เล่มที่ 37
หนังสือพิมพ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ในสังคมเสรี

            เนื่องจากหนังสือพิมพ์เป็นสื่อเพื่อประชาชน จึงต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเพื่อให้หนังสือพิมพ์สามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาลหรือองค์กรอื่นใด หนังสือพิมพ์จึงต้องมีเสรีภาพ แต่เสรีภาพนั้นจะต้องมีความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย ซึ่งความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์มี ๓ ประเภท คือ

๑. ประเภทคำสั่ง

            ในสังคมเผด็จการ หนังสือพิมพ์ต้องรับคำสั่งจากรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าหนังสือพิมพ์เป็นเพียงแขนขาของรัฐบาลเท่านั้น แต่ในสังคมประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพมากขึ้น แต่ก็ยังต้องรับคำสั่งห้ามมิให้ทำการบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดผลเสีย หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมจรรยา

            นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ต้องรับคำสั่งภายในองค์กรเพื่อการบริหารงาน เช่น บรรณาธิการสั่งให้นักข่าวไปหาข่าว ส่วนบรรณาธิการต้องทำตามนโยบายของผู้บริหาร ถือเป็นความรับผิดชอบต่อหน้าที่ภายในองค์กร เพื่อให้การบริหารงานของสำนักพิมพ์เป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ

๒. ประเภทพันธสัญญา   

            ความรับผิดชอบประเภทนี้มีทั้งแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ถ้ามีการลงนามในเอกสารสัญญาก็ถือว่า มีพันธะอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการยอมรับที่จะปฏิบัติและรับผิดชอบต่อข้อผูกพันอันเกิดจากคำมั่นสัญญานั้น ส่วนพันธสัญญาแบบไม่เป็นทางการ หมายถึง การมีผู้ให้สัญญาและผู้รับสัญญา แต่ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

            ในกรณีของนักหนังสือพิมพ์ ย่อมมีภาระผูกพันกับพันธสัญญาทั้งแบบแรกและแบบหลัง เช่น นักหนังสือพิมพ์ต้องลงนามในสัญญา กับองค์กรที่ตนสังกัดอยู่ และในขณะเดียวกัน ก็ต้องตระหนักถึงพันธสัญญาทางใจ ที่นักหนังสือพิมพ์มีต่อประชาชนว่า จะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์และเที่ยงธรรม เพื่อสนองประโยชน์ของประชาชน
            

พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือน.ม.ส.


๓. ประเภท "สัญญากับเบื้องลึกแห่งจิตวิญญาณของตน"

            นักหนังสือพิมพ์ที่มีความรับผิดชอบประเภทนี้ จะต้องตระหนักว่า ตนเองมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยจิตวิญญาณ ไม่หวั่นไหวต่ออามิสสินจ้างใดๆ ทั้งสิ้น

            นักหนังสือพิมพ์อาวุโสได้กล่าวถึงบทบาทของหนังสือพิมพ์ต่อสังคมไว้ ดังนี้

เสฐียร   พันธรังษี กล่าวว่า

            "นักหนังสือพิมพ์ต้องมีมโนธรรม มีสำนึกแห่งความรับผิดชอบชั่วดีต่อตนเองหรือบุคคลอื่น มีหิริโอตตัปปะ คือ ความละอายต่อบาป และความหวาดเกรงผลแห่งความชั่ว"

ม.ร.ว. นิมิตรมงคล   นวรัตน กล่าวว่า

            "กำไรจูงใจให้มนุษย์ทำงานด้วยความคดโกง เมื่อหนังสือพิมพ์พยายามขายข่าวให้ได้กำไรมากๆ เมื่อนั้น ข่าวก็ไม่จำเป็นต้องตรงกับความเป็นจริง"

สุภา   ศิริมานนท์   กล่าวว่า

            "นักหนังสือพิมพ์จะต้องไม่เหมือนพ่อค้า หรือผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ความสำเร็จของเขาวัดด้วยเกียรติยศ ไม่ใช่วัดด้วยเงิน หนังสือพิมพ์ทั้งหลายย่อมถือเอาสาธารณประโยชน์เป็นธรรมจริยา แต่ถ้าเมื่อไรหนังสือพิมพ์ถือปัจเจกประโยชน์  แล้วทำข่าว เพื่อหลอกลวงประชาชน เพื่อให้ตายใจและเห็นดีเห็นงามคล้อยตามไปด้วย หรือให้ตื่นตระหนก เพื่อให้เอกชนหรือร้านค้าได้ประโยชน์ เมื่อนั้นแล้ว ระฆังแห่งชั่วโมงที่เศร้าสลดที่สุดก็จะย่ำขึ้น"

            พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. รับสั่งว่า

            "หนังสือพิมพ์มีชีวิตอยู่ในที่เปิดเผย จะทำดีก็ตาม จะทำเลวก็ตาม ต้องเปิดให้ประชาชนเห็นความดีความเลวอยู่ทุกวัน เมื่อหยุดเปิดเผยตน ก็หยุดเป็นนักหนังสือพิมพ์ งานหนังสือพิมพ์เป็นงานของนักปราชญ์ เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องทำด้วยปัญญา"

            จะเห็นได้ว่า วิชาชีพหนังสือพิมพ์ผูกพันอยู่กับความรับผิดชอบต่อสาธารณชนอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ นักหนังสือพิมพ์ที่แท้จริงจะต้องมีจิตวิญญาณแห่งศีลธรรม และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง