เล่มที่ 37
หอศิลป์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art and Culture Centre)

            เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการโครงการศิลปะแห่งรัชกาลที่ ๙ ได้จัดประชุมหารือร่วมกับ ดร. พิจิตต  รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดสร้างหอศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ผู้ชนะเลิศการประกวดออกแบบ คือ บริษัทโรเบิร์ต จีบุย จำกัด ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๔๕ สมัยที่นายสมัคร  สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงการ ทำให้เครือข่ายประชาชนและศิลปินต่อสู้เรียกร้อง ให้จัดสร้างตามแบบเดิม จนถึงสมัยที่นายอภิรักษ์  โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้าง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในที่ดินของกรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกปทุมวัน และมีการเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ แต่การก่อสร้างได้แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๕๑ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่รับผิดชอบทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งในส่วนที่เป็นผลงานเดิมและผลงานร่วมสมัยอันหลากหลาย โดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะพัฒนาสถาบัน บุคลากร ระดมเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรท้องถิ่น ในการบริหารจัดการศิลปวัฒนธรรมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อสร้างศักดิ์ศรีให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรมระดับโลก


หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหาคน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ลักษณะหอศิลป์  

            เป็นอาคารสูง ๙ ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมด ๒๕,๐๐๐ ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นห้องแสดงผลงาน โรงภาพยนตร์ ห้องสมุด ห้องเก็บรักษาผลงาน ห้องประชุม ร้านค้า และร้านอาหาร


ผลงานศิลปะภายในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ที่ตั้ง 

สี่แยกปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

การบริหารงาน 

โดยผู้อำนวยการ บริหารจัดการภายใต้การดูแลนโยบายของคณะกรรมการ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่หอศิลป์ กำกับดูแลโดยหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร