เล่มที่ 3
ยางพารา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การบำรุงรักษาสวน

            ต้นยางเป็นไม้ยืนต้น สามารถให้น้ำยางแก่เจ้าของ สวนยางได้เป็นเวลานานไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี แต่ถ้าไม่บำรุงรักษาต้นยางให้เจริญเติบโตแข็งแรงเต็มที่เสียตั้งแต่อายุยังน้อยๆ แล้ว ต้นยางจะกลายเป็นต้นยางที่แคระแกร็น หรือพิการ ไม่สามารถให้น้ำยางได้เต็มที่ น้ำยางที่เจ้าของสวนยางควรจะได้รับ จะได้น้อยกว่าที่ควรได้ไปตลอดกาล นอกจากนั้น แทนที่ต้นยางจะโตได้ขนาดกรีด เมื่ออายุ ๕ หรือ ๖ ปีบริบูรณ์ จะต้องขยายเวลาออกไปเป็นปีที่ ๘-๙ หรือกว่านั้น จึงจะกรีดได้ ทำให้ขาดรายได้ ฉะนั้น การบำรุงรักษาสวนยางในระยะแรก จึงเป็นงานที่สำคัญยิ่ง และเมื่อต้นโตได้ขนาดกรีดแล้ว ถ้าบำรุงรักษาดีก็จะได้น้ำยางมากอยู่เสมอ ในการบำรุงรักษานั้นมีข้อที่ควรปฏิบัติ คือ

            (๑) การปราบวัชพืช
            (๒) การให้ปุ๋ย
            (๓) การตัดแต่งต้น
            (๔) การคัดเลือกต้นเลวออก
            (๕) การป้องกันดินถูกชะล้าง
            (๖) การป้องกันและกำจัดโรคและศัตรูพืชของต้นยาง

ซึ่งจะได้กล่าวเป็นข้อๆ พอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้

๑. การปราบวัชพืช

            ต้นยางอ่อนที่ปลูกในสวนจะเจริญได้รวดเร็วเต็มที่ จะต้องไม่มีพืชอื่นมารบกวน หรือแย่งอาหาร ฉะนั้น จะต้องระวังรักษาอย่าให้วัชพืช หรือพืชคลุมขึ้นรบกวน ต้นยางในรัศมีอย่างน้อย ๑ เมตรจากโคนต้นยางเป็นอันขาด การบำรุงรักษาต้นยางจะได้ผลดียิ่งขึ้น ถ้าปราบวัชพืชที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ในสวนนั้น ออกเสียให้หมด เช่น หญ้าคา ซึ่งนับว่า เป็นศัตรูสำคัญสำหรับต้นยางและพืชทุกชนิด จะต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป ส่วนวัชพืชอื่น ถ้าไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ จะต้องหวดด้วยมีดหวดให้ต่ำอยู่เสมอ อย่าให้สูงจากพื้น ดินเกินกว่า ๕๐ เซนติเมตร วิธีที่ดีที่สุด ควรปราบวัชพืชทุกชนิดเสียให้หมด ถ้าใช้ยากำจัดวัชพืช วัชพืชจะไม่ขึ้นไปหลายเดือน เป็นวิธีปราบที่ถูกกว่าค่าจ้างแรงงานมาก แล้วปลูกพืชคลุมตระกูลถั่วลงแทน คือ ต้นถั่ว เซ็นโทรซิมา เปอลาเรีย และคาโลโปโกเนียม ฯลฯ ซึ่งเป็นไม้เลื้อยคลุมดินไว้ พืชคลุมดังกล่าวนี้ จะช่วยคลุมดิน รักษาความชื้นไว้ และตัวมันเองยังสามารถเพิ่มอาหารธาตุต่างๆ ให้ด้วย หญ้าและวัชพืชที่พยายามจะงอก หรือแทงยอดขึ้นมา จะถูกพืชคลุมตระกูลถั่วดังกล่าวนี้ พันฉุดลงมา เจริญงอกงามต่อไปไม่ได้ เนื่องจากพืชคลุม ๓ ชนิดข้างต้น มีอายุไม่เท่ากัน ความเจริญเติบโตก็ไม่เท่ากัน ควรจะใช้ปลูกให้ขึ้นปนกันไป จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน ช่วยให้อายุยาวออกไปอีก ส่วนผสม ถ้ามีทั้ง ๓ อย่างหรือมีเพียง ๒ อย่าง ควรใช้ดังนี้


            เนื่องจากเมล็ดพืชคลุมเหล่านี้มีเปลือกนอกแข็งมาก เพื่อช่วยให้งอกง่ายเข้า ให้ใช้น้ำร้อนที่เดือดแล้ว ๒ ส่วน กับน้ำเย็น ๑ ส่วนผสมกัน แช่เมล็ดไว้ประมาณ ๑๒ ชั่วโมง หรือ ๑ คืน แล้วจึงนำไปปลูก ขณะที่ต้นยาง ยังเล็กไม่เกิน ๓ ๑/๒ ปี แทนที่จะปลูกพืชคลุมดินกลับปลูก พืชแซม เช่น กล้วย สับปะรด ตะไคร้ ผัก ฯลฯ ที่ได้รับ ผลเร็ว เป็นการหารายได้ระหว่างที่ต้นยางยังเล็กก็ได้ แต่ต้องระวังอย่าให้พืชแซมอยู่ใกล้ต้นยาง จะต้องอยู่ห่างจากแถวต้นยาง ๑.๕ เมตร เป็นอย่างน้อย

            ถ้าเห็นว่าฝนตกไม่ใคร่จะแน่นอน เมื่อเมล็ดงอก แล้วฝนไม่ตก เมล็ดที่งอกจะตายเสียหมด จะแช่เมล็ด ในน้ำร้อนเพียงครึ่งเดียว แล้วเอามาผสมกันกับเมล็ดที่ยังไม่ได้แช่อีกครึ่งหนึ่งก็ได้ เมล็ดที่งอกแล้วถ้าตายก็ยัง มีเมล็ดที่งอกช้าเหลืออยู่อีก การปลูกควรใช้วิธีฝังไว้ตื้นๆ เป็นหย่อมๆ ละ ๓-๔ เมล็ด แต่ให้เป็นแถวห่างกันประมาณ ๑ เมตร ดีกว่าวิธีหว่าน การหว่านอาจทำให้เมล็ดเสียหายมาก เพราะเมื่อฝนตกอาจถูกน้ำพัดพาไปหมด

การปลูกพืชจำพวกไม้เลื้อยตระกูลถั่วคลุมดิน เพื่อป้องกันวัชพืช
ซึ่งจะช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชตลอดเวลา ๔-๕ ปี จนถึงอายุที่จะกรีดเอาน้ำยางได้

๒. การให้ปุ๋ย

            การให้ปุ๋ยถือว่า จำเป็นมาก เพื่อให้ต้นยางเล็ก สมบูรณ์เต็มที่ จะได้แข็งแรงต่อสู้ศัตรูพืชและโรคอันอาจจะเกิดขึ้นที่ใบ หรือที่รากได้ ถ้าต้นยางโตได้เร็ว ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาจะลดน้อยลง และจะกรีดยางทำรายได้เร็วขึ้น ปุ๋ยจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการปลูกต้นยางอย่างยิ่ง กำหนดเวลาที่ควรใส่ปุ๋ย และจำนวนปุ๋ยที่จะต้องใช้นั้น กองการยาง กรมวิชาการเกษตร กำลังทดลองอยู่หลายสูตร ส่วนสูตรที่กองการยางแนะนำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสูตรของสถาบันวิจัยการยาง มาเลเซีย แนะนำให้ใช้ไปพลางก่อนดังนี้ฃ

สูตรปุ๋ยผสมสำหรับสวนยางพารา

ตามสูตรข้างต้น

            N ต้องใช้ซัลเฟตออฟแอมโมเนียม ๒๑%
            P2O5 ต้องใช้ร็อคฟอสเฟต ๓๖%
            K2O ต้องใช้มิวริเอตออฟโพแทส ๖๐%
            MgO ต้องใช้คีเซอไรต์ ๒๖%

            นอกจากปุ๋ยตามสูตรข้างต้นนี้ ยังมีสูตรปุ๋ยเม็ด หรือปุ๋ยสำเร็จรูป สำหรับใช้กับต้นยาง มีขายอยู่ในตลาดอีกบ้าง แต่ทางราชการยังมิได้ทดลองว่า จะดีมากน้อยเพียงใด

            สูตรของปุ๋ยข้างต้นนั้น ให้ทราบพอเป็นแนวเท่านั้น ไม่จำเป็นจะต้องใช้สูตรที่กล่าวมาแล้วเสมอไป เพราะที่ดินทุกแห่งไม่เหมือนกัน การให้ปุ๋ยจึงอาจจะเปลี่ยนแปลง เพิ่ม หรือลดให้เหมาะสมกับดินได้

สวนยางขนาดเล็กในระยะที่ต้นยางยังกรีดเอาน้ำยางไม่ได้
ชาวสวนจะปลูกพืชแซมที่ได้ผลเร็ว เช่น สับปะรด ผัก เพื่อหารายได้
โดยจะปลูกห่างจากแถวต้นยางไม่น้อยกว่า ๑.๕ เมตร

            วิธีใส่ปุ๋ย ถ้าเป็นปุ๋ยผสมตามสูตรข้างต้น ภายใน สามปีแรก ใส่โดยวิธีหว่าน ภายในวงกลมใต้พุ่มใบของต้นยาง ถ้าต้นยางที่ปลูกไว้อายุ ๒-๔ เดือน วงกลมดังกล่าว ควรจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๐ เซนติเมตร เมื่อต้นยางโตมากยิ่งขึ้น ให้ใส่ปุ๋ยแผ่ขยายกว้างขึ้น และเมื่อต้นยางอายุ ๓ ปี ขนาดวงกลมที่หว่านปุ๋ยออกไป ควรจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๒ เมตร ปุ๋ยที่หว่านไปรอบๆ ต้นยางดังกล่าวนี้ อย่าให้ถูกใบหรือลำต้น และให้ใช้คราดหรือจอบสับเบาๆ เพื่อให้ปุ๋ยคลุกปนกับหน้าดิน หากฝนตกลงมาจะได้ไม่ไหลไปตรงที่จะใส่ปุ๋ย ต้องปราบวัชพืช หรือพืชคลุมให้หมดเสียก่อน

            สำหรับต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ ๔ ปีขึ้นไป ให้ใส่ปุ๋ย โดยวิธีฝังในหลุม โดยใช้จอบขุดรอบๆ ใกล้ๆ แนวชายพุ่มของต้นยาง และอย่าให้ชิดโคนต้นยาง หรือจะหว่านไปตามชายพุ่มต้นยางก็ได้ การใส่ปุ๋ยสำเร็จ ก็ให้ใช้ทำนองเดียวกันกับใส่ปุ๋ยผสม

๓. การตัดแต่งต้น

            ต้นยางที่ดี และง่ายแก่การกรีด ต้องเป็นต้นยางที่มีลำต้นกลมและตรง และที่ลำต้นตั้งแต่โคนขึ้นไป จนถึงระยะสูงประมาณ ๒-๒.๕ เมตร ต้องไม่มีกิ่งหรือแผล หรือตาเป็นปมขนาดใหญ่ปรากฏอยู่เลย ฉะนั้น การตัดแต่งลำต้น จะต้องพยายามเอาใจใส่ กระทำในขณะที่ต้นยางยังเล็กอยู่

สวนยางขนาดเล็กในระยะที่ต้นยางยังกรีดเอาน้ำยางไม่ได้ ชาวสวนจะปลูกพืชแซมที่ได้ผลเร็ว เช่น สับปะรด ผัก เพื่อหารายได้ โดยจะปลูกห่างจากแถวต้นยางไม่น้อยกว่า ๑.๕ เมตร

            สำหรับต้นกล้า จะต้องระวังให้ลำต้นสูงชะลูดขึ้น โดยไม่มีกิ่งแยกออกไป คอยหมั่นตรวจดู และตัดแขนงที่งอกใหม่ (ถ้ามี) ออกเสีย ส่วนต้นติดตาจะต้องคอยตรวจดูในระยะ ๖ เดือนแรก อย่าให้มีแขนงแตกออกจากต้นตอเดิมได้ ถ้ามีให้ใช้มีดคมๆ ตัดออก และปล่อยให้แขนงที่เกิดจากตาที่ติดไว้ เจริญเพียงแขนงเดียวเท่านั้น

๔. การคัดต้นเลวออก

            โดยปกติการปลูกต้นยางซึ่งเกิดจากเมล็ด จะปลูกลงไว้ในระยะแรกไร่ละประมาณ ๘๐ ต้น ถ้าเป็นต้นติด ตาจะปลูกลดจำนวนลงเล็กน้อย เพียงไร่ละประมาณ ๗๐ ต้น ที่ปลูกไว้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ เป็นการปลูกเผื่อเลือก เพื่อต้องการคัดเลือกเอาแต่เฉพาะต้นที่ดีจริงๆ จึงมีต้นยางที่จะต้องคัดทิ้ง เป็นจำนวนไร่ละประมาณ ๒๐-๓๐ ต้น บางคนเข้าใจผิดว่า ถ้ามีต้นยางมากต้นยิ่ง จะได้น้ำยางมากขึ้น อาจเป็นความจริงสำหรับระยะแรกๆ เท่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับที่ดินที่เปิดป่าใหม่ๆ แต่ต่อไปไม่นาน ต้นยางทุกต้นจะให้น้ำยางลดน้อยลง อาจกล่าวได้ว่า การกรีดยางจากไร่หนึ่ง ที่มีต้นยาง ๕๐ ต้น จะได้น้ำยางมากพอๆ กันกับไร่ที่มีต้นยาง ๗๐ ต้น เมื่อเป็นดังนี้ ไร่ที่มีต้นยางกรีด ๗๐ ต้น จะเสียแรงเสียเวลาในการกรีดเพิ่มขึ้นอีก ๒๐ ต้น เปล่าๆ สวนยางที่ไม่คัดต้นเลวออกตั้งแต่ต้นยางยังกรีดไม่ได้ จะทำให้ต้นยางแต่ละต้นเจริญเติบโตช้า ให้น้ำยางน้อยกว่าสวนยางที่คัดต้นเลวออก ตั้งแต่ต้นยังเล็ก และที่สำคัญที่สุด เปลือกที่กรีดแล้วจะงอกช้า และบางกว่าต้นยางในสวนที่คัดต้นเลวออกอีกด้วย ทำให้การกรีดรอบที่ ๒ ยากลำบากขึ้น

การใส่ปุ๋ยต้นยาง (ต้นยางอายุประมาณ ๔ ปี)

ในการคัดเลือกต้นยางที่เลวออก ควรจะทำ เป็น ๒ ระยะดังนี้

            (๑) ก่อนที่ต้นยางจะโตได้ขนาดกรีด ถ้าเป็น ต้นกล้ายางพันธุ์ดี จะต้องคัดเลือกเอาต้นยางที่เจริญเติบโตช้า แคระแกร็น สูงชะลูด หรือต้นที่เป็นโรคออก ให้เหลือแต่ต้นที่สมบูรณ์ไว้กรีดไร่ละประมาณ ๕๕- ๖๐ ต้น ถ้าเป็นต้นติดตาให้คัดออกให้เหลือเพียงไร่ละ ๕๕ ต้น ทั้งนี้ให้เริ่มทำการคัดเลือกตั้งแต่ต้นยางอายุ ๓ ปีขึ้นไป และการคัดเลือกควรทำพร้อมกันทั้งสวน

