เล่มที่ 38
รังสี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
หนทางที่ร่างกายได้รับรังสี

มีอยู่ ๒ ทาง คือ การรับรังสีจากภายนอกร่างกาย และการรับรังสีจากภายในร่างกาย

๑. การรับรังสีจากภายนอกร่างกาย (External exposure)

หมายถึง การได้รับรังสีที่แผ่ออกมาจากต้นกำเนิดรังสีที่อยู่นอกร่างกาย โดยรังสี จะกระทบกับผิวหนัง ก่อนที่จะเข้าไปภายในร่างกาย ดังนั้นจะเห็นว่า รังสีที่จะทำอันตราย ต่ออวัยวะภายในได้ คือ รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ และรังสีนิวตรอน เท่านั้น ส่วนรังสีแอลฟา และรังสีบีตา ไม่ค่อยมีอันตราย เพราะไม่สามารถวิ่งผ่านทะลุชั้นผิวหนังเข้าไปทำอันตราย ต่ออวัยวะภายในได้ จะทำอันตรายเฉพาะผิวหนังเท่านั้น เช่น ผิวหนังเป็นผื่นแดง ผิวหนังลอก

การรับรังสีจากภายนอกร่างกาย

การรับรังสีจากภายนอกร่างกายสามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยการไม่เข้าไปใกล้กับต้นกำเนิดรังสีนั้นๆ

๒. การรับรังสีจากภายในร่างกาย (Internal exposure)

หมายถึง การได้รับรังสีที่แผ่ออกจากต้นกำเนิดรังสีที่มีอยู่ในร่างกาย ปกติโดยธรรมชาติในร่างกายคนเรามีต้นกำเนิดรังสีอยู่บ้างแล้ว การจะมีเพิ่มขึ้นไปอีกนั้น เกิดจากการรับประทาน การดื่ม การหายใจ และดูดซึมผ่านผิวหนัง โดยเฉพาะทางบาดแผล สิ่งที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกาย ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ถ้าเป็นพวกที่ละลายได้ จะมีบางส่วนถูกดูดซึม เข้ากระแสโลหิต แล้วไหลหมุนเวียนผ่านอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย และทำอันตรายต่ออวัยวะที่ผ่าน หรือสารบางอย่างอาจสะสม ในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งนี้ อวัยวะใดจะเสียหายมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับชนิดของสารกัมมันตรังสี ความไวต่อสารกัมมันตรังสีของอวัยวะนั้น และความสำคัญของอวัยวะนั้นต่อร่างกาย ถ้าสารกัมมันตรังสีชนิดหนึ่งเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะต่างๆ หลายอย่าง แต่มีบางอวัยวะ หากเสียหายแล้วจะทำให้ร่างกายได้รับอันตรายมาก เมื่อเทียบกับอันตรายที่เกิดกับอวัยวะอื่นๆ อวัยวะนี้เรียกว่า อวัยวะวิกฤติ (critical organ) ตัวอย่างเช่น พอโลเนียม-๒๑๐ มีม้ามและไตเป็นอวัยวะวิกฤติ ปรอท-๒๐๓ มีไตเป็นอวัยวะวิกฤติ สตรอนเชียม-๙๐ มีกระดูกเป็นอวัยวะวิกฤติ ไอโอดีน-๑๓๑ มีต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะวิกฤติ สำหรับสารกัมมันตรังสีที่ละลายไม่ได้ ไม่สามารถเข้าสู่กระแสโลหิตได้ จะทำอันตรายต่ออวัยวะ ที่เป็นทางผ่าน เช่น ทางเดินอาหาร ปอด

การรับรังสีจากภายในร่างกาย

การที่มีต้นกำเนิดรังสีเข้าสู่ร่างกายนี้ นับว่า มีอันตรายมาก เพราะเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราจะได้รับรังสีอยู่ตลอดเวลา เท่าที่สารกัมมันตรังสีนั้นคงอยู่ในร่างกาย โดยยังไม่ถูกขับถ่าย ออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ การที่มีสารกัมมันตรังสีอยู่ภายในร่างกายนั้น ไม่ว่าจะเป็นรังสีแอลฟา รังสีบีตา และรังสีแกมมา ที่แผ่ออกจากสารกัมมันตรังสีนั้น สามารถทำอันตรายได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะรังสีแอลฟากับรังสีบีตาจะทำอันตรายมากกว่า รังสีแกมมา เพราะการแตกตัวเป็นไอออนจะเกิดเป็นกระจุกอยู่ตรงบริเวณ ที่สารกัมมันตรังสีนั้นอยู่

เรื่องอันตรายของรังสีที่มีต่อมนุษย์นี้ค่อนข้างสลับซับซ้อน เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับ อันตรายต่อร่างกายมนุษย์ยังมีไม่มาก ข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่จะมาจากผู้รอดชีวิตหลังจากเกิดการระเบิดของลูกระเบิดนิวเคลียร์ (ระเบิดปรมาณู) ที่ประเทศญี่ปุ่น และจากอุบัติเหตุทางรังสี ซึ่งมีไม่มาก ผลการวิจัยในสัตว์ที่นำมาทดลองให้ได้รับรังสี ก็เป็นข้อมูล ที่นำมาใช้กับมนุษย์ด้วย

การใช้เครื่องสำรวจรังสี เพื่อวัดสารกัมมันตรังสีที่อาจเปื้อนตามร่างกาย

อย่างไรก็ตาม มีการสรุปว่า การเกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์จะรุนแรงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ 

๑) ปริมาณรังสีที่ได้รับ ถ้าได้รับรังสีปริมาณสูงจะมีอันตรายมากกว่าได้รับรังสีปริมาณต่ำ 

๒) อัตราการได้รับรังสี แม้ปริมาณรังสีรวมที่ได้รับจะเท่ากัน แต่อัตราการได้รับรังสีต่างกันอันตรายที่จะได้รับก็ต่างกัน ในกรณีที่อัตราการได้รับรังสีต่อครั้งที่สูงกว่า จะพบความผิดปกติมากกว่ากรณีที่อัตราการได้รับรังสีต่อครั้งที่ต่ำกว่า 

๓) ชนิดของต้นกำเนิดรังสี ต้นกำเนิดรังสีแต่ละชนิดจะมีการแผ่รังสีแตกต่างกัน บางชนิดแผ่รังสีบีตาอย่างเดียว บางชนิดแผ่รังสีบีตาและแกมมา บางชนิดแผ่รังสีแอลฟาและแกมมา บางชนิดละลายน้ำได้ บางชนิดละลายน้ำไม่ได้ บางชนิดมีครึ่งชีวิตสั้น บางชนิดมีครึ่งชีวิตยาว ฯลฯ

๔) ชนิดของรังสี รังสีแต่ละชนิดมีอำนาจในการก่อให้เกิดอันตรายแตกต่างกัน นอกจากนี้พลังงานของรังสีก็มีส่วน ทำให้เกิดอันตรายต่างกันด้วย รังสีพลังงานสูงจะก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่ารังสีพลังงานต่ำ 

๕) ความไวของอวัยวะที่มีผลต่อรังสี เซลล์ของอวัยวะจะมีความไวต่อรังสีต่างกัน ในการได้รับรังสีเฉพาะที่ด้วยปริมาณรังสีเท่ากัน อันตรายที่เกิดขึ้นจะต่างกัน

๖) อัตราการกำจัดสารกัมมันตรังสีออกจากอวัยวะ มีมากหรือน้อยเท่าใด