การดำเนินงานของหอศิลป์
การดำเนินงานของหอศิลป์ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ในการรวบรวมศิลปวัตถุ จำแนกประเภทงานศิลปกรรม จัดทำทะเบียนหลักฐาน ดำเนินการศึกษา ค้นคว้าวิจัย จัดนิทรรศการให้ความรู้ ให้การศึกษา จัดกิจกรรม และจัดทำส่วนประกอบ ให้เป็นประโยชน์ ต่อสาธารณชน โดยใช้งบประมาณจากภาครัฐ องค์กร และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน จึงต้องมีการแบ่งส่วนงานในการบริหารจัดการ ให้มีระบบและมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไป ทีมคณะบริหารจะประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ (Board of Trustees) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลนโยบายและทิศทางในการดำเนินงานของหอศิลป์ ลำดับต่อมาเป็นคณะบริหาร ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ ภัณฑารักษ์ คณะทำงาน และคณะกรรมการที่ปรึกษาหอศิลป์ ที่จะบริหารงานในด้านต่างๆ ของหอศิลป์ให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป
บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานหอศิลป์
ผู้อำนวยการหอศิลป์ (Director) เป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ในงานทัศนศิลป์ งานพิพิธภัณฑ์และการบริหารจัดการกิจกรรมหอศิลป์ รวมทั้ง เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มีความคิดริเริ่ม และมีมนุษยสัมพันธ์ ในการประสานงานกับศิลปิน นักวิชาการ ตลอดจนประชาชน ในทุกระดับ
การจัดแสดงนิทรรศการผลงานด้านจิตรกรรมและประติมากรรมของหอศิลป์
ภัณฑารักษ์ (Curator) เป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในงานทัศนศิลป์ทุกสาขา เข้าใจระบบงานพิพิธภัณฑ์ และศิลปะสมัยใหม่ เป็นผู้วางแผนกำหนดโครงสร้าง แนวเรื่อง การจัดกิจกรรม นิทรรศการ และการประสานงานกับศิลปิน นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในทุกระดับ
นักวิชาการช่างศิลป์ด้านการออกแบบ (Designer) เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางศิลปะ การออกแบบ และการบริหารจัดการงานศิลปะกับพื้นที่ของหอศิลป์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบรรยายศิลปะแก่เยาวชนผู้สนใจ
นักวิชาการวัฒนธรรมด้านการศึกษา (Curator of Education) เป็นบุคคลที่มีความรู้ด้านทัศนศิลป์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะร่วมสมัย มีการบริหารจัดการกิจกรรมด้านการศึกษา และงานวิชาการศิลปะ เพื่อการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และความซาบซึ้งในงานศิลปะ นอกจากนี้ยังเป็นผู้กำหนดแนวเรื่องในการบรรยาย เสวนา ปาฐกถา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม
นายช่างศิลปกรรมและเทคนิคต่างๆ (Technician) เป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจ ในงานช่าง เช่น ช่างไม้ ช่างศิลป์ ช่างไฟฟ้า ซึ่งต้องทำงานสัมพันธ์กับภัณฑารักษ์ นักวิชาการ และศิลปิน ในการบริหารจัดการกิจกรรม นิทรรศการ และงานด้านการศึกษา
การจัดอบรมด้านศิลปะ
เจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ (Staff) กลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงานในหอศิลป์ ดูแลงานต่างๆ ในด้าน นิทรรศการ งานข้อมูลศิลปะ งานวิชาการ และงานธุรการอื่นๆ ตามขอบเขต และโครงสร้างของหอศิลป์แต่ละประเภท
ศิลปิน (Artist) นักสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะทั้งประเภทงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะสื่อประสม ศิลปะการแสดงสด หรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ โดยทำงานประสานกับภัณฑารักษ์และนักวิชาการ ตามแนวเรื่องในการนำเสนอผลงาน
การจัดนิทรรศการ (Exhibition)
แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. การจัดนิทรรศการถาวร (Permanent Exhibition)
คือ การจัดแสดงนิทรรศการแบบถาวรเป็นประจำ ทั้งนี้ ในการจัดแสดงถาวรที่ใช้ระยะเวลานานๆ ควรเลือกเนื้อหาที่มีความสำคัญ และมีคุณค่า ในปัจจุบัน การจัดแสดงแบบถาวรอาจแสดงภายในระยะเวลา ๖ เดือนไปจนถึง ๕ ปี จึงจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ การจัดนิทรรศการถาวรนั้นจะมีระยะเวลาการแสดงยาวนาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่า ต่อการจัดเตรียมการดำเนินการและการลงทุน โดยมีการจัดกิจกรรมประกอบสื่อสารสนเทศสมัยใหม่ คอมพิวเตอร์ วีดิทัศน์ (video) และการบรรยาย หรือการเสวนาในนิทรรศการ
การจัดอบรมด้านศิลปะ
๒. การจัดนิทรรศการหมุนเวียน (Changing Exhibition หรือ Temporary Exhibition)
คือ การจัดแสดงนิทรรศการในแต่ละโครงการเพียงชั่วคราว โดยกำหนดระยะเวลา สั้นกว่านิทรรศการถาวร อาจใช้เวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ไปจนถึง ๖ เดือน จากนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยนนิทรรศการต่อไป ซึ่งการหมุนเวียนปรับเปลี่ยนนิทรรศการ จะก่อให้เกิดความน่าสนใจต่อผู้ชม ในการจัดกิจกรรมประกอบอาจมีสื่อสารสนเทศ วีดิทัศน์ การบรรยาย หรือการเสวนา ในนิทรรศการได้
๓. การจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ (Travelling Exhibition หรือ Mobile Exhibition)
คือ การขยายการให้บริการแก่ชุมชน โดยการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ ซึ่งทำได้ใน ๒ ลักษณะ คือ การนำข้อมูลและสิ่งของ หลังจากจัดกิจกรรมที่หอศิลป์ในส่วนกลางแล้ว ไปจัดนิทรรศการในส่วนภูมิภาคหรือหอศิลป์อื่นๆ ต่อไป บางครั้งอาจทำเป็นรูปแบบการแสดงในยานพาหนะหรือพื้นที่จำเพาะที่เคลื่อนที่ได้ โดยการใช้สื่อสารสนเทศสมัยใหม่ คอมพิวเตอร์ วีดิทัศน์ และการบรรยายประกอบนิทรรศการในการให้ความรู้แก่สาธารณชนผู้สนใจ