๐ กรัม
ลักษณะ อุปนิสัย และถิ่นอาศัย เป็นนกเงือกไทยที่มีขนาดเล็กที่สุด มีโหนกขนาดกลาง เป็นรูปทรงกระบอก ส่วนหน้าตีบ ทอดตามยาวของปาก คอและลำตัวด้านบนมีสีดำปลอด ใต้อกลงมามีสีขาว หนังขอบตามีสีฟ้าซีด ปีกดำ ปลายขน ปีกมีสีขาว ขนหางคู่กลางมีสีดำ ส่วนขนหางที่เหลือมีส่วนปลายเป็นสีขาว ส่วนพันธุ์มลายูมีขนหางกลางสีดำ ขนาบด้วยขนหางสีขาวปลอด บางตัวอาจมีส่วนสีดำประอยู่บนหางขาวมากบ้างน้อยบ้าง ไม่แน่นอน เพศผู้ จะงอยปากและโหนกมีสีขาวงาช้าง โดยมีสีดำ แต้มที่ด้านหน้าของโหนก เพศเมีย มีโหนกเล็กกว่าและมีสีดำแต้มเปรอะทั้งโหนกและปากจนดูมอม นกวัยรุ่น คล้ายตัวเต็มวัย แต่มีโหนกเล็กกว่า สีบริเวณปากจะค่อยๆ ปรากฏชัดเจนขึ้น แล้วแต่เพศของนก นกชนิดนี้จับคู่ผสมพันธุ์เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า ๓ ปี
นกแก๊กชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ๘-๑๐ ตัว หากินตามชายป่าจากพื้นดินถึงเรือนยอดไม้ นอกฤดูทำรังอาจพบรวมฝูงกันถึง ๑๕๐ ตัว ชอบคลุกฝุ่น เพื่อกำจัดปรสิตที่อาศัยอยู่ตามขน ได้แก่ เหา และไร เวลาบินจะมีผู้นำแล้วตัวอื่นๆ บินตามกันเป็นแถว ชอบส่งเสียงร้องดัง จัดเป็นนกช่างคุยมากชนิดหนึ่ง เสียงร้องแก๊ก แก๊ก แก๊ก ตามชื่อนก พบได้ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ บริเวณชายป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น
นกแก๊กป้อนอาหาร
อาหาร ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบว่า นกแก๊กกินอาหารหลากหลายมาก ชอบกินผลไม้ เช่น ไทร หว้า ยางโอน ตาเสือใหญ่ ตาเสือเล็ก มะอ้า และหากินตามพื้นดิน นอกจากแมลงแล้วยังจับสัตว์เล็กๆ เช่น งู กิ้งก่า ปลา หอย
การทำรังและเลี้ยงลูก ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นกแก๊กมักพบทำรังในต้นไม้วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) เช่น ยางเสียน และวงศ์หว้า (Myrtaceae) เช่น หว้า ที่ความสูง ๖๕๐-๙๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนในป่าเบญจพรรณ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบนกแก๊กทำรังในต้นสมพง ต้นไทรกระเหรี่ยง ฯลฯ ที่ความสูง ๑๓๐-๖๗๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล หรือในโพรงหินตามเกาะและเขาหินปูน หรือแม้กระทั่งในไหหรือเจดีย์ที่บรรจุกระดูกตามวัดที่อยู่ชายป่า นกแก๊กเริ่มปิดรังราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และลูกนกออกจากรังราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ่อนกหาอาหารเลี้ยงแม่นกและลูกนกเพียงลำพัง เลี้ยงลูกได้คราวละ ๑-๒ ตัว
สถานภาพ เป็นนกเงือกที่พบได้บ่อย และมีสถานภาพยังไม่น่าเป็นห่วง