เล่มที่ 37
หนังสือพิมพ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กำเนิดหนังสือพิมพ์

            มนุษย์มีสัญชาตญาณของการบอกข่าว ในสมัยโบราณมนุษย์แจ้งข่าวสารถึงกันด้วยการตีเกราะเคาะไม้ ตีระฆัง เป่าแตร เป่าเขา เป่าสังข์ ก่อไฟเพื่อส่งสัญญาณควันไฟ หรือแต่งบทเพลงร้องรำเพื่อบอกข่าวเล่าเรื่องราวที่ได้ไปประสบพบเห็นมา คณะละครสมัยโบราณที่เดินทางไปแสดงในเมืองต่างๆ ได้รู้เห็นเหตุการณ์หลากหลายที่เกิดขึ้น แล้วนำเหตุการณ์มาผูกเป็นเรื่องราว แสดงให้ผู้ชมได้ชม แม้กระทั่งวณิพกที่ร่อนเร่ไปตามแคว้นต่างๆ ก็นิยมผูกเรื่องราวเป็นบทเพลง แล้วขับร้องประกอบดนตรี เพื่อให้ผู้ฟังสนใจ และให้เงินรางวัล

            ครั้นเมื่อมนุษย์สามารถประดิษฐ์ตัวอักษรได้ จึงเขียนเล่าเรื่องราวลงบนกระดาษ ผ้า หรือวัสดุอื่น แล้วให้คนนำสาร ส่งไปยังผู้รับปลายทาง เรียกกันว่า "หนังสือข่าว" หรือ "จดหมายข่าว" ในยามที่บ้านเมืองเกิดภัยสงคราม เจ้าผู้ครองนครมักสั่งให้เจ้าหน้าที่เขียนประกาศข่าวสงคราม นำไปติดไว้ตามตลาดและถนนหนทางให้ประชาชนได้รับรู้ ประกาศข่าวสงครามที่เก่าแก่ที่สุด และยังคงมีหลักฐานเหลืออยู่จนทุกวันนี้ คือ Acta Diurna ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ ๔๙๔ ปี ก่อนพุทธศักราช

            ต่อมาใน พ.ศ. ๑๙๘๓ โยฮันน์ กูเทนแบร์ก (Johann Gutenberg) ชาวเยอรมัน ได้คิดประดิษฐ์แท่นพิมพ์ชนิดหมุนขึ้น เป็นแท่นพิมพ์ที่สามารถตีพิมพ์ได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีผู้นำมาใช้พิมพ์หนังสือข่าว ซึ่งรายงานเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว  หนังสือข่าวในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นำเสนอเรื่องราวที่ประชาชนสนใจ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม เรื่องไสยศาสตร์ ข่าวสงคราม โดยไม่มีวาระกำหนดออก จะพิมพ์จำหน่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ เท่านั้น


โยฮันน์ กูเทนแบร์ก และแท่นพิมพ์ชนิดหมุน

            การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ของกูเทนแบร์กนับว่า มีความสำคัญอย่างมาก เพราะในสมัยก่อนการเขียนข้อความข่าวสารทำได้ลำบาก และต้องใช้เวลามาก การสร้างเครื่องพิมพ์ที่สามารถตีพิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษได้วันละหลายพันแผ่น ทำให้สามารถผลิตหนังสือได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ความรู้ต่างๆ ซึ่งแต่เดิมมักถูกจำกัดอยู่ในแวดวงของพระสงฆ์ และขุนนางเท่านั้น ก็ได้แพร่กระจายออกไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงก่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ในระดับสูงมากยิ่งขึ้น

            ความรู้เรื่องการใช้แท่นพิมพ์แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากประเทศเยอรมนีไปสู่ประเทศอื่นๆ ในขณะที่แท่นพิมพ์ก็ได้รับการพัฒนา ให้มีศักยภาพสูงขึ้นไปอีกเป็นลำดับ ทำให้มีการตีพิมพ์เรื่องราวต่างๆ ออกเผยแพร่เป็นจำนวนมาก ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ ทวีปยุโรปเกิดความปั่นป่วนจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนา ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านเจ้าผู้ครองนครของตน เกิดการก่อกบฏ ปฏิวัติรัฐประหาร และสงครามนับครั้งไม่ถ้วน ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดสิ่งพิมพ์ชนิดหนึ่งเรียกกันว่า "หนังสือข่าว" ลักษณะคล้ายใบปลิวแผ่นเล็กๆ มี ๑-๒ หน้า จะออกต่อเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น สงคราม กบฏ อุบัติเหตุครั้งใหญ่ ภัยธรรมชาติ ประชาชนเรียกผู้ออกหนังสือข่าวว่า "ช่างพิมพ์" (printer) ซึ่งเป็นทั้งผู้เขียนข่าว ผู้เรียงพิมพ์ ผู้พิมพ์ โดยมีผู้ช่วยราว ๒-๓ คน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการใช้คำว่า "นักหนังสือพิมพ์"

หนังสือข่าวเหล่านี้ได้เปิดเผยเรื่องราวด้านลบของเจ้าผู้ครองนคร และข้อมูลความไม่ถูกต้องในการบริหารบ้านเมือง ทำให้เจ้าผู้ครองนครไม่พอใจ จับกุมช่างพิมพ์ไปลงโทษจำนวนมาก ช่างพิมพ์ต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมร่วมกับประชาชน อันเป็นที่มาของอุดมการณ์หนังสือพิมพ์ ในเวลาต่อมา  


เทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่ สามารถตีพิมพ์หนังสือได้วันละหลายแสนฉบับ


            ความเจริญด้านการศึกษาในทวีปยุโรป ทำให้ผู้อ่านออกเขียนได้มีจำนวนมากขึ้น ผู้อ่านหนังสือข่าวจึงเพิ่มขึ้นจำนวนมากด้วย ขณะเดียวกันการค้าขาย ความขัดแย้ง และสงครามก็ทำให้หนังสือข่าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มใช้คำว่า "หนังสือพิมพ์" (newspaper) และออกเป็นวาระ โดยเจ้าของโรงพิมพ์จะมีการประกาศล่วงหน้าว่า จะออกหนังสือพิมพ์เป็นรายปี รายเดือน รายปักษ์ หรือรายวัน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "วารสาร" (periodical หรือ journal) ในเวลาต่อมา

            ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เทคโนโลยีการพิมพ์ได้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น จากที่เคยพิมพ์ได้วันละเป็นพันฉบับหรือหมื่นฉบับ ก็สามารถพิมพ์ได้ถึงวันละเป็นแสนฉบับ การมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะรู้เห็นความเป็นไปของบ้านเมืองนี้ มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์กลายเป็นตัวแทนของประชาชน และต่อสู้เพื่อประชาชน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้นั้น หนังสือพิมพ์ต้องมีเสรีภาพ ดังนั้นการประกันสิทธิเสรีภาพจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตยนับแต่นั้นมา

            ในขณะเดียวกันนั้น ความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าของชาติตะวันตกในสมัยล่าอาณานิคม ทำให้หนังสือพิมพ์เป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวเศรษฐกิจการค้า ประกอบกับการเกิดยุคอุตสาหกรรม ทำให้ชนชั้นแรงงานเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิต ฉะนั้น เพื่อให้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อ ที่เข้าถึงประชาชนได้ทุกชนชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมกรและเกษตรกรที่ยากจน หนังสือพิมพ์จึงต้องมีราคาถูก ซึ่งทำได้ โดยการหาโฆษณาเพิ่มรายได้ของตน

            การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้หนังสือพิมพ์เข้ามามีบทบาทสำคัญ ต่อสังคมประชาธิปไตย โดยทำหน้าที่สะท้อนปัญหาของสังคม และเป็นตัวแทนของประชาชน นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า หนังสือพิมพ์มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปได้ยาวนาน อีกทั้งเรื่องราวในหนังสือพิมพ์ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น หนังสือพิมพ์ จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น "สื่อมวลชน" ชนิดแรกของโลก ด้วยบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ความหมายของหนังสือพิมพ์จึงมีนัยแฝงที่มากกว่า สื่อที่ได้รับการตีพิมพ์ แต่ยังหมายถึง สิ่งพิมพ์ที่เป็นกลไกของสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอีกด้วย