เล่มที่ 40
นกเงือกไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กำเนิดนกเงือก

            เมื่อประมวลจากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ (fossil) และทางพันธุกรรม สามารถบ่งชี้ได้ว่า บรรพบุรุษของนกเงือกถือกำเนิดในทวีปแอฟริกา เมื่อประมาณ ๖๐ ล้านปีมาแล้ว นกเงือกที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และถือว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดก็คือ นกเงือกแอฟริกา ขนาดใหญ่มาก อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าสะวันนา (Savanna) เรียกว่า นกเงือกพื้นดิน (Ground Hornbill) ซึ่งถือกำเนิดเมื่อ ๕๐ ล้านปีมาแล้ว โดยพบซากดึกดำบรรพ์กลางสมัยไมโอซีน (Miocene) ที่ประเทศโมร็อกโก สำหรับนกเงือกเอเชียที่เรียกว่า นกชนหิน (Helmeted Hornbill) ถือกำเนิดเมื่อประมาณ ๔๕ ล้านปี เป็นนกเงือก ซึ่งพบทางตอนใต้ของประเทศไทย จากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ยุคควอเทอร์นารี (Quarternary) ของนกชนหิน ซึ่งพบที่ประเทศเวียดนามแสดงว่า นกชนหินเคยมีการกระจายขึ้นมาสูงถึงคาบสมุทรอินโดจีน ในปัจจุบันการแพร่กระจาย ของนกชนหิน จำกัดอยู่เพียงเขตซุนดาแลนด์ (Sundaland) อันได้แก่ เกาะสุมาตรา คาบสมุทรมลายู ซึ่งรวมถึงตอนใต้สุด ของประเทศไทย เกาะชวา และเกาะบอร์เนียว