เล่มที่ 37
หอศิลป์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติหอศิลป์ในประเทศไทย
  
            การจัดแสดงผลงานภาพเขียนของช่างศิลป์ไทยนั้น เกิดขึ้นจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเลือกสรรเรื่องในพระราชพงศาวดาร และโปรดเกล้าฯ ให้ช่างเขียนที่มีฝีมือเขียนภาพประกอบ โดยทรงออกแบบกรอบกระจกภาพทั้งหมด และมีโคลงบอกเรื่องพระราชพงศาวดารที่ตรงกับภาพติดไว้ทุกกรอบ ภาพขนาดใหญ่ใช้โคลงประกอบ ๖ บท ภาพขนาดกลางและขนาดเล็กใช้โคลงประกอบ ๔ บท โคลงที่แต่งอาจทรงพระราชนิพนธ์ หรือโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่สันทัดบทกลอนแต่งถวาย ภาพเขียนเรื่องพระราชพงศาวดารมี ๙๒ ภาพ โดยมีโคลงประกอบ ๓๗๖ บท แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ และโปรดเกล้าฯ ให้นำไปประดับพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิง พระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ที่ท้องสนามหลวง เพื่อแสดงให้ประชาชนชม

            เมื่อเสร็จงานพระเมรุแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพไปประดับที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และภาพบางส่วนส่งไปประดับ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ซึ่งภาพเขียนประกอบโคลงเหล่านี้ แสดงให้เห็นกฎเกณฑ์ทางทัศนียวิทยา แสง-เงา และกายวิภาค ที่ผสมผสานความจริงจากธรรมชาติแบบตะวันตก ร่วมกับแนวการเขียนภาพแบบประเพณีเดิม


พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน
อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนขึ้นครั้งแรก ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และจัดต่อมาเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้เสด็จฯ ทรงเปิดอาคารใหม่ของโรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะ และได้พระราชทานนามว่า "โรงเรียนเพาะช่าง" ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนเกี่ยวกับงานช่างศิลป์แห่งแรกของไทย และให้การศึกษาด้านศิลปวิทยาการหลายสาขา ทั้งในด้านศิลปหัตถกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม  


วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ถนนตรีเพชร เขตพระนคร กรุงเทพฯ

            ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการประกวดภาพเขียน ณ พระที่นั่งอุทยาน ภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน และมีการประมูลภาพจากการจัดแสดงได้เงินจำนวน ๔,๐๐๐ บาทเศษ ส่งไปสมทบซื้อเรือรบหลวงพระร่วง การประกวดภาพเขียน ครั้งที่ ๒ จัดขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ณ พระราชวังบางปะอิน การประกวดภาพเขียน ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นในปีเดียวกัน ณ โรงละครวังพญาไท กรุงเทพฯ

            ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงวิจิตรวาทการและศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ร่วมกันก่อตั้ง โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งใน พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง" ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘๐ และ พ.ศ. ๒๔๘๑ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ มีการนำผลงานศิลปะของนักเรียนไปจัดแสดง ที่ร้านของกรมศิลปากร ต่อมาการจัดแสดงผลงานศิลปะ ได้ย้ายไปที่สนามเสือป่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งการจัดแสดงในครั้งนั้นได้จัดทำห้องโถงแสดงผลงานศิลปะ เป็นห้องที่มีเพดานสูง และบรรยากาศโอ่อ่า นับเป็นหอศิลป์ที่สร้างขึ้นเฉพาะกิจ ต่อมาโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างได้ยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ใน พ.ศ. ๒๔๘๖


ศาลาเฉลิมกรุง เป็นหอศิลป์เฉพาะกิจ ซึ่งกลุ่มจักรวรรดิศิลปินนำผลงานศิลปะมาจัดแสดง ๒ ครั้ง
            
            การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๘๗ มีการแสดงผลงานศิลปะที่หอศิลป์เฉพาะกิจ โดยกลุ่มศิลปินชื่อว่า "กลุ่มจักรวรรดิศิลปิน" รวมตัวกันนำผลงานศิลปะในแนวทางอิสระตามทัศนะของกลุ่มไปจัดแสดงที่ห้องแสดงภาพศาลาเฉลิมกรุง โดยจัดขึ้น ๒ ครั้ง ผลงานที่นำมาจัดแสดงมีทั้งภาพจิตรกรรม ภาพโปสเตอร์ ภาพออกแบบโฆษณา ภาพสีถ่าน ภาพถ่าย และภาพเรือหงส์ เป็นต้น


