การจัดหาน้ำของคนไทยในสมัยต่างๆ
๑) สมัยสุโขทัย
กรุงสุโขทัยเป็นเมืองที่อยู่บนพื้นที่เป็นที่ราบกว้างขวาง และมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแหล่งน้ำสายสำคัญ คือ น้ำแม่รำพัน ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเมืองสุโขทัยให้มีความอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองสงบร่มเย็น ชุมชนเจริญเติบโตแผ่ขยายในพื้นที่ราบ มีประชากรประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน ดังนั้น จึงได้มีการคิดหาวิธีกักเก็บน้ำไว้บริโภคด้วยความชาญฉลาด ทำให้ชาวเมืองสุโขทัย สามารถตั้งถิ่นฐานอยู่ได้อย่างถาวรโดยไม่มีปัญหาในเรื่องน้ำ ซึ่งการกักเก็บน้ำไว้ใช้มีหลายวิธี คือ
๑. การสร้างตระพังรับน้ำ หรือ สระน้ำ
ขุดขึ้นเพื่อทำการกักเก็บน้ำไว้ใช้ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยมีพระบรมราโชบายที่จะจัดหาน้ำสะอาดให้ประชาชนได้ใช้ และบริโภคอย่างเพียงพอตลอดปี จึงโปรดให้ขุดสระไว้หลายแห่ง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศด้านทิศตะวันออกเป็นเทือกเขาที่สลับซับซ้อน เมื่อฝนตก น้ำจะไหลจากเทือกเขาลงสู่พื้นที่ราบเบื้องล่างซึ่งเป็นที่ตั้งของเมือง และจะไหลรวมลงไปที่ตัวเมืองโดยเร็ว เมื่อมีการทำคันคูรอบเมือง น้ำก็จะมารวมกันที่คันคู จึงสร้างตระพังเป็นระดับชั้น เมื่อส่งน้ำให้ไหลลงตระพังชั้นแรกเต็มแล้ว น้ำจะไหลลงสู่ตระพังชั้นที่ ๒ และเมื่อเต็มตระพังแล้ว ก็ไหลผ่านท่อลงสู่คลองแม่รำพัน ภายในตัวเมืองสุโขทัยจึงมีตระพังจำนวนมาก เช่น ตระพังเงิน ตระพังตระกวน ตระพังโพยสี
ตระพังโบราณในสมัยสุโขทัย
๒. การสร้างทำนบ หรือ สรีดภงส์
คำว่า "สรีดภงส์" มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ทำนบ การทำทำนบกั้นน้ำเพื่อกักเก็บน้ำตามตระพังต่างๆ โดยการขุดแต่งบูรณะ ให้มีระดับสูงกว่าตัวเมืองสุโขทัย ระดับน้ำที่กั้นไว้จะสูงกว่าพื้นที่ตัวเมืองเก่า ทำให้น้ำสามารถระบายเข้าสู่พื้นที่ตัวเมืองไปตามคลอง และไหลเข้ากำแพงเมืองลงสู่ตระพังต่างๆ ที่มีอยู่ตามกำแพงเมือง ซึ่งทำนบดังกล่าวมีการสร้างอย่างเป็นระบบ ทำให้ชาวเมืองสุโขทัย สามารถเก็บรักษาน้ำสะอาดตามธรรมชาติให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยไม่ปล่อยให้ไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างไร้ประโยชน์ สามารถใช้ดื่มกินได้อย่างไม่ขาดแคลน นอกจากสร้างทำนบกั้นน้ำแล้ว ยังมีการขุดคูน้ำตามวัดวาอารามจำนวนมาก เรียกได้ว่า มีการเตรียมความพร้อมเรื่องน้ำไว้อย่างรอบคอบ ทำให้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองโบราณที่มีการเตรียมน้ำสะอาดสำหรับประชาชน ได้ใช้ดื่ม และใช้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์ คนไทยจึงควรภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่นับตั้งแต่สมัยโบราณ ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทำให้ประเทศนำเทคโนโลยีเบื้องต้นมาใช้ในการเก็บรักษาน้ำสะอาดสำหรับประชาชน
๓. การสร้างบ่อน้ำ
เป็นบ่อน้ำที่มีรูปทรงกลม ลักษณะเป็นบ่อที่กรุด้วยอิฐ มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๖๐ เซนติเมตร ถึง ๒.๕ เมตร รับน้ำที่ซึมมาจากตระพังต่างๆ ภายในตัวเมืองสุโขทัย จะพบบ่อน้ำนี้จำนวนมากบริเวณฝั่งตะวันออกของกรุงสุโขทัย
๔. การทำท่อส่งน้ำ
นักโบราณคดีได้ขุดพบ ท่อน้ำดินเผาเคลือบ ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดมหาธาตุ เป็นท่อกรองน้ำสะอาด โดยปากท่อกว้าง ๔๕ เซนติเมตร ตอนปลายท่อสอบเข้าเหลือเพียง ๑๘ เซนติเมตร ความยาวของท่อ ท่อละประมาณ ๑๑๐ เซนติเมตร เมื่อดินหรือโคลนไหลเข้าท่อ จะตกตะกอนอยู่ภายในท่อ และไหลผ่านออกไปเฉพาะน้ำที่สะอาดเท่านั้น นอกจากนี้มีการสร้างบ่อที่ก่อด้วยอิฐหรือศิลาแลง เพื่อกรองน้ำจากสระหรือตระพังต่างๆ ที่ไม่สะอาดเพียงพอ สำหรับใช้ดื่มกิน โดยพบเห็นทั่วไป ทั้งในและนอกกำแพงเมือง ดังนั้น จึงพอสันนิษฐานได้ว่า เป็นการเริ่มรู้จักวิธีกรองน้ำให้สะอาดโดยผ่านเส้นท่อ ทั้งนี้ กรุงสุโขทัยนับได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้น ของการสาธารณูปโภคในด้านการบริการน้ำให้แก่ประชาชนเป็นสมัยแรก
ท่อดินเผา จัดแสดงที่พิพิธภัณ์แห่งการเรียนรู้การประปาไทย เขตพญาไท กรุงเทพฯ สันนิษฐานว่า เป็นท่อส่งน้ำในสมัยโบราณ
๒) สมัยอยุธยา และราชธานีละโว้
สมัยอยุธยา
กรุงศรีอยุธยามีลักษณะเหมือนเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำและลำคลอง วีถีชีวิตของชาวพระนครศรีอยุธยานั้น มีความผูกพันกับธรรมชาติและสายน้ำ พระมหากษัตริย์จำเป็นต้องจัดหาน้ำไว้ เพื่อให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน และในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอ และทรงพิจารณาเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาโบราณเป็นเมืองที่มีพื้นที่ลุ่ม หน้าน้ำ น้ำจะท่วม พอถึงหน้าแล้ง น้ำในลำคลองจะแห้งหมด ดังนั้น ตามปากคลองใหญ่ๆ จะมีการทำทำนบกั้นน้ำเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีการขุดดินที่อยู่ด้านหน้าพระราชวัง ไปถมพื้นที่สร้างเมือง กลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่และใช้เป็นอ่างเก็บน้ำ ชื่อว่า บึงพระราม
บึงพระราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดจากการขุดดินถมพื้นที่ เพื่อสร้างเมือง
ราชธานีละโว้
เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา มีความงดงามและใหญ่โตโอฬาร สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเมืองนี้มาก จึงทรงตั้งพระทัยที่จะทำนุบำรุงและขยายอาณาบริเวณออกไป อย่างไรก็ดี ทรงพิจารณาเห็นว่า ถึงแม้ภูมิทัศน์ของเมืองจะงดงาม แต่มีความขัดสนเรื่องน้ำกิน น้ำใช้ เนื่องมาจากเป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำในบางฤดูกาล เมื่อถึงฤดูน้ำลดเวลาประมาณ ๔-๕ เดือน ประชาชนต้องพึ่งพาน้ำจากบ่อ ทำให้ใช้ปะปนกันทั้งคนและสัตว์จนเกิดความสกปรก น้ำในแม่น้ำจะแห้งขอด จึงได้จัดเตรียมหาน้ำสะอาดไว้ให้ผู้ที่อยู่อาศัยในราชธานีละโว้ โปรดให้บาทหลวงโทมัสโซ วัลกูอาร์เนรา (Thomasso Valguarnera) และบาทหลวงดาโกลี (Dogoli) ชาวอิตาลี ดำเนินการขุดทำนบกั้นน้ำในทะเลชุบศร สร้างเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ตลอดปี และวางท่อดินเผาจากทะเลชุบศรผ่านปากจั่น (ประตูน้ำในสมัยนั้น) มาสู่สระแก้วซึ่งเป็นที่พักน้ำแหล่งที่ ๑ และมีท่อเชื่อมโยงจากสระแก้วไปสู่ที่พักน้ำแหล่งที่ ๒ และจากที่พักน้ำแหล่งที่ ๒ จะมีท่อขนาดใหญ่เข้าสู่เมืองลพบุรี บริเวณพื้น มีท่อน้ำดินเผาฝังอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อจ่ายน้ำให้แก่อาคารและพระที่นั่งต่างๆ ทั่วเขตพระราชฐาน รวมทั้งบ้านหลวงรับราชทูต วัด ศาสนสถานของคริสต์ศาสนา ตลอดจนบ้านเรือนของขุนนางและประชาชน การส่งน้ำไปตามท่อแบ่งออกเป็น ๒ ช่วงใหญ่ คือ ช่วงแรก เป็นลำรางส่งน้ำที่ใช้ดินอัดแน่นเป็นรูปตัวยู และให้น้ำไหลไปตามผิวดินจากแหล่งกำเนิดน้ำเป็นระยะทาง ๔ กิโลเมตร ช่วงที่ ๒ ฝังท่อน้ำดินเผาซึ่งมีขนาดต่างๆ กัน การทำระบบส่งน้ำสะอาดในราชธานีละโว้นับเป็น จุดกำเนิดของกิจการประปาในราชอาณาจักรไทย หรืออาจเรียกว่าเป็น การทำระบบน้ำประปาครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมาประชาชนมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น จึงมีการวางท่อน้ำจาก "ซับเหล็ก" อันเป็นแหล่งน้ำบริสุทธิ์ที่ซึมออกจากซอกเขา ซึ่งห่างจากตัวเมืองลพบุรี ๑๒ กิโลเมตร และอยู่ในที่สูงกว่าตัวเมืองลพบุรีมาก จึงจำเป็นต้องสร้างท่อให้แข็งแรงมากเป็นพิเศษในการนำน้ำเข้าสู่เมืองหลวง
๓) สมัยรัตนโกสินทร์
สมัยนี้มีการสถาปนาราชวงศ์จักรีและย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบส่งน้ำในพระบรมมหาราชวัง และการนำน้ำจากคูคลองเข้าไปใช้ในพระบรมมหาราชวังยังใช้ระบบท่อดินเผาเช่นเดียวกับราชธานีละโว้ ในรัชกาลที่ ๔ มีการพบหลักฐานที่เหนือท่านิเวศน์เป็นการตั้งเครื่องจักรและสร้างถังสูงสำหรับเป็นที่กักเก็บน้ำจากแม่น้ำ แล้วฝังท่อส่งน้ำ เข้าไปที่พระบรมมหาราชวัง
โรงงานผลิตน้ำสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพฯ เป็ฯโรงงานผลิตน้ำแห่งแรกของกรุงเทพฯ สมัยก่อนเรียกว่า
โรงกรองน้ำสามเสน
ส่วนบ้านเรือนของประชาชนมักมีภาชนะเก็บน้ำฝนไว้สำหรับดื่มกิน และใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไหลผ่านราชธานีเป็นระยะทางไกล บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมน้ำหรือริมคลองจึงมีการถ่ายเทของเสียและสิ่งปฏิกูลลงน้ำ ซึ่งในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีระบบทำน้ำให้สะอาดไว้สำหรับบริโภค ทำให้เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ และเกิดปัญหาโรคระบาดทางน้ำ เช่น โรคอหิวาตกโรค หรือในสมัยก่อนเรียกว่า โรคห่า ระบาดรุนแรงสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ทำให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนหนึ่งต้องละทิ้งบ้านเรือน เพราะกลัวโรคติดต่อ
โรงงานผลิตน้ำสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพฯ เป็ฯโรงงานผลิตน้ำแห่งแรกของกรุงเทพฯ สมัยก่อนเรียกว่า
โรงกรองน้ำสามเสน
สมัยรัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนประเทศในทวีปยุโรปถึง ๒ ครั้ง ทรงศึกษาการบริหารบ้านเมืองของชาวตะวันตก รวมถึงการจัดการเกี่ยวกับเรื่องน้ำอย่างละเอียดลึกซึ้ง ด้วยพระวิจารณญาณ อันสุขุมปราดเปรื่อง ทรงตระหนักว่ากำลังของบ้านเมืองย่อมเกิดจากประชาชนที่มีสุขภาพอนามัยที่ดี ทั้งทรงห่วงใยประชาชน ที่ต้องเสียชีวิตไป เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บอันเกิดจากการดื่มน้ำและบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลขึ้น เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๐ และทรงประกาศตั้งกรมสุขาภิบาล (เดิมเขียนว่า "ศุขาภิบาล") สำหรับพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๖ นอกจากนี้ โปรดเกล้าฯ ให้ว่าจ้าง เดอ ลา โรตีเยร์ (De La Rotier) ชาวฝรั่งเศส ผู้ชำนาญวิชาช่าง เป็นนายช่างสุขาภิบาล ซึ่งเสนอให้นำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่น้ำเค็มไม่สามารถเข้าถึงทุกฤดูกาลมาใช้ เพราะสะดวก ไม่ต้องลงทุนมาก และเหมาะสมตามลักษณะภูมิประเทศ ในที่สุดได้ร่วมมือกับกรมคลองพิจารณาขุดคลองรับน้ำ จากเชียงราก แขวงเมืองปทุมธานี โดยกักเก็บน้ำให้มีลักษณะเป็นอ่างน้ำหรือคลองขัง และสร้างเขื่อนกั้นหัวและท้าย ทำประตู ให้เรือผ่านทางเชียงราก และขุดคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับวัดสำแล เหนือตัวเมืองปทุมธานีขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๓ กิโลเมตร เพื่อนำน้ำมาใช้ในพระนคร รัชกาลที่ ๕ ทรงเรียกน้ำดิบที่ผ่านกระบวนการกรองสะอาดแล้วว่า Water Supply หรือในภาษาสันสกฤตว่า "การประปา"
โรงงานผลิตน้ำสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพฯ เป็นโรงงานผลิตน้ำแห่งแรกของกรุงเทพฯ สมัยก่อนเรียกว่า
โรงกรองน้ำสามเสน
สมัยรัชกาลที่ ๖-สมัยปัจจุบัน
กิจการประปาดำเนินกิจการใน พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างโรงกรองน้ำสามเสน (ปัจจุบันคือ โรงงานผลิตน้ำสามเสน) ขุดคลองส่งน้ำจากบริเวณคลองเชียงรากมาถึงโรงกรองน้ำสามเสน ขุดฝังวางท่อจ่ายน้ำทั่วพระนคร และสร้างถังสูง สำหรับช่วยเพิ่มแรงดันในการส่งน้ำไปบริการประชาชน กิจการประปาได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จฯ มาทรงเปิดกิจการ "การประปากรุงเทพฯ" เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ทำให้ชาวพระนครได้เริ่มมีน้ำประปาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศ โดยมีผู้อำนวยการการประปากรุงเทพฯ คนแรกชื่อ เฟอร์นาน ดิดิเยร์ (Fernand Didier) ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนายช่างใหญ่ที่ควบคุมการก่อสร้าง ผู้ใช้บริการน้ำประปาครั้งแรก มีแต่บรรดาชนชั้นสูง คหบดี ข้าราชการ และชาวต่างประเทศที่มีฐานะดีเท่านั้น คุณภาพของน้ำประปาในสมัยนั้น ได้มีการส่งรายงาน ไปที่สภากาชาดโลกว่า น้ำประปาในกรุงเทพฯ มีคุณภาพไม่ด้อยกว่าเมืองหลวงแห่งใดในโลก
โรงงานผลิตน้ำสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพฯ เป็นโรงงานผลิตน้ำแห่งแรกของกรุงเทพฯ สมัยก่อนเรียกว่า
โรงกรองน้ำสามเสน
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้านเมืองได้รับความเสียหายจากสงคราม รัฐบาลในขณะนั้นซึ่งมี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบายที่จะปรับปรุงกิจการประปาและไฟฟ้าอย่างจริงจัง กิจการประปาจากที่เคยเป็นองค์กรที่ทันสมัย มีนายช่างใหญ่ชาวตะวันตกคอยดูแล แต่เมื่อเกิดสงครามโลก ต่างก็พากันกลับประเทศของตนเอง การประปากรุงเทพฯ ในสมัยต่อมาจึงขาดผู้รับผิดชอบดูแล ท่อประปาชำรุดทรุดโทรมเพราะขาดการลงทุนและบำรุงรักษา ส่งผลให้น้ำประปาขาดแคลน ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐบาลได้ลงทุนปรับปรุงกิจการ โดยขุดลอกคลองส่งน้ำ ทำท่อลอด (Syphon) ที่รังสิตและบางเขน ก่อสร้างปรับปรุงโรงกรองน้ำสามเสน และโรงกรองน้ำธนบุรีให้มีกำลังการผลิตสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการของประชาชน ซึ่งงานก่อสร้างปรับปรุงได้แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๐๖