เล่มที่ 38
รังสี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
หน่วยของรังสี (Radiation units)

มีหน่วยหลายชนิดที่ใช้ในเรื่องของรังสี ดังนี้

๑) หน่วยเกี่ยวกับต้นกำเนิดรังสี

            มีหน่วยที่ใช้บอกถึงกัมมันตภาพของรังสี ซึ่งหมายถึง อัตราการสลายของอะตอมหรือนิวไคลด์กัมมันตรังสีต่อหน่วยเวลา เดิมใช้หน่วย คูรี (Ci) โดยกำหนดให้ ๑ คูรี เป็นการสลายของนิวไคลด์กัมมันตรังสี ๓.๗ x ๑๐๑๐ ครั้งต่อวินาที ซึ่งค่านี้ มาจากการสลายโดยประมาณของเรเดียม ๑ กรัม แต่ในปัจจุบันใช้หน่วยเอสไอว่า เบ็กเคอเรล (Bq) โดยกำหนดให้ ๑ เบ็กเคอเรล เป็นการสลายของนิวไคลด์กัมมันตรังสี ๑ ครั้งต่อวินาที ดังนั้น  1 Ci  =  3.7 x  1010 Bq เบ็กเคอเรลเป็นหน่วยเล็กมาก ในการใช้งานจึงมักต้องใช้หน่วยใหญ่ เช่น เมกะเบ็กเคอเรล (MBq) = 106 Bq หรือจิกะเบ็กเคอเรล (GBq)  = 109 Bq

๒) หน่วยเกี่ยวกับรังสีที่แผ่ออกมา

๑. หน่วยวัดปริมาณรังสีที่แผ่ออกมา (exposure)

            เดิมใช้ เรินต์เกน (R) โดยกำหนดว่า ๑ เรินต์เกน หมายถึง ปริมาณรังสีเอกซ์ หรือรังสีแกมมาที่สามารถทำให้อากาศ ๑ ลูกบาศก์เซนติเมตร ที่อุณหภูมิ ๐ องศาเซลเซียส ความดัน ๗๖๐ มิลลิเมตรปรอท แตกตัวเป็นไอออน เกิดประจุไฟฟ้า ๑ อีเอสยู (esu: electrostatic unit) ปัจจุบันใช้หน่วยคูลอมบ์ต่อกิโลกรัมอากาศ เมื่อเทียบกับหน่วยเรินต์เกน (R) แล้ว จะได้ 1 R = 2.58 x 10-4 C/kgair

๒. หน่วยวัดปริมาณรังสีดูดกลืน

            ปริมาณรังสีดูดกลืน (absorbed dose) คือ ปริมาณพลังงานที่วัตถุตัวกลางดูดกลืนไว้เมื่อได้รับรังสี เดิมเคยใช้หน่วยเป็น แร็ด (rad: radiation absorbed dose) โดยกำหนดว่า ๑ แร็ด หมายถึง ปริมาณรังสีดูดกลืนจำนวน ๑๐๐ เอิร์ก ต่อกรัมของมวลสาร  ปัจจุบันใช้หน่วยเอสไอว่า เกรย์ (Gy) โดยกำหนดว่า ๑ เกรย์ หมายถึง ปริมาณรังสีดูดกลืนจำนวน ๑ จูลต่อกิโลกรัมของมวลสาร หรือ 1 Gy = 1 J/kg เมื่อเทียบกับหน่วยแร็ดแล้ว จะได้ 1 Gy = 100 rads

๓. หน่วยวัดปริมาณรังสีสมมูล

            ปริมาณรังสีสมมูล (equivalent dose) เป็นผลรวมของปริมาณรังสีดูดกลืนในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใดๆ ของมนุษย์ หลังจากปรับเทียบการก่ออันตรายของรังสีทุกชนิดที่อวัยวะนั้นได้รับ โดยเทียบกับการก่ออันตรายของรังสีแกมมา เดิมเคยใช้หน่วยเป็น เร็ม (rem: roentgen equivalent man) โดยกำหนดว่า ๑ เร็ม หมายถึง ปริมาณรังสีที่ก่อให้เกิดผลทางชีวภาพเทียบเท่ากับผลที่เกิดจากรังสีเอกซ์ หรือรังสีแกมมา ๑ แร็ด ปัจจุบันใช้หน่วย เอสไอเป็นซีเวิร์ต (Sv) ซึ่ง 1 Sv = 100 rems


            การที่ต้องมีหน่วยวัดปริมาณรังสีสมมูลขึ้นมา เพราะพบว่า รังสีแต่ละชนิด แม้จะถ่ายเทพลังงานให้แก่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง จำนวนที่เท่ากัน แต่ปรากฏว่าอวัยวะนั้นมีความเสียหายต่างกัน ทั้งนี้ เพราะรังสีแต่ละชนิดมีคุณภาพในการก่อให้เกิดอันตราย แตกต่างกัน และมีการกระจายของสารกัมมันตรังสีในอวัยวะต่างกัน การวัดปริมาณรังสีสมมูลนี้ใช้ในงานด้านการป้องกันรังสี การออกแบบด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านกฎหมาย และด้านบริหาร