เล่มที่ 3
ฝ้าย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
หนอนสะไปนีหรือหนอนหนาม (Family Noctuidae Order Lepidoptera)

ถิ่นแพร่ระบาด

อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะของแมลง

            ไข่ มีลักษณะกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ มิลลิเมตร สีเขียวอมน้ำเงินเมื่อยังใหม่มีสันตามยาวประมาณ ๓๐ สัน ซึ่งทำให้เกิดเป็นรูปมงกุฎขึ้นที่ตรงส่วนบนของไข่

            หนอน หนอนโตเต็มที่จะยาวประมาณ ๑๕-๑๘ มิลลิเมตร ตัวป้อม มีขนแข็งยาวทุกปล้อง พื้นสีน้ำตาลอ่อนปนด้วยสีเทา และสีเขียว ส่วนหลังสีขาวซีด โดยมีจุดดำที่ฐานของขน
หนอนสะไปนีกำลังเจาะสมอฝ้าย
หนอนสะไปนีกำลังเจาะสมอฝ้าย
            ดักแด้ มีสีน้ำตาล ยาวประมาณ ๑๓ มิลลิเมตร ห่อหุ้มด้วยรัง (cocoon) เป็นรูปเรือคว่ำ สีน้ำตาลซีด หรือสีนวล

            ตัวแก่ เวลาเกาะ ปีกจะพับชนกันเป็นรูปหลังคา ตัวยาว ๑๒ มิลลิเมตรปีกเมื่อกางยาว ๒๐-๒๒ มิลลิเมตร ปีกหลังสีขาวนวล ปีกหน้ามีแถบสีเขียวพาดเป็นแผ่นตลอดกลางปีก

ชีวประวัติและนิสัย

            ผีเสื้อวางไข่ทีละฟองเกือบทุกส่วนของต้นฝ้าย หนอนมีลักษณะพิเศษ ผิดกับหนอนเจาะสมออื่นๆ คือ เจาะลำต้น หนอนเจาะเข้าไปทางส่วนยอดเป็นทางลึกลงไป กัดกินเฉพาะเนื้ออ่อน ทำให้ยอดฝ้ายเหี่ยวหักพับไป
สภาพภายในของสมอฝ้ายที่ถูกหนอนสะไปนีทำลาย
สภาพภายในของสมอฝ้าย
ที่ถูกหนอนสะไปนีทำลาย
ในการกินดอกสมอ หนอนเจาะเป็นทางเข้าไปข้างใน แล้วอุดรูไว้ด้วยมูล ถ้าสมอโต หนอนมันจะเจาะกินตรงใกล้ขั้วสมอ หนอนไม่กินอยู่เพียงเฉพาะที่เดียว แต่จะกัดกินสมอข้างเคียงเรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเข้าดักแด้
            หนอนมี ๕ ระยะ ลอกคราบภายในอุโมงค์ เมื่อจะเข้าดักแด้ หนอนจะสร้างรังตามส่วนต่างๆ ของต้นฝ้าย มักพบตามข้างสมอ ใบเลี้ยง ใบแห้ง

            ตอนกลางวันตัวแก่หลบซ่อนในที่มืด ออกหากินในเวลากลางคืน อาหารของผีเสื้อ คือ น้ำหวานชนิดต่างๆ

ชีพจักร

            ผีเสื้อตัวหนึ่งวางไข่ได้ ๔๐-๒๙๘ ฟอง (เฉลี่ย ๑๑๕ ฟอง)
            ระยะไข่ ๓ วัน
            ระยะหนอน ๙ วัน ลอกคราบ ๔ ครั้ง
            ระยะเป็นดักแด ๑๑ วัน
            ตัวแก่ ๗-๑๔ วัน
            รวมอายุขัย ๒๐-๒๙ วัน

พืชอาศัย

กระเจี๊ยบ ครอบจักรวาล ปอแก้ว กระเจี๊ยบผี

ศัตรูธรรมชาติ

มีแตนเล็กๆ (ichnuemonid wasp) ชนิดหนึ่งที่พบในเมืองไทย

ลักษณะการทำลายและความเสียหาย

            ในขณะที่ฝ้ายยังเล็กอยู่ คือ ยังไม่มีดอก และสมอหนอนจะเจาะยอดทำให้ยอดฝ้ายเหี่ยวแห้งตาย เป็นสาเหตุให้ฝ้ายไม่เจริญขึ้นทางยอด แต่จะแตกกิ่งก้านสาขาออกข้างๆ ทำให้ต้นฝ้ายทึบ เสียรูปทรง ผลที่ตามมา คือ เข้าปฏิบัติงานได้ยาก พ่นยาลำบาก และไม่ทั่วถึง และเมื่อฝ้ายติดสมอมากเป็นเหตุให้กิ่งหัก
            ตาดอก ดอกอ่อน และสมออ่อน เมื่อถูกหนอนเจาะ จะร่วง สำหรับสมอที่มีขนาดโตจะไม่ร่วง แต่บางส่วนของสมอจะเน่า อาจจะได้ปุยบ้างบางส่วน หรืออาจไม่ได้เลยหนอนสะไปนีเจาะลำต้น
หนอนสะไปนีเจาะลำต้น
            หนอนชนิดนี้เพียงชนิดเดียวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ที่สถานีกสิกรรมศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ได้ทำความเสียหาย ทำให้ฝ้ายลดลงประมาณร้อยละ ๓๓