เล่มที่ 39
การประปา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
น้ำประปาของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ

ชาวกรุงเทพมหานครมีน้ำประปาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดกิจการ "การประปากรุงเทพฯ" ซึ่งทำให้เกิดระบบการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ต่างๆ ตามมาหลังจากนั้น ต่อมาในวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ มีการสถาปนา การประปานครหลวง มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่จัดหาและบริการน้ำสะอาด เพื่อการบริโภคและอุปโภคน้ำประปา ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ


การเติมอากาศในน้ำดิบ

ตลอดระยะเวลา การประปานครหลวงได้มีการปรับปรุงพัฒนาและวางรากฐานระบบผลิต ระบบส่งและจ่ายน้ำ ระบบควบคุมคุณภาพน้ำ และการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ภารกิจที่สำคัญ คือ การเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ใช้น้ำในพื้นที่ให้บริการ อย่างเพียงพอ ควบคู่ไปกับการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงกิจการ ของการประปานครหลวงมีจุดเริ่มต้นจากการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ระยะยาว ๓๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๔๐) เพื่อใช้เป็นแผนหลักในการปรับปรุงกิจการประปา และการประปานครหลวงได้ดำเนินงานตามแผนหลักครั้งที่ ๑ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นต้นมา ปัจจุบันกําลังดำเนินการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ ๘ ซึ่งแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๕๖ สามารถผลิตและสูบจ่ายนํ้าประปาให้บริการผู้ใช้นํ้าอย่างเพียงพอถึง พ.ศ. ๒๕๖๐ และจะต้องวางแผนเพิ่มกำลังการผลิต และสูบจ่ายนํ้าให้แล้วเสร็จทันต่อความต้องการใช้นํ้า ที่เพิ่มขึ้น
๑. น้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำประปา 

แม่น้ำเจ้าพระยาถูกเลือกเป็นแหล่งน้ำดิบที่จะนำมาผลิตน้ำประปาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมีการจัดสร้างคลองลำเลียงน้ำ จากจุดรับน้ำเหนือวัดสำแล แขวงเมืองปทุมธานี เป็นระยะทาง ๓๐.๖ กิโลเมตร เพื่อลำเลียงน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา ที่โรงงานผลิตน้ำสามเสนเป็นแห่งแรก คลองลำเลียงน้ำนี้ ต่อมาเรียกว่า "คลองประปาฝั่งตะวันออก" ปัจจุบัน คลองประปาฝั่งตะวันออกทำหน้าที่ลำเลียงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำสามเสน โรงงานผลิตน้ำบางเขน และโรงงานผลิตน้ำธนบุรี


การตรวจสอบคุณภาพรอยเชื่อมในท่อส่งน้ำประปา

การขยายเมืองและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมีอัตราที่สูง ทำให้ความต้องการใช้น้ำประปาเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย จนคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ใช้เป็นแหล่งน้ำหลักในการผลิตน้ำประปาจะเกิดการขาดแคลนในอนาคต โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามีอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว การประปานครหลวง จึงก่อสร้างคลองลำเลียงน้ำสายใหม่ โดยมีความยาวรวม ๑๐๗ กิโลเมตร จากเขื่อนแม่กลอง ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ผ่านอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ไปจนถึงตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้ง ของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ โดยเรียกคลองลำเลียงน้ำนี้ว่า "คลองประปาฝั่งตะวันตก" การที่มีคลองประปาฝั่งตะวันออก และคลองประปาฝั่งตะวันตกถือเป็นรากฐานสำคัญในการจัดหาแหล่งน้ำ ที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา อย่างเพียงพอและยั่งยืน เพื่อใช้ผลิตน้ำประปาบริการชาวกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ จากการที่มีคลองประปา ๒ คลอง รับน้ำจากแหล่งน้ำ ๒ แหล่งนั้น มีประโยชน์ในการรองรับความเสี่ยง ในกรณีที่แหล่งน้ำแหล่งใดแหล่งหนึ่งมีปัญหา ไม่สามารถนำมาผลิตน้ำประปาได้ ก็ยังมีแหล่งน้ำอีกแหล่งหนึ่งผลิตน้ำประปา 


สถานีสูบน้ำดิบ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

๒. การขยายและสร้างโรงงานผลิตน้ำ

ในระยะเริ่มต้น ชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลใช้น้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำสามเสนและโรงงานผลิตน้ำธนบุรี  เมื่อความต้องการใช้น้ำประปาเพิ่มมากขึ้น จึงมีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานผลิตน้ำสามเสนเป็นวันละ ๕๔๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร และโรงงานผลิตน้ำธนบุรีเป็นวันละ ๑๙๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำประปา จึงจำเป็นต้องสร้างโรงงานผลิตน้ำเพิ่มขึ้น และด้วยข้อจำกัดในเรื่องแหล่งน้ำที่นำมาผลิตน้ำประปาจากแม่น้ำเจ้าพระยา การประปานครหลวงจึงก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำบางเขนติดคลองประปา มีกำลังการผลิตนํ้าสูงสุดถึงวันละ ๔,๘๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร โดยวางแผนขยายการผลิตให้ทันต่อความต้องการใช้นํ้าสูงสุด และมีผลตอบแทนการลงทุน เพื่อสร้างเสถียรภาพ ด้านการเงิน นอกจากนี้เพื่อเพิ่มเสถียรภาพด้านการบริการนํ้าประปาให้แก่ประชาชน การประปานครหลวง จึงลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตนํ้ามหาสวัสดิ์ โดยขุดคลองประปาใหม่รับนํ้าดิบจากเขื่อนแม่กลอง ด้วยกําลังการผลิตนํ้าสูงสุดวันละ ๓,๒๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร และเรียกคลองประปาแห่งใหม่นี้ว่า "คลองประปาฝั่งตะวันตก"

โรงงานผลิตน้ำบางเขนและโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ถือว่า เป็นรากฐานสำคัญ ของโรงงานผลิตน้ำประปา สำหรับบริการชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  การที่มีโรงงานผลิตน้ำขนาดใหญ่ ๒ แห่ง ช่วยลดความเสี่ยง ในกรณีที่โรงงานผลิตน้ำแห่งใดแห่งหนึ่งขัดข้อง ไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ ก็ยังมีโรงงานผลิตน้ำอีกแห่งหนึ่ง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำประปา


เขื่อนแม่กลอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

ปัจจุบันการประปานครหลวงมีโรงงานผลิตน้ำ ๔ แห่ง คือ โรงงานผลิตน้ำสามเสน โรงงานผลิตน้ำบางเขน โรงงานผลิตน้ำธนบุรี และโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์


โรงงานผลิตน้ำสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพฯ

๓. ระบบส่งและระบบจ่ายน้ำ

เนื่องจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก และมีปริมาณความต้องการใช้น้ำสูงมาก การประปานครหลวง จึงสร้างสถานีสูบจ่ายน้ำพร้อมถังเก็บนํ้า ๑๒ สถานีกระจายอยู่โดยรอบพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อรองรับน้ำ ที่สูบส่งมาจากโรงงานผลิตนํ้า และสูบจ่ายน้ำประปาผ่านระบบท่อประปาไปยังบ้านเรือนประชาชน 


ห้องควบคุมกระบวนการผลิตน้ำประปา

๔. การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนากิจการประปา

การประปานครหลวงนับว่าเป็นหน่วยงานกลุ่มแรกของประเทศ ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการพัฒนา กิจการประปาในเรื่องที่สำคัญ เช่น

  • การจัดทำระบบแผนที่ระบบท่อประปา (Mapping & Facilities Information System) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และการไฟฟ้านครหลวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งในด้านงานบริการและงานวิศวกรรมร่วมกัน
  • การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเก็บข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับนํ้าที่สูญเสียไป ทำให้สามารถลดปริมาณนํ้าที่สูญเสียได้
  • การวางระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เพื่อเชื่อมต่อระบบข้อมูลระหว่างสำนักงานประปาสาขากับศูนย์คอมพิวเตอร์ และสำนักงานใหญ่
  • การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกใบเสร็จรับเงินค่าน้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำ
  • การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับงานควบคุมกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตน้ำประปา โดยรวมศูนย์ของการปฏิบัติงานไว้ ที่ห้องควบคุมปฏิบัติการ (Control room) เพื่อใช้ในการควบคุมกระบวนการผลิตน้ำประปาอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับระบบส่งและจ่ายน้ำ เพื่อให้การสูบจ่ายน้ำบริการผู้ใช้น้ำเป็นไปอย่างทั่วถึง เพียงพอกับความต้องการ ทั้งยังช่วยลดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในระบบสูบจ่ายน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในระบบจ่ายประปา
  • การนำพลังนํ้าที่เหลือในระบบส่งนํ้ามาผลิตไฟฟ้า นำกลับมาใช้และจำหน่ายให้การไฟฟ้านครหลวงบางช่วงเวลา  โดยไม่กระทบกระเทือนต่อระบบส่งและจ่ายนํ้า