เล่มที่ 3
ฝ้าย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ดินและปุ๋ยฝ้าย

ความสำคัญของการใช้ปุ๋ยในการเพิ่มผลิตผลฝ้าย

            จากการสำรวจพบว่า ฝ้ายสามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ดินทรายถึงดินเหนียวจัด แต่ดินที่เหมาะสำหรับปลูกฝ้าย คือ ดินเหนียวที่มีการระบายน้ำได้ดี และดินร่วนทราย ซึ่งมีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ ๕-๘ มีปริมาณอินทรียวัตถุในดิน (organic matter) พอเพียง และมีปริมาณธาตุอาหาร ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส(P) และโพแทสเซียม (K) ที่มีประโยชน์แก่พืชปานกลาง

            ผลจากการค้นคว้า และวิจัยพบว่า การปลูกฝ้ายในแต่ละปี ย่อมทำให้ธาตุอาหารในดินสูญเสียไปเป็นจำนวนไม่น้อย การสูญเสียธาตุอาหารจากดิน เนื่องจากฝ้ายนำไปสร้างผลิตผลคิดเป็นน้ำหนักฝ้ายทั้งเมล็ด เฉลี่ย โดยประมาณได้ดังนี้ คือ ฝ้ายทั้งเมล็ด ๑๐๐ กิโลกรัมจะ เคลื่อนย้ายธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ไปจากดิน ประมาณ ๕.๖-๖.๘ กิโลกรัม ธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P2O5) ๒.๕-๓.๒ กิโลกรัม และธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ประมาณ ๒.๕ กิโลกรัม การสูญเสียปริมาณธาตุอาหารดังกล่าวนี้ ไม่รวมถึงการสูญเสีย ที่พืชนำไปสร้างความเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ และการสูญเสีย เนื่องจากการชะล้างจากน้ำฝน ในแต่ละฤดูกาล เมื่อพิจารณาดูจะเห็นว่า ในแต่ละปีปริมาณการสูญเสียธาตุอาหารดังกล่าว มีเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น การใส่ปุ๋ย จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะทดแทน ธาตุอาหารที่สูญเสียไป และเป็นการปรับปรุงดิน เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ให้ดีอยู่เสมอ

            ในด้านการเพิ่มผลิตผลให้สูงขึ้นนั้น จากการค้นคว้าและวิจัยในด้านการใช้ปุ๋ย เพื่อเพิ่มผลิตผลฝ้ายในท้องที่ต่างๆ ในแหล่งที่มีการปลูกฝ้ายในประเทศไทย เป็นเวลาหลายปีพบว่า การปลูกฝ้ายพันธุ์รีบาบีทีเค ๑๒ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ส่งเสริมให้กสิกรปลูกในปัจจุบัน บนพื้นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง ถึงดินที่มี ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำนั้น ถ้าใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) ในอัตรา ๖-๑๒ กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็นปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ซึ่งมีธาตุอาหารไนโตรเจนประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ จำนวน ๓๐-๖๐ กิโลกรัม และปุ๋ย ฟอสฟอรัส (P2O5) ในอัตรา ๖-๑๒ กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็นปุ๋ยดับเบิลซูเพอร์ฟอสเฟต ซึ่งมีธาตุอาหาร ฟอสฟอรัส (P2O5) ประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ จำนวน ๑๕-๓๐ กิโลกรัม และปุ๋ยโพแทสเซียม (K) ในอัตรา ๖ กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็นปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งมี ธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) อยู่ประมาณร้อยละ ๖๐ จำนวน ๑๐ กิโลกรัม จะสามารถเพิ่มผลิตผลฝ้ายให้สูง ขึ้นจากการไม่ใส่ปุ๋ย ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม/ไร่ และพบว่า การปลูกฝ้ายในพื้นที่ดินที่ดีมีความอุดม สมบูรณ์สูง และการใส่ปุ๋ยในอัตราดังกล่าวที่มีการ ปฏิบัติดูแลรักษาอย่างถูกต้อง รวมทั้งการกำจัดโรค แมลงศัตรูฝ้ายอย่างดีและฝนตกสม่ำเสมอตามฤดูกาล จะทำให้ผลิตผลที่ได้รับสูงถึง ๕๐๐-๖๐๐ กิโลกรัม/ไร่ ส่วนพื้นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำนั้น จะ ให้ผลิตผลได้สูงประมาณ ๓๕๐-๔๕๐ กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละท้องถิ่น

วิธีการใช้ปุ๋ย

การใช้ปุ๋ยในการเพิ่มผลิตผลฝ้ายให้ได้ผลดี จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญๆ ดังนี้

    ๑. พื้นที่ดินและสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินที่จะปลูกฝ้าย
    ๒. การเตรียมดิน
    ๓. การใช้พันธุ์ และการปลูก
    ๔. ปริมาณ และชนิดของปุ๋ย
    ๕. วิธีการ และระยะเวลาการใส่ปุ๋ย
    ๖. ฤดูกาล และปริมาณน้ำฝนในช่วงระยะการเจริญเติบโต
    ๗. การกำจัดโรคแมลง และศัตรูพืช

ฝ้ายพันธุ์รีบาบีทีเค ๑๒ฝ้ายพันธุ์รีบาบีทีเค ๑๒ เป็นพันธุ์ที่ส่งเสริมให้กสิกรปลูก ในปี ๒๕๑๖-๒๑

            พื้นที่ดินที่ใช้ปลูกฝ้ายโดยใส่ปุ๋ยนั้น ต้องเป็นพื้นที่ ที่ไม่ลาดชันจนเกินไป ความลาดชันไม่ควรเกินร้อยละ ๕ ถ้าพื้นที่ที่มีความลาดชัน ควรปลูกให้แถวฝ้ายขวางตามแนวลาดชัน พื้นที่ต้องไม่เป็นหลุมหรือแอ่งที่น้ำขังได้ ควรมีการระบายน้ำได้ดี ชั้นดินไม่ตื้นจนเกินไป สภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะพิจารณาได้จากผลการ วิเคราะห์ดิน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปริมาณ การใส่ปุ๋ยให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ถ้าสภาพความอุดม สมบูรณ์สูง คือ มีปริมาณอินทรียวัตถุเกินร้อยละ ๒ มีธาตุฟอสฟอรัสในดินเกิน ๕๐ ส่วนในล้านส่วนและ ธาตุโพแทสเซียมเกิน ๑๐๐ ส่วนในล้านส่วน และความ เป็นกรดเป็นด่าง (pH) อยู่ระหว่าง ๕-๘.๖ แล้ว การใส่ปุ๋ยไม่มีความจำเป็นในการเพิ่มผลิตผล การใส่ปุ๋ยจะให้ ผลดีคุ้มค่าในการลงทุน ถ้าดินที่ปลูกฝ้ายมีสภาพความ อุดมสมบูรณ์ต่ำกว่ากำหนดดังกล่าว การเตรียมดินเป็น ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ที่ช่วยให้ต้นฝ้ายสามารถใช้ปุ๋ย ในการสร้างความเจริญเติบโตและให้ผลิตผลได้อย่าง เต็มที่ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การไถพรวน ไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง คือ ไถบุกเบิก ๑ ครั้ง เพื่อกลับดิน และตากดินเพื่อกำจัดวัชพืช และเพิ่มปริมาณอากาศ ในดิน เป็นการปรับสภาพทางเคมีและฟิสิกส์ ของดินให้ ดีขึ้น การพรวนดินเป็นการช่วยให้ดินร่วนซุยเหมาะ ในการปลูก และเป็นการกำจัดวัชพืช การเตรียมดินไม่ดี ย่อมมีวัชพืชมาก และจะแย่งดูดปุ๋ยที่ใส่ลงในดิน ทำให้วัชพืชเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว ลำบากต่อการกำจัด ซึ่งจะทำให้ฝ้ายใช้ปุ๋ยในการสร้างความเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ อันจะทำให้ฝ้ายได้ผลิตผลต่ำ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

            สำหรับวิธีการใส่ปุ๋ยนั้น จำเป็นจะต้องใส่ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจากผลการค้นคว้าทดลองพบว่า วิธีการใส่ปุ๋ยฝ้าย ที่ให้ผลดีที่สุด คือ การโรยปุ๋ย จำนวนครึ่งหนึ่ง หรือ ๑/๒ ส่วนของปุ๋ยไนโตรเจน ผสมกับปุ๋ยฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมทั้งหมด (๑/๒ N + P2O5+K) ลงในร่องปลูก ซึ่งเตรียมไว้ลึกประมาณ ๕-๖ นิ้ว แล้วกลบปุ๋ยนั้น จึงทำการปลูกฝ้ายให้เมล็ดฝ้าย ห่างจากปุ๋ยประมาณ ๒-๓ นิ้ว ระวังอย่าให้เมล็ดสัมผัส ปุ๋ยโดยตรง จะทำให้การงอกเสียไป ส่วนปุ๋ยไนโตรเจน ที่เหลืออีก ๑/๒ ส่วน ใส่เมื่อฝ้ายอายุได้ ๒๕-๓๐ วัน นับ จากวันงอก โดยโรยปุ๋ยข้างแถวฝ้ายห่างต้นฝ้าย ประมาณ ๕-๖ นิ้ว แล้วพรวนดินกลบโคนฝ้ายอีก ครั้งหนึ่ง การใส่ปุ๋ยโดยวิธีหว่านนั้นไม่ควรทำ เพราะนอกจากปุ๋ยจะสูญหายจากการชะล้างแล้ว ยังทำให้วัชพืชที่ขึ้นระหว่างแถวฝ้าย เจริญเติบโตโดยรวดเร็ว เป็นการเสียแรงงานในการปราบวัชพืชโดยไม่จำเป็น

            ปัจจุบันปุ๋ยผสมที่ผลิตขายในท้องตลาดยังไม่มีการผลิตปุ๋ยที่ใช้กับฝ้ายโดยตรง จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยสูตรต่างๆ ที่มีขายในท้องตลาด โดยนำมาคำนวณปริมาณตามจำนวนธาตุอาหาร ที่มีในปุ๋ยผสมนั้น ให้พอเหมาะ หรือมีปริมาณธาตุอาหารใกล้เคียงกับที่ฝ้ายต้องการ หรือต้องเพิ่มเติมแม่ปุ๋ยที่ขาดให้ครบตามความต้องการ ตัวอย่างเช่น ฝ้ายต้องการปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในอัตรา ๑๒, ๑๒ และ ๖ กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับนั้น อาจใช้ปุ๋ย (N-P-K) สูตร ๑๔-๑๔-๑๔ ซึ่งมีขายในท้องตลาดใส่จำนวน ๔๓ กิโลกรัม/ไร่ รวมกับแม่ปุ๋ยดับเบิลซูเพอร์ฟอสเฟต ซึ่งมีธาตุอาหาร ฟอสฟอรัสร้อยละ ๔๐ จำนวน ๑๕ กิโลกรัม ใส่ก่อนปลูก เมื่อฝ้ายอายุได้ ๒๕-๓๐ วัน จึงใส่ปุ๋ยแอมโมเนียม ซัลเฟต ซึ่งมีธาตุไนโตรเจนร้อยละ ๒๐ ข้างแถวเพิ่มอีกประมาณ ๓๐ กิโลกรัม/ไร่ เมื่อใส่ครบตามจำนวน ดังกล่าว ฝ้ายจะได้ปุ๋ยครบตามต้องการ หรืออาจผสม ปุ๋ยโดยซื้อแม่ปุ๋ยต่างๆ มาผสมเอง แม่ปุ๋ยที่ใช้ ได้แก่ แอมโมเนียมซัลเฟต (๒๐%) เป็นแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยดับเบิล หรือทริพเพิลซูเพอร์ฟอสเฟต เป็นแม่ปุ๋ยฟอสฟอรัส ซึ่งมีธาตุอาหารร้อยละ ๔๐-๔๕ และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ เป็นแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม มีธาตุ อาหารร้อยละ ๖๐ โดยคิดคำนวณปริมาณปุ๋ยที่จะนำมาผสมกันตามปริมาณความต้องการธาตุอาหารของฝ้าย เช่น ใส่ปุ๋ยครั้งแรกก่อนปลูกต้องการปุ๋ยไน โตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในอัตรา ๖,๑๒ และ ๖ กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับนั้น เมื่อคำนวณแม่ปุ๋ย ที่จะนำมาใช้ผสมกันได้ดังนี้ คือ

            ๑. ใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (๒๐%) ๓๐ กิโล กรัม/ไร่
            ๒. ใช้ปุ๋ยดับเบิลซูเพอร์ฟอสเฟต (๔๐%) ๑๕ กิโลกรัม/ไร่
            ๓. ใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (๖๐%) ๑๐ กิโลกรัม/ไร่ ผสมกัน จะได้ธาตุอาหารตามต้องการ แล้วเมื่อฝ้ายอายุได้ ๒๕-๓๐ วัน ใส่ปุ๋ย            แอมโมเนียมซัลเฟต อีกในอัตรา ๓๐ กิโลกรัม/ไร่ ก็จะได้ปุ๋ยในอัตราไนโตรเจนทั้งสิ้น ๑๒ กิโลกรัม/ไร่ ฟอสฟอรัสอัตรา ๑๒ กิโลกรัม/ไร่ และโพแทสเซียม ๖ กิโลกรัม/ไร่ ตามต้องการ
ไร่ฝ้ายอายุ ๔๕ วัน
ไร่ฝ้ายอายุ ๔๕ วัน
            ปัจจุบันการค้นคว้าทดลองในด้านปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยสำหรับฝ้ายพันธุ์รีบาบีทีเค ๑๒ นี้ พบว่า ให้ผลิตผลสูงพอสมควร สำหรับการใส่ปุ๋ยในพื้นที่ดิน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตในอัตรา ๖ กิโลกรัม/ไร่ นับว่า เป็นการพอเพียง สำหรับการเพิ่มผลิตผลฝ้าย ส่วนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ จนถึงปานกลางนั้น จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตสูงขึ้นถึงอัตรา ๑๒ กิโลกรัม/ ไร่ จึงจะให้ผลิตผลสูงสุด ส่วนปุ๋ยโพแทสเซียมใช้ใน อัตรา ๖ กิโลกรัม/ไร่ ก็พอเพียง

            ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องและจำเป็น ต่อการใช้ปุ๋ย คือ ฤดูกาล การใส่ปุ๋ยจะได้ผลดี เมื่อดินฟ้าอากาศอำนวย คือ ปริมาณฝนตกสม่ำเสมอ พอเพียง ในช่วงการเจริญเติบโตประมาณ ๙๐-๑๐๐ วัน ฝ้ายจึงจะเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลต่อการใช้ปุ๋ยสูง

            ส่วนปัจจัยด้านพันธุ์ การปฏิบัติ การดูแลรักษา การกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชนั้น นับว่า มีความสำคัญ และต้องปฏิบัติอย่างดี และถูกต้อง จึงจะสามารถทำให้ผลการใช้ปุ๋ยได้รับผลสูง คุ้มค่าต่อการลงทุน