            (๒) เมื่อเริ่มกรีดยางแล้วให้คัดเลือก โดยถือเอาการให้น้ำยางเป็นเกณฑ์ ต้นใดให้น้ำยางน้อยผิดปกติให้คัด ออก การคัดออกให้เริ่มทำเรื่อยๆ ไปจนถึงปีกรีดปีที่ ๔ และในปีกรีดปีที่ ๔ นี้เอง ต้นยางในสวนไม่ว่าจะเป็นต้นที่เป็นต้นกล้า หรือเป็นต้นติดตาจะต้องเหลือ จำนวนต้นเพียงไร่ละ ๕๐ ต้น

๕. การป้องกันดินถูกชะล้าง

            ที่ดินที่โค่นไม้ใหญ่ลงแล้ว ทำให้ที่ดินถูกเปิดออก เป็นที่โล่งแจ้ง ไม่ได้รับการป้องกันจากแสงแดดหรือฝน อีกต่อไป ในเวลากลางวันจะร้อนจัด แดดเผาเอาความชื้นออกไปจากดิน พื้นดิน ซึ่งแต่เดิมมีสภาพโปร่ง เมื่อฝนตกลงมา น้ำฝนจะค่อยๆ ไหลลงมาจากใบไม้ที่ปกคลุมอยู่ ซึมเก็บไว้ แล้วจะซึมต่อไปสู่พื้นดินชั้นล่าง เมื่อเป็นที่โล่งแจ้ง ฝนตกกระทบกับพื้นดินโดยตรง ดินจะแน่น และยุบตัวจนน้ำฝนซึมลงไปได้ยาก น้ำฝนจึงไม่มีโอกาสที่จะซึมลงไปสู่พื้นดินชั้นล่างได้มากเหมือนแต่ก่อน น้ำที่เหลือก็จะไหลไปสู่ที่ต่ำต่อไปอย่างรวดเร็ว และจะชะล้างดินและวัตถุที่เป็นอาหารของพืชไปด้วย ผิวดินใต้ต้นยางจะค่อย ๆ หมดไป รากต้นยางจะลอยอยู่เหนือพื้นดิน เมื่อดินได้ถูกชะล้างอยู่เช่นนั้นเรื่อยๆ จะทำให้ดินรวมกันไม่อยู่ และพังทลายลงได้ ต้นยางจะล้มลงไปด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องหาวิธีป้องกันในเรื่องนี้ไว้เสีย แต่ต้นมือ

วิธีที่จะช่วยป้องกันในเรื่องนี้ได้ มีดังนี้

            (๑) ในที่ลาดเอียง เช่น บนเนินหรือควน ควรกำจัดวัชพืชเท่าที่จำเป็นจริงๆ เพื่อให้วัชพืชที่คลุมดินอยู่เดิมเจริญงอกงาม และยึดดินไว้

ต้นยางติดตาด้วยยางพันธุ์ดี อายุประมาณ ๑ ปี สามารถเจริญเติบโตดีมาก

            (๒) ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีความลาดเอียงไม่มากนัก และมีวัชพืชอยู่ไม่มากเกินไป ควรทำลายวัชพืชที่มีอยู่เสียก่อน แล้วปลูกพืชคลุมดินโดยเร็ว และควรทำคู และคันขวางดักไว้เป็นระยะๆ เพื่อมิให้น้ำที่ไหลลงมา ไหลลงไปยังที่ต่ำได้เร็วเกินไป วิธีนี้จะช่วยให้น้ำที่ขังไว้เป็นระยะๆ ได้มีโอกาสซึมลงไปยังส่วนลึกของดินชั้นล่างได้

            (๓) ถ้าเป็นพื้นที่ค่อนข้างชัน ควรทำชานดินเป็นขั้นๆ แต่ละขั้นให้มีความกว้างประมาณ ๑.๕ - ๒ เมตร และให้ลาดเอียงเข้าไปทางตัวเนินหรือควน ที่ขอบด้านนอก ควรพูนดินให้สูงเป็นคันเตี้ยๆ กันน้ำไม่ให้ไหลเซาะ ลงทางด้านนอก เป็นการบังคับน้ำให้ซึมลงทางด้านใน

            (๔) จัดทำทางระบายน้ำ เมื่อเตรียมดินก่อนจะปลูกต้นยาง ควรจะรู้ว่าทางใดสