เทคโนโลยีกับการปรับตัวของหนังสือพิมพ์
ในปัจจุบันมีการเติบโตของเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม เครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง และอินเทอร์เน็ต ตลอดจนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ทำให้หนังสือพิมพ์ต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่
หนังสือพิมพ์ได้ปรับรูปแบบการจัดหน้าและภาพของตนให้น่าอ่านด้วยเทคนิคที่เรียกว่า อินโฟกราฟิก (infographic) หมายถึง การนำภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์มาใช้ในการอธิบายเรื่องราวที่เข้าใจยาก เช่น ในบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจหรือการเมือง นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ตยังทำให้เกิดสื่อประเภทใหม่ขึ้นมา เรียกว่า สื่อออนไลน์
อ่านข่าวจากไอแพด (iPad)
สื่อออนไลน์เกิดขึ้นมาด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี เป็นสื่อที่มีทั้งตัวอักษรและภาพ ที่เผยแพร่อย่างรวดเร็วไปได้ทั่วโลก และเนื้อหายังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ปัจจุบัน ข่าวสารต่างๆ สามารถหาอ่านได้อย่างรวดเร็วผ่านทางหนังสือพิมพ์ออนไลน์ หรือนิตยสารออนไลน์ โดยการเข้าไปในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ที่ต้องการ นอกจากจะอ่านข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกันในกระดานข่าว (webboard) ของหนังสือพิมพ์ได้ด้วย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวิธีการแสวงหาข่าวสารของประชาชน จากเดิมที่อ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้า และดูข่าว จากโทรทัศน์ในตอนเย็น ก็เปลี่ยนเป็นการหาข่าวสารจากสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถเลือกเว็บไซต์ได้หลากหลายตลอดเวลา และยังเชื่อมต่อถึงกัน ทำให้การหาข่าวยิ่งง่ายมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญๆ ในระดับโลก เช่น สงคราม หรือภัยพิบัติต่างๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลของเหตุการณ์ ที่ตนเองสนใจ ได้จากสื่อออนไลน์ทั่วโลก ทำให้ประชาชนมีความรู้อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นสังคมแห่งความรู้อีกทางหนึ่ง
การที่ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวสารได้จากแหล่งข้อมูลทั่วโลก ทำให้ระบบวารสารศาสตร์ต้องเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่หนังสือพิมพ์เป็นผู้กลั่นกรองข่าวสารนำเสนอต่อประชาชน ปัจจุบัน ประชาชนกลับเป็นผู้เลือกว่า จะตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร จากสื่อใด ในอนาคตเมื่อเกิดสื่อใหม่ๆ ที่พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก จนถึงในระดับที่สามารถรวมสื่อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ เข้าไว้ด้วยกันในสิ่งประดิษฐ์ขนาดเล็กๆ ที่สามารถพกพาไปได้ทุกหนทุกแห่ง สภาพสังคมก็จะเปลี่ยนแปลงไปจนไม่อาจคาดคะเนได้
อ่านข่าวจากโทรศัพท์มือถือ
เทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือ ข้อมูลข่าวสารสามารถกระจายไปอย่างกว้างขวาง และรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือ ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น คนยากจน หรือชาวป่าชาวเขา ที่อยู่ห่างไกล จะเสียเปรียบ เพราะไม่สามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันกาล นอกจากนั้น การที่ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นในสื่อได้ แม้จะมีข้อดีคือ ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในเหตุการณ์ต่างๆ แต่ก็มีข้อเสียคือ ผู้ที่ไม่มีจิตสำนึกอาจใช้เป็นช่องทางใส่ร้ายผู้อื่น หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น นำภาพที่เป็นส่วนตัวมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต หรือเข้าไปใช้ข้อมูลส่วนตัว ของผู้อื่น และยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยียังทำให้เกิดความเหลื่อมซ้อนระหว่าง โลกที่ "เสมือนจริง" (virtual) กับโลกของความเป็นจริง ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น เด็กเข้าไปเล่นเกมในอินเทอร์เน็ตแล้ว ไม่สามารถแยกออกได้ว่า โลกในเกมกับโลกในความเป็นจริงแตกต่างกันอย่างไร ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
ปัญหาดังกล่าวนี้กำลังคุกคามทุกประเทศทั่วโลก ทำให้ทุกสังคมต้องพยายามกำหนดแนวทางปฏิบัติตามสภาพสังคม และวัฒนธรรมของตน เพื่อให้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และนำไปสู่สังคมแห่งความรู้ ที่มีคุณภาพยิ่งต่อไป
สรุปได้ว่า หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งพิมพ์ชนิดหนึ่ง ที่มีรากฐานมาจากสังคมตะวันตก และได้ผ่านกระบวนการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน หนังสือพิมพ์จึงมิใช่เป็นเพียงกระดาษที่ได้รับการตีพิมพ์เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อการตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของประชาชนอีกด้วย วิวัฒนาการของหนังสือพิมพ์ ดำเนินควบคู่ไปกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี จนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งหนังสือพิมพ์จะต้องมีการพัฒนา เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด