วิวัฒนาการของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย
จากประวัติของหนังสือพิมพ์อาจกล่าวได้ว่า ทวีปยุโรปเป็นแหล่งกำเนิดของหนังสือพิมพ์ ทั้งทางด้านปรัชญา อุดมการณ์ รูปแบบ และเทคโนโลยี ต่อมาในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๔ วิทยาการด้านหนังสือพิมพ์จึงแพร่กระจายเข้ามาสู่สังคมไทย โดยการนำ ของกลุ่มมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนา จากทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ
การเดินทางเข้ามาประเทศไทยของชาวตะวันตก ได้นำเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาด้วย
ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีชาวตะวันตกหลายชาติเดินทางเข้ามาติดต่อกับประเทศไทย ทั้งทูตานุทูต พ่อค้า และหมอสอนศาสนา กลุ่มหมอสอนศาสนาดังกล่าวที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนำศิลปวิทยาการตะวันตก และคริสต์ศาสนา เข้ามาเผยแผ่ ให้แก่คนไทย
หนังสือพิมพ์
จีนโนสยามวารศัพท์
มิชชันนารีที่มีบทบาทสำคัญมากคนหนึ่ง ชื่อ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ชาวอเมริกัน ซึ่งคนไทยเรียกกันว่า "หมอบรัดเล" เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ ในฐานะมิชชันนารีของสมาคมศาสนาแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า คณะ ABCFM (American Board of Commissioners for Foreign Missions) ซึ่งมีนโยบายส่งมิชชันนารีจำนวนมาก ไปเผยแผ่ศาสนา ในต่างแดน เมื่อหมอบรัดเลเรียนจบวิชาแพทย์ที่นครนิวยอร์ก ได้เข้าร่วมโครงการนี้ และเดินทางมาสู่กรุงสยามพร้อมภรรยา ชื่อ นางเอมิลี การเดินทางมาในครั้งนั้น หมอบรัดเลได้นำเอาแท่นพิมพ์ และตัวพิมพ์อักษรไทยที่มิชชันนารีชื่อ อาบีล (Mr. Abeel) ซื้อทิ้งไว้ ที่สิงคโปร์ เข้ามาด้วย ผลงานชิ้นแรกของหมอบรัดเล คือ สิ่งพิมพ์ทางคริสต์ศาสนา ซึ่งได้พิมพ์แจกจ่ายให้แก่ประชาชนจำนวนมาก ใน พ.ศ. ๒๓๘๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หมอบรัดเล ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกของกรุงสยาม คือ บางกอกรีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder) โดยออกเป็นรายปักษ์ แต่จำหน่ายได้เพียงปีเศษก็ล้มเลิกไป เนื่องจาก หมอบรัดเลเห็นว่า รัฐบาลไทยไม่สนับสนุน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๐๘ ตรงกับรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมอบรัดเลได้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนั้น ชาวตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุด เป็นจุดเปลี่ยนของสยาม" เพราะเป็นการนำเสนอทัศนะและมุมมองใหม่ๆ ในการมองโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เนื่องจากเวลานั้น ในสังคมไทยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากนัก สำหรับหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์นี้ หมอบรัดเล ใช้ชื่อว่า หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์ เพราะในเวลานั้น ยังไม่มีการใช้คำว่า "หนังสือพิมพ์" โดยอธิบายว่า บางกอกรีคอร์เดอร์รายงานเหตุการณ์ คล้ายจดหมายเหตุของไทยแต่ดั้งเดิม เพียงแต่บางกอกรีคอร์เดอร์ประกอบด้วยข่าวสั้นหลายๆ ข่าว ไม่เขียนยาวๆ เหมือนจดหมายเหตุ ดังนั้น หมอบรัดเลจึงเรียกว่า "จดหมายเหตุอย่างสั้น" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อหนังสือจดหมายเหตุประเภทนี้ว่า "หนังสือพิมพ์"
การออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกๆ ของหมอบรัดเลไม่สะดวกราบรื่นนัก เนื่องจากเสรีภาพในด้านการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองนั้น ค่อนข้างขัดแย้งกับระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่มีเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงมีบทบาทสำคัญ ในการผสมกลมกลืนทัศนะของชาวตะวันตกกับชาวตะวันออกให้เข้ากันอย่างเฉียบแหลมยิ่ง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ พระอนุชาต่างพระมารดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ผนวชอยู่ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ในขณะนั้น และต่อมา เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ และทรงส่งบทความไปตีพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่เนืองๆ เพื่อทรงอรรถาธิบายประวัติศาสตร์ และโบราณราชประเพณีของไทย นับเป็นการสานสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ โดยใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อกลางอย่างชาญฉลาด และทรงพระปรีชายิ่ง และเมื่อสยามมีโรงพิมพ์ของตนเอง ฝ่ายราชสำนักจึงเริ่มมีการตีพิมพ์หนังสือ เพื่อตอบโต้แนวคิดตะวันตก ในเชิงเหตุผล เช่น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีตีพิมพ์ หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ซึ่งรวบรวมแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ตั้งอยู่บนหลักการของเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาของคริสต์ศาสนาที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ล้าหลังสอนให้คนงมงาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ทรงออกหนังสือพิมพ์ชื่อว่า ดรุโณวาท ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรก ของคนไทยที่จัดทำและดำเนินการโดยคนไทย พิมพ์ออกจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ มีเนื้อหาสาระที่ทันสมัย แสดงความสามารถ และสติปัญญาของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ยุคนั้น เพื่อชี้ทิศทางของสังคมไทย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของหนังสือพิมพ์ โดยให้หนังสือพิมพ์มีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้ ทรงเป็นบรรณาธิการ และทรงอุปถัมภ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์ สยามออบเซอร์เวอร์ ไทย ดังนั้น ในสมัยนี้ จึงมีหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก รัชสมัยของพระองค์จึงได้รับการขนานนามว่า เป็น "ยุคทองของการหนังสือพิมพ์ไทย" นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อในการปกครอง โดยชี้ให้เห็นว่า สยามควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรเลียนแบบสังคมตะวันตก ซึ่งหลายอย่างไม่สามารถเข้ากันได้กับสังคมไทย ทรงชี้ให้เห็นความสำคัญ ของการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ และมีพระราชดำริว่า คนไทยต้องแก้ไขตนเอง โดยควรขยันทำงาน เลิกเล่นการพนัน มีการศึกษา ใช้สมองมากกว่ากำลังกาย ประพฤติตนเป็น "สุภาพบุรุษ" ไม่หยาบคาย และสตรีต้องมีสิทธิเท่าเทียมบุรุษ ทั้งยังทรงชี้ให้เห็นความจำเป็นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์เปรียบประดุจบิดาของราษฎร แต่กระแสแนวคิดตะวันตกในเวลานั้น ค่อนข้างรุนแรง คนไทยกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า "กลุ่มปัญญาชน" กลับมีแนวคิดว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเครื่องกีดกั้นความเจริญ โดยเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ หมอบรัดเลนำเสนอรูปแบบการปกครองแบบใหม่ในสังคมไทย กลุ่มปัญญาชนที่มีแนวคิดนี้ เช่น เทียนวรรณ ซึ่งใช้นามปากกาว่า "ต.ว.ส. วัณณาโภ" ได้ออกวารสารชื่อ ตุลวิภาคพจนกิจ รายปักษ์ และ ศิริพจนภาค รายเดือน เรียกร้องสิทธิในการพูด และให้นิยามความเจริญของสยามว่า คือ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ต่อมามีกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ยังเติร์ก" ใช้นิตยสาร ยุทธโกษ (หรือฉบับเดิมชื่อว่า ยุทธะโกษ) เป็นสื่อแสดงความเห็นใจประชาชนผู้ยากไร้ และให้นิยามความเจริญว่า คือ ประชาธิปไตย นอกจากนี้ นายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง ได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อว่า จีนโนสยามวารศัพท์ ตอกย้ำแนวคิดปฏิวัติแบบ ซุนยัดเซ็น ซึ่งมีอิทธิพลต่อปัญญาชนสมัยนั้นมาก
วารสาร ตุลวิภาคพจนกิจ
การต่อสู้ด้วยข่าวสารระหว่างราชสำนักกับสามัญชนดำเนินต่อไปอย่างยาวนาน จนกระทั่งคณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ และได้เป็นรัฐบาลปกครองประเทศ แต่ต่อมากลับใช้อำนาจในการปกครอง ทิ้งอุดมการณ์เสรีภาพ หันไปยึดลัทธิชาตินิยมและลัทธิผู้นำ มีการควบคุมและแสวงหาประโยชน์จากสื่อ สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร ถูกจำกัดยิ่งกว่าเดิม จนมาถึงสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์ถูกควบคุม จนไม่สามารถแสดงบทบาททางการเมืองได้ นักหนังสือพิมพ์หลายคนพยายามต่อต้านแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ "๑๔ ตุลา ๒๕๑๖" หนังสือพิมพ์จึงเริ่มมีเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน