เล่มที่ 38
รังสี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทของรังสี

รังสีมีหลายชนิด ถ้าจะรวบรวมแบ่งเป็นประเภทต่างๆ สามารถแบ่งได้ ดังนี้

๑) แบ่งตามลักษณะของรังสี

๑. รังสีที่เป็นอนุภาค เช่น รังสีแอลฟา รังสีบีตา รังสีนิวตรอน รังสีคอสมิก
๒. รังสีที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น คลื่นวิทยุ แสงสว่าง รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีความร้อน รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา

๒) แบ่งตามปฏิกิริยาที่รังสีมีต่ออะตอมของตัวกลางที่วิ่งผ่าน

๑. รังสีชนิดก่อไอออน (Ionizing radiation) คือ รังสีที่มีพลังงานสูง ที่สามารถทำให้อะตอมของตัวกลางที่รังสีนั้นวิ่งผ่าน เกิดการแตกตัวเป็นไอออนได้ทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม เช่น รังสีแอลฟา รังสีบีตา รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา รังสีนิวตรอน

            การก่อไอออน หมายถึง เมื่อรังสีวิ่งผ่านอะตอมใด ทำให้อิเล็กตรอนตัวใดตัวหนึ่งที่โคจรอยู่ในวงโคจรรอบนิวเคลียส หลุดกระเด็นออกจากวงโคจร ไปเป็นอิเล็กตรอนเสรี เป็นผลทำให้เกิดคู่ของไอออนขึ้นมา คู่ของไอออนนี้คือ อิเล็กตรอนที่หลุดกระเด็นออกจากวงโคจร จะเป็นไอออนลบ ส่วนอะตอมที่เดิมเป็นกลาง เพราะจำนวนโปรตอนในนิวเคลียสเท่ากับจำนวนอิเล็กตรอนที่โคจรอยู่โดยรอบ ครั้นเมื่อมีอิเล็กตรอนตัวหนึ่งหลุดออกจากวงโคจรไป จึงกลายเป็นมีประจุบวก จัดเป็น ไอออนบวก

            รังสีชนิดก่อไอออนนี้ เป็นรังสีที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และทำให้เกิดอันตรายได้ ถ้าไม่รู้จักการป้องกันที่ถูกต้อง


๒. รังสีชนิดไม่ก่อไอออน (Non-ionizing radiation) คือ รังสีที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออน ในอะตอมของตัวกลางที่รังสีนั้นวิ่งผ่าน เพียงแต่จะทำให้อิเล็กตรอนเขยิบตัวสูงขึ้นจากวงโคจรนั้น แล้วตกลงสู่วงโคจรเดิมอีก ปรากฏการณ์แบบนี้เรียกว่า อะตอมอยู่ในสถานะถูกกระตุ้น (excited state) รังสีพวกนี้เป็นรังสีที่มีพลังงานไม่สูงมากนัก เช่น รังสีความร้อน ไมโครเวฟ เลเซอร์ รังสีอัลตราไวโอเลต คลื่นวิทยุ

            รังสีชนิดไม่ก่อไอออนนี้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิตมากนัก อย่างไรก็ตาม ถ้าได้รับมากๆ จะมีอาการผิดปกติให้เห็นได้ เช่น เป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง กระจกตาและเยื่อบุตาอักเสบ

            จะเห็นได้ว่า รังสีที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ เป็นรังสีชนิดก่อไอออน เราจึงจำเป็นต้องมีความรู้ เกี่ยวกับรังสีเหล่านี้