การใช้น้ำในสมัยโบราณ
หากมองย้อนกลับไปในอดีต จะเห็นได้ว่า วิถีการตั้งถิ่นฐาน และการดำเนินชีวิตของมนุษย์มักมีความผูกพันอยู่กับน้ำ มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยบรรพชน เรื่องราวของแม่น้ำและแหล่งน้ำต่างๆ จึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และนำมาเล่าขานต่อๆ กันมา เช่น การค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีก่อน ที่แสดงให้เห็นถึงแหล่งอารยธรรมของโลก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำต่างๆ เช่น แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรติส แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำไนล์ รวมไปถึงแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ แม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำโขง เหล่านี้สะท้อนภาพชีวิตคน ในสมัยโบราณที่มักตั้งถิ่นฐานและชุมชนกระจายไปตามบริเวณลุ่มแม่น้ำน้อยใหญ่ โดยพึ่งพาอาศัยน้ำตามห้วย หนอง ลำคลอง บึง หรือลำธารต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ มีความสะอาด และบริสุทธิ์ ไม่มีอันตรายร้ายแรง และมีเพียงพอที่มนุษย์จะบริโภคได้เป็นอย่างดี ทำให้เห็นว่า ผู้คนในสมัยก่อน ยังใช้น้ำในแม่น้ำลำคลองดื่มกิน โดยไม่มีระบบทำความสะอาดแต่อย่างใด
ส่วนชุมชนที่จำเป็นต้องตั้งถิ่นฐานในที่ดอนกันดารน้ำ ก็มักจะต้องหาวิธีกักเก็บน้ำให้มีปริมาณเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค ของประชาชน เช่น ตามประวัติศาสตร์ของอาณาจักรขอม ในสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๑ โปรดให้ขุดสระน้ำขึ้นทางตอนเหนือ ของราชธานี เพื่อกักเก็บน้ำในระหว่างฤดูฝนสำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้ง และแจกจ่ายน้ำไปตามทุ่งนาใกล้ราชธานีในเวลาที่ต้องการ หรือในสมัยพระเจ้ายโศวรมัน ทรงขุดสระยาว ๗ กิโลเมตร กว้าง ๑.๘ กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระนคร เรียกว่า สระบารายตะวันออก เพื่อเป็นอ่างกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง และเก็บไว้ใช้ตามความจำเป็น ต่อมา ชาวเมืองเริ่มประดิษฐ์ภาชนะกักเก็บน้ำรูปแบบต่างๆ ไว้ใช้ในบ้านเรือน เช่น การสานไม้ไผ่โดยใช้ชันยาป้องกันรอยรั่ว ที่เรียกว่า กระออม และปั้นภาชนะด้วยดินเผาเป็นตุ่มหรือโอ่งขนาดต่างๆ หรือสร้างบ่อน้ำไว้ใช้เอง