ธรรมนูญของ ICOM กล่าวไว้ว่า ICOM เป็นองค์กรระหว่างชาติที่ไม่ใช่ของรัฐบาล เป็นองค์กรระหว่างชาติที่เป็นตัวแทนวงการอาชีพพิพิธภัณฑ์ ปฏิบัติการร่วมมือใกล้ชิดกับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ
๑. ให้คำจำกัดความของพิพิธภัณฑ์ ร่วมมือสนับสนุนสถาบันพิพิธภัณฑ์และผู้ประกอบอาชีพพิพิธภัณฑ์
๒. ดำเนินการประสานงานและช่วยเหลือกันระหว่างพิพิธภัณฑ์ทั้งหลาย และระหว่างผู้ประกอบอาชีพพิพิธภัณฑ์
๓. เน้นความสำคัญของหน้าที่พิพิธภัณฑ์และอาชีพพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อชุมชน และการส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจกันของมวลชนในโลก
ในการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างชาติ ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์แขนงต่างๆ ของ ICOM ได้มีการพิจารณาถึงประเภทของพิพิธภัณฑ์ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๑ องค์การยูเนสโกได้จัดสัมมนาเรื่องบทบาทการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ (The Educational Role of Museums) ที่ประเทศบราซิล และได้แบ่งประเภทของพิพิธภัณฑ์ออกเป็น ๙ ประเภท ได้แก่
๑. พิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Art Museums)
๒. พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art Museums)
๓. พิพิธภัณฑ์โบราณคดีและประวัติศาสตร์ (Archaeology and History Museums)
๔. พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาและพื้นเมือง (Ethnology and Folklore Museums)
๕. พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural Science Museums)
๖. พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Museums of Science and Technology)
๗. พิพิธภัณฑ์ส่วนภูมิภาค (Regional Museums)
๘. พิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่อง (Specialized Museums)
๙. พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย (University Museums)
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Art Museums) นั้น หมายถึง สถานที่จัดแสดงด้านศิลปวัตถุทุกประเภท ทั้งด้านศิลปะบริสุทธิ์ (Fine Art) และด้านประยุกต์ศิลป์ (Applied Art)
ผลงานศิลปะด้านเครื่องประดับ
ศิลปะด้านศิลปะบริสุทธิ์ ได้แก่
- จิตรกรรม (Painting)
- ประติมากรรม (Sculpture)
- ภาพพิมพ์ (Printmaking)
- ศิลปะแนวประเพณี (Traditional Art)
- ศิลปะแนวสื่อประสมและศิลปะแนวจัดวาง (Mixed Media and Installation Art)
- ศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual Art)
- ศิลปะการแสดงสด (Performance Art)
ศิลปะด้านประยุกต์ศิลป์ ได้แก่
- งานด้านสถาปัตยกรรม (Architecture)
- งานออกแบบตกแต่ง (Design and Decorative Art)
- งานออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Art)
- งานออกแบบหัตถกรรม (Craft Design)
- งานศิลปะเครื่องปั้นดินเผา (Ceramic Art)
- งานออกแบบเครื่องแต่งกาย (Fashion Design)
- งานออกแบบเครื่องประดับ (Jewelry Design)
- งานออกแบบนิเทศศิลป์ (Communication Design)
ผลงานศิลปะด้านศิลปะบริสุทธิ์ รับผิดชอบบริหารจัดการโดยหอศิลป์ (Art Gallery) ทั้งการรวบรวมสะสมผลงานศิลปะ การดูแล การเก็บรักษา และการบันทึกข้อมูลความเป็นมาของงานศิลปะในแต่ละยุคสมัย โดยนำออกเผยแพร่ในรูปแบบนิทรรศการ เพื่อให้ความรู้แก่สาธารณชนทางด้านศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งมีหน้าที่ดำเนินงานส่วนประกอบอื่นๆ และกิจกรรมทางด้านศิลปะ ลักษณะของการบริหารจัดการและการดำเนินงานมีความใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