ลักษณะเด่นของนกเงือก
นกเงือกเอเชียส่วนมากมีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก (ยกเว้นนกเงือกอินเดียสกุล Ocyceros และนกเงือกฟิลิปปินส์สกุล Penelopides) โดยมีขนาดความยาวตัววัดจากปลายปากถึงปลายหาง ตั้งแต่ ๖๐-๑๕๐ เซนติเมตร เช่น นกกก นกเงือกหัวแรด นกชนหิน ทั้ง ๓ ชนิดมีขนาดใหญ่มาก (๑๑๐-๑๕๐ เซนติเมตร) และร้องเสียงดัง ซึ่งใกล้เคียงกับนกเงือกพื้นดินในทวีปแอฟริกา นกเงือกทุกชนิด เพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย นกเงือกเอเชียมีลักษณะที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
๑. มีโหนก (Casque)
โหนกประดับอยู่เหนือจะงอยปาก มีรูปร่างและขนาดต่างๆ กัน อาจมีรูปร่างคล้ายหัวแครอต หรือมีลอนหยัก โหนกของนกเงือกทุกชนิดมีลักษณะเป็นโพรง ยกเว้นโหนกของนกชนหิน ซึ่งตันคล้ายงาช้าง สำหรับโหนกของนกเงือกหัวแรด มีลักษณะคล้ายนอของแรด จึงเป็นที่มาของคำว่า Hornbill ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษที่ใช้เรียก "นกเงือก
นกเงือกมีโหนกเหนือจะงอยปาก
๒. นกเงือกไม่มีขนคลุมใต้ปีก (Underwing covert) ตรงโคนขนบริเวณใต้ปีกมีช่องโหว่ เมื่อกระพือปีกติดต่อกัน จึงเกิดเสียงดังมาก เนื่องจากอากาศผ่านช่องโหว่เหล่านั้น ขณะที่นกบินร่อนเข้ามาเกาะที่หน้าโพรงรัง จะได้ยินเสียง คล้ายเสียงรถจักรไอน้ำยุคโบราณพ่นไอออกมา
นกเงือก (ซ้าย) ไม่มีขนคลุมใต้ปีก มีลักษณะเป็นช่องโหว่ เปรียบเทียบกับนกทั่วไป (ขวา) ซึ่งมีขนคลุมใต้ปีก
๓. เพศเมียทำรังอยู่ในโพรงไม้ โดยปิดขังตัวเองอยู่ภายในโพรง ออกไข่ กกไข่ ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอยู่ข้างในโพรง เพศเมียปิดปากโพรงเหลือเพียงช่องแคบๆ พอให้เพศผู้ส่งอาหารผ่านเข้ามาได้เท่านั้น การปิดโพรงแบบนี้ จะป้องกันศัตรู หรือสัตว์ผู้ล่าได้เป็นอย่างดี