คนไทยรู้จักปลูกฝ้าย เพื่อทอผ้ามาเป็นเวลาหลายร้อยปี ดังปรากฏในสุภาษิต ชาวสุโขทัย และวรรณคดีสมัยอยุธยา จากหลักฐานที่มีอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่า ประเทศไทยเริ่มส่งเสริมให้มีการปลูกฝ้าย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ในสมัยนั้น ประเทศไทยไม่มีอุตสาหกรรมสิ่งทอเอง จึงส่งเสริมเพียงให้ปลูก เพื่อส่งขายเป็นสินค้าออก และใช้ในครัวเรือน พันธุ์ฝ้ายสมัยนั้น ก็เป็นฝ้ายพื้นเมือง (Gossypium arboreum) ซึ่งปุย หยาบและสั้น จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๘ กระทรวงกลาโหมได้ตั้งโรงหีบฝ้าย และโรงงานปั่นด้ายขึ้น จึงได้เริ่มส่งเสริมฝ้ายกันขึ้นอีก โดยนำพันธุ์ฝ้ายที่มี คุณภาพดี (Gossypium hirsutum) จากต่างประเทศ เข้ามาทดลองปลูก ฝ้ายพันธุ์ที่ส่งเสริมให้กสิกรปลูกสมัยแรก ได้แก่ ฝ้ายพันธุ์เขมร แต่ก็ยังปลูกกันไม่มากนัก จนกระทั่งมาถึงระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอขึ้นในประเทศ ซึ่งได้เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการ ฝ้ายก็มีมากขึ้น ในระยะเดียวกันนี้การปลูกฝ้ายได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งในระยะนั้นประเทศไทยผลิตฝ้ายได้ปีละประมาณ ๓,๐๐๐ ตัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒ ก็สามารถผลิตฝ้าย ที่มีคุณภาพดี ได้ถึง ๓๖,๐๐๐ ตัน ต่อมาผลิตผลฝ้ายเริ่มลดลง เพราะมีโรคและแมลงศัตรู ระบาดมาก จนในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ผลิตฝ้ายได้เพียง ประมาณ ๘,๐๐๐ ตัน แต่ความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ มีมากถึงปีละกว่า ๖๐,๐๐๐ ตัน ฉะนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ประเทศไทยจึงต้องสั่งฝ้ายจากต่างประเทศเข้ามาป้อนโรงงาน ประมาณ ๘๕,๐๒๗ ตัน เป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๑,๓๔๖ ล้านบาท ฉะนั้น ฝ้ายจึงเป็นพืช ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก |