เล่มที่ 3
ฝ้าย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พฤกษศาสตร์ของฝ้าย

            ฝ้ายเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ ๒-๕ ฟุต หรือมากกว่านี้ มีลำต้นจริง และแตกกิ่งเวียนรอบต้น ใบฝ้ายเกิดที่ข้อข้องลำต้น และกิ่ง ใบมีก้านยาว ตัวใบมีขนาดเท่าฝ่ามือ กางออกเป็นแฉกมี ๓,๕ หรือ ๗ แฉก ส่วนมากที่ใต้ใบ ก้านใบและลำต้นมักมีขนสั้นปกคลุมบางๆ ดอกฝ้ายจะเกิด ที่ข้อเหนือโคนใบ เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีกลีบรองเป็นแฉกๆ และลึก รูปร่างสามเหลี่ยม คล้ายใบหุ้มดอกจำนวน ๓ ใบประกบกันเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่า "ปี้" (bud or square) เมื่อดอกบานจะมีสีขาวนวลถึงสีเหลือง กว้างประมาณ ๓ นิ้ว มีทั้งหมด ๕ กลีบ เรียงซ้อนกัน ตอนบ่ายกลีบดอกจะกลายเป็นสีชมพูจนถึงแดงและค่อยๆ หุบ ดอกฝ้ายจะมีก้านกระเปาะละอองเกสรตัวผู้ติดคลุมรอบๆ รังไข่ ของดอกฝ้ายมี ๓-๔ ห้อง หรือ ๔-๕ ห้องแล้วแต่ชนิด (species)

            ฝ้ายจัดว่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ถ้าอยู่ในเขตร้อนจะมีอายุได้ ๒-๓ ปี แต่ในทางเกษตรจัดอยู่ในประเภทพืชล้มลุก เพราะผลิตผลฝ้ายในปีที่ ๒ หรือ ปีที่ ๓ ได้น้อยต้องปลูกใหม่ทุกปี ฝ้ายเป็นพืชที่ปรับตัวเข้ากับดินฟ้าอากาศได้ดีมาก สามารถทนความหนาวเย็นได้ แต่อุณหภูมิที่เหมาะกับฝ้ายต้องไม่ต่ำกว่า ๑๘ องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า ๑๖ องศาเซลเซียส และในเขตที่มีฝนตกกระจายดี มีแสงแดด อุณหภูมิเฉลี่ย ๑๐ องศาเซลเซียส ก็ยังใช้ได้ สำหรับจำนวนน้ำฝนนั้นฝ้ายจะขึ้นได้ดีตั้งแต่ ๒๐-๓๕ นิ้ว เพียงแต่ให้การตกของฝนกระจายให้ดีและน้ำไม่ขังแฉะ ในที่มีฝนน้อยก็สามารถปลูกโดยการให้น้ำทางชลประทานได้ สำหรับดินนั้น ฝ้ายขึ้นได้ทั้งดินร่วน ดินทราบ และดินเหนียวมาก มีความเป็นกรดระหว่าง pH ๕.๒-๘ ดินที่เหมาะสำหรับปลูกฝ้าย ควรเป็นดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุและมีอาหารพืชพอควร สำหรับในเมืองไทยปรากฏว่า แม้ดินจะมีความเป็นกรดมาก คือ pH ต่ำกว่า ๕.๒ ก็ยังขึ้นได้ดี

            ทางพฤกษศาสตร์จัดให้ฝ้ายอยู่ในวงศ์มัลวาซีอี Family Malvaceae) ได้แก่ พวกปอแก้ว ชบา กระเจี๊ยบมอญ และอยู่ในสกุลกอสซีเพียม (Genus Gossypium) ไม้ในสกุลนี้มีทั้งหมด ๓๑ ชนิด เป็นฝ้ายป่า ๒๗ ชนิด ฝ้ายปลูก ๔ ชนิด ความแตกต่างของฝ้ายป่ากับฝ้ายปลูก คือ เส้นใยที่เกิดจากเปลือกเมล็ดของฝ้ายปลูกจะยาวมีรูปบิด สามารถปั่นเป็นเส้นด้ายได้ ส่วนเส้นใยของฝ้ายป่าจะสั้น มีรูปเป็นหลอดกลมไม่สามารถปั่นเป็นเส้นด้ายได้ ฝ้ายปลูก ๔ ชนิดนั้น เป็นฝ้ายพื้นเมืองของตะวันออกกลาง ๒ ชนิด และอีก ๒ ชนิดเป็นฝายพื้นเมืองของทวีปอแฟริกา จึงมีการแบ่งชนิดของฝ้ายออกเป็นฝ้ายโลกเก่าหรือฝ้ายเอเชีย มีโครโมโซม (chromosome) ๑๓ คู่ และฝ้ายโลกใหม่มีโครโมโซม ๒๖ คู่ จากการค้นคว้า ของนักพฤกษศาสตร์เชื่อว่า ฝ้ายโลกใหม่ที่ใช้ปลูกเป็นลูกผสมระหว่างฝ้ายป่าของอเมริกากับฝ้ายเอเชีย โดยการผสมตามธรรมชาติและด้วยการปรับตัวเป็นเวลานาน จึงกลายเป็นฝ้ายอีกชนิดหนึ่งที่มีความแตกต่างกันทางพฤกษศาสตร์อย่างชัดแจ้ง

การเก็บฝ้าย

            ฝ้ายโลกเก่า (มี ๒ ชนิด คือ G.arboreum.L. และ G. herbaceum.L.) มีถิ่นกำเนิดที่แคว้นวินด์ (Sind) ประเทศปากีสถาน แล้วแผ่ขยายไปทางตะวันออกได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และประเทศจีน ส่วนด้านตะวันตกก็แผ่ขยายไปทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ลุ่มแม่น้ำไนล์ และแอฟริกา การที่ปรับตัวเข้ากับดินฟ้าอากาศได้ง่าย ฝ้ายปลูกบางพันธุ์จึงแผ่ขยายไปไกลถึงแมนจูเรีย และเกาหลี ส่วนทางแอฟริกาก็ขยายลงไปถึงประเทศเซเนกัล และแอฟริกาใต้ แม้ว่าฝ้ายโลกเก่าหรือฝ้ายเอเชียจะมีเส้นใยหยาบและสั้น แต่ก็มีบางพันธุ์ที่เส้นใยละเอียดและบิด จึงใช้ปั่นทอเป็นผ้าได้ดี สินค้าฝ้ายจากอินเดีย ที่ส่งไปขายยังประเทศยุโรปในสมัยโบราณดังกล่าว แล้วก็ผลิตจากฝ้ายโลกเก่าทั้งสิ้น

ปัจจุบันนี้เขตที่ปลูกฝ้ายโลกเก่ามาแต่ก่อนคือ อินเดีย และปากีสถาน ได้ใช้ฝ้ายโลกใหม่ปลูกแทนเกือบทั้งหมด ลักษณะประจำพันธุ์ของฝ้ายโลกเก่าและฝ้ายโลกใหม่มีดังต่อไปนี้

ดอกฝ้ายกำลังเริ่มบาน
ฝ้ายโลกเก่า มีโครโมโซมจำนวน ๑๓ คู่ (๑๓ haploid chromosomes) มี ๒ ชนิด คือ

            ๑. ฝ้ายชนิดอาร์บอเรียม (Gossypium arboreum L.)

            เป็นพืชค้างปี (perennial) สูง ๖-๑๐ ฟุตต้นสูงชะลูด กิ่งยาว กิ่งอ่อน และก้านใบ มีสีม่วง ใบหนา มีขน บางชนิดบางพันธุ์ก็ไม่มีขน จักใบลึก ใบมี ๕-๗ แฉกดอกส่วนมากสีม่วงหรือแดงเข้มอยู่ที่ฐานของกลีบดอกด้านใน สมอ และดอกห้อยลงข้างล่าง สมอมี ๓-๔ กลีบ ปุยส่วนมากมีสีขาว อาจจะมีสีอื่นบ้าง เช่น สีเหลืองแดง เหลืองซีด และสีกากี (ประเทศไทยเรียกว่า ฝ้ายตุ่น) ปุยสั้นยาว ๐.๕ นิ้ว หยาบ และปุยติดเมล็ดแน่น เริ่มแรกเป็นฝ้ายป่า พบปลูกเป็นการ้าที่อินเดีย อาระเบีย และแอฟริกา เมื่อสมัยโบราณ ปัจจุบันไม่ได้ปลูกเป็นการค้า

            ๒. ฝ้ายชนิดเฮอร์บาเซียม (Gossypuim herbaceum L.)

เป็นพืชล้มลุก (arrual) สูง ๒-๕ ฟุต กิ่งที่ออกรอบๆ ลำต้นไม่เป็นระเบียบ กิ่งส่วนมากจะโน้มลงมาข้างล่าง มีขนแต่ไม่มาก ใบมี ๕-๗ แฉก สามแฉกกลาง ปลายใบค่อนข้างมนไม่แหลม (obovate) ก้านใบยาว ดอกสีเหลืองเล็ก ฐานกลีบดอกด้านในมีจุดสีม่วง สมอมี ๔-๕ กลีบ ปุยหยาบ และสั้น ปุยติดเมล็ดแน่น ในสมัยโบราณมีปลูกกันมากในปากีสถาน อินเดีย และไทย โดยใช้ทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน แต่ปัจจุบันนี้มีปลูกน้อย เพราะไปปลูกฝ้ายชนิดเฮอร์ซูทุม (G. hirsutum) เสียเป็นส่วนมาก

ฝ้ายโลกใหม่ ที่ปลูกกันอยู่มี ๒ ชนิด คือชนิด บาร์บาเดนซ์ (G. varvadense.L.) และชนิดเฮอร์ซูทุม ชาวอินเดียแดงพื้นเมืองที่อยู่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปอเมริกาทั้งกลาง เหนือ ใต้ รวมทั้งที่หมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ได้ใช้เส้นใยจากฝ้ายทั้ง ๒ พันธุ์นี้ผลิตเป็นสินค้าก่อนที่โคลัมบัสจะพบทวีปอเมริกานานมาแล้ว แต่สินค้าเหล่านี้ไม่ได้แพร่หลายเหมือนสินค้าฝ้ายจากอินเดีย

ฝ้ายพันธุ์อียิปต์

ฝ้ายบาร์บาเดนซ์

มีถิ่นกำเนิดที่ภาคเหนือของประเทศเปรู แล้วแผ่ขยายไปทางอเมริกาใต้ แอฟริกากลาง รวมทั้งหมู่เกาะแคริบเบียน ผ้ายบาร์บาเดนซ์ แต่เริ่มแรกแบ่งเป็น ๒ พวก คือ พวกปุยสั้นหยาบ และปุยยาวละเอียด พวกปุยสั้นหยาบกระจายไปทางประเทศบราซิลปละภาคเหนือของอเมริกาใต้ ส่วนพวกปุยยาวละเอียดแผ่ขยายไปทาหมู่เกาะเวสต์อินดิสพวกปุยสั้นได้ชื่อว่า "ฝ้ายบราซิเลียน" ส่วนฝ้ายปุยยาวได้ชื่อว่า "ฝ้ายเปรูเวียน หรือซีไอแลนด์" ฝ้ายบราซิเลียน ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้ ปลูกไว้เพื่อเก็บเป็นพันธ์ไม่ให้สูงเท่านั้น ส่วนฝ้ายซีไอแลนด์นิยมปลูกกันมากที่หมู่เกาะเวสต์อชินดิส และขยายมาถึงรัฐแคโรไลนาใต้และจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เพิ่งเริ่มเสื่อมความนิยมลงเมื่อประมาณ ปี ๑๙๓๐

ฝ้ายบาร์บาเดนซ์ ได้เริ่มปลูกเป็นการค้า ในประเทศอียิปต์เมื่อประมาณ ค.ศ. ๑๘๐๐ การผลิตฝ้ายชนิดนี้ได้รับผลดี จนขณะนี้กลายเป็นพืชสำคัญของประเทศอียิปต์และซูดาน เพราะเส้นใยยาวละเอียดนั่นเอง จึงได้ชื่อเฉพาะว่า "ฝ้ายอียิปเชียน"

สหรัฐอเมริกาได้นำพันธุ์ฝ้ายจากอียิปต์ เข้าไปปลูก และได้คัดเลือกพันธุ์ ในต้นศตวรรษที่ ๑๙ จนได้สายพันธุ์ใหม่ชื่อ "พีมา" (pima) หรือ "อเมริกันอียิปเชียน" ซึ่งใช้ปลูกในเขตทะเลทรายโดยการชลประทานต่อมาได้ผสมพันธุ์กับพวกเฮอร์ซูทุม โดยพยายามรักษาคุณสมบัติเส้นใยยาวไว้ให้ผลิตผลต่อไร่สูงขึ้นแต่คุณสมบัติด้านเส้นใยยาวลดลงบ้าง พันธุ์ใหม่ที่ได้นี้เรียกว่า "อเมริกันพีมา"

ฝ้ายบาร์บาเดนซ์ เป็นพืชค้างปี (perennial) ประเภทไม้ต้นเตี้ย ต้นสูงตั้งแต่ ๔-๘ ฟุต แต่ที่ปลูกเป็นการค้าเป็นพืชล้มลุก (annual) ไม่มีขน กิ่งออกรอบๆ ลำต้นและค่อนข้างเล็ก ก้านใบและก้านดอกจะมีจุดเป็น ต่อมสีดำมองเห็นได้ชัด ใบโตมี ๓-๕ แฉก ก้านใบยาว เกือบเท่าๆ กับใบ กลีบรองดอก (bract) โต กลีบดอกสีเหลืองซีด มีจุดสีม่วงหรือสีม่วงแดง อยู่ฐานกลีบ ดอกด้านใน สมอส่วนมากมี ๓ กลีบ ในกลีบหนึ่งๆ จะมีเมล็ดตั้งแต่ ๖-๙ เมล็ดๆ ไม่ติดกัน ส่วนมากเมล็ด มีสีดำ ปุยไม่ติดเมล็ด ปุยละเอียดและมีความยาวถึง ๒ ๑/๒ นิ้ว แต่ส่วนมากจะยาว ๑ ๑/๒ นิ้ว


ลักษณะฝ้ายที่ให้ผลิตผลสูง

๑. สมอใหญ่และดก
๒. มีกิ่งผลมาก
๓. ข้อสมอในกิ่งผลถี่

ฝ้ายเฮอร์ซูทุม

เป็นฝ้ายที่มีการปลูกผลิตเป็นสินค้า มากที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ของเม็กซิโก และอเมริกากลาง ก่อนที่ชาวยุโรปจะหลั่งไหลเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกา ฝ้ายชนิดนี้มีปลูกเป็นจำนวนมาก ที่หมู่เกาะเวสต์อินดิส และที่เขตฝ้ายอเมริกาเหนือก็มีปลูกบ้าง ซึ่งเรียกว่า "พันธุ์ฝ้ายดอน" (upland cotton) ต่อมา เมื่อได้คิดค้นทำเครื่องจักรหีบฝ้ายได้แล้ว การปลูกฝ้าย จึงได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๐๓ (ค.ศ. ๑๘๐๐) ได้มีการปรับปรุงพันธุ์ ปรับปรุง วิธีการปลูก และมียาป้องกันกำจัดแมลงที่ได้ผลดี ผลิตผลต่อไร่จึงสูงขึ้นมาก ได้ผลิตผลฝ้ายปุยถึงไร่ละประมาณ ๘๕ กิโลกรัม เนื่องด้วยฝ้ายเฮอร์ซูทุมให้ผลิตผลสูง ดังกล่าว ฝ้ายชนิดนี้จึงได้แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีดินฟ้าอากาศเหมาะสม ลักษณะสำคัญๆ ของฝ้ายเฮอร์ซูทุม มีดังนี้

ฝ้ายเฮอร์ซูทุม เป็นพืชล้มลุก ต้นสูง ๒-๕ ฟุต ขนที่ลำต้นและใต้ใบอาจมีมากน้อย หรือไม่มีเลยก็ได้ ใบมี ๓-๕ แฉก แฉกใบไม่ลึก ขนาดของดอกกว้าง ประมาณ ๓ นิ้ว อาจแตกต่างไปเล็กน้อย กลีบดอกสี เหลืองซีด ถึงสีเหลืองเข้ม บางพันธุ์มีจุดสีม่วงอยู่ฐาน กลีบดอกด้านใน ยอดเกสรยาวประมาณ ๑ นิ้ว สมอ มี ๔-๕ กลีบ คุณภาพของปุยมีตั้งแต่หยาบถึงละเอียด ปุยยาวปานกลางระหว่าง ๓/๔ - ๑ ๑/๔ นิ้ว ส่วนมากปุยจะ ติดเมล็ดค่อนข้างแน่น เมื่อหีบแล้วจะมีปุยสั้นๆ (fuzz) ติดปกคลุมเมล็ด จึงทำให้มองเห็นเป็นสีขาว เป็นชนิดที่ปลูกเป็นอุตสาหกรรมทั่วโลกและปลูกมากในอเมริกา จนได้ชื่อว่า "ฝ้ายอเมริกันอัพแลนด์"