นิทรรศการศิลปกรรมแนวติดตั้งจัดวาง (Installation Art)



            ใน พ.ศ. ๒๔๙๒ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เสนอแนะให้กรมศิลปากรจัดงาน "ศิลปกรรมแห่งชาติ" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยให้ประเทศมีความก้าวหน้า และเกิดความเคลื่อนไหวในงานด้านศิลปะ รวมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ในงานศิลปะสมัยใหม่ การจัดงานในครั้งนั้น ส่งผลให้ศิลปินไทย ที่มีความสามารถในสาขาศิลปะต่างๆ ส่งผลงานศิลปะเข้าร่วมแข่งขัน และมีการจัดแสดงผลงานร่วมกันในเวลาต่อมา เป็นประจำทุกปี ซึ่งนับเป็นการบุกเบิกงานศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน

            ห้องแสดงผลงานศิลปะ หรือ "หอศิลป์" ในยุคแรกๆ นั้นใช้ห้องเรียน โรงไม้หลังคาสังกะสีเป็นสถานที่ดำเนินงานศิลปกรรมแห่งชาติ  มีการปรับเปลี่ยนสถานที่ที่ใช้เป็นหอศิลป์ไปหลายแห่งเช่น หอศิลป์ตรงข้ามอนุสาวรีย์ทหารอาสา (อาคารเก่าของกระทรวงคมนาคม) หอศิลป์ กรมศิลปากร หอสมุดแห่งชาติ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

            ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ มีนักธุรกิจเปิดหอศิลป์เอกชนชื่อ "บางกอก อาร์ต เซ็นเตอร์" เป็นหอศิลป์ของเอกชนแห่งแรกที่มีการจัดแสดง และจำหน่ายผลงานอย่างมีแบบแผน และเป็นระบบ ในปีเดียวกัน ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์  บริพัตร เจ้าของวังสวนผักกาด เปิด "ห้องศิลปนิทรรศมารศี" ณ วังสวนผักกาด และใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ร.ต.อ. สุวิทย์  ตุลยายน ได้เปิดหอศิลป์ขึ้นอีกแห่ง คือ "บางกะปิแกลเลอรี่" บริเวณซอยอโศก หลังจากนั้น มีผู้สนใจเปิดหอศิลป์อีกหลายราย เช่น "หอขวัญและทรีโอแกลเลอรี่" บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งต่อมาได้ปิดไปในที่สุด


หอศิลป์กรุงไทย ถนนเยาวราช
เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

            พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๑ กลุ่มศิลปินร่วมสมัยที่ทำงานศิลปะแบบนามธรรมรวมตัวกันผลักดัน เปิด "หอศิลปะปทุมวัน" มีนายพีระ  พัฒนพีระเดช เป็นผู้จัดการ และได้เปิด "แกลเลอรี่ ๒๐" ขึ้น ในย่านศูนย์การค้าราชประสงค์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์  บริพัตร ลงทุนจัดสร้าง "หอศิลปะ เมฆพยัพ" ขึ้นที่ซอยอรรถการประสิทธิ์ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๑๖ มีหอศิลป์เกิดขึ้นหลายแห่งตามสถานที่ต่างๆ ส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายจำหน่ายผลงานมากกว่าดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล



หอศิลป์ริมน่าน
อำเภอเมืองฯ จังหวัดน่าน

            ภายหลังจาก ศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ดร. ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ได้สืบสานความคิดของศาสตราจารย์ศิลป์เรื่องการตั้งหอศิลป์ โดยได้จัดตั้ง มูลนิธิหอศิลป พีระศรี ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ และได้รวบรวมเงินทุน จากการบริจาค และการจำหน่ายผลงานศิลปกรรมที่ศิลปินร่วมบริจาค รวมทั้งเงินอุดหนุน ของรัฐบาล ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ ๓ ล้านบาท นำมาจัดสร้าง "หอศิลป พีระศรี" ขึ้นบนที่ดินของ ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์  บริพัตร ในซอยอรรถการประสิทธิ์ ถนนสาทรใต้ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ ทรงเปิด ทั้งนี้ หอศิลป์แห่งนี้ ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๓๓ ก็ปิดกิจการลง

            นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีความพยายามผลักดันให้เกิดหอศิลป์ขึ้นอีกหลายแห่ง บางแห่งก็ประสบความสำเร็จ บางแห่งต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เป็นระยะเวลานาน และหลายแห่งที่เปิดขึ้นมาแต่ก็ต้องปิดไป หากพิจารณาโดยสรุป สามารถแบ่งกลุ่มของหอศิลป์ได้ ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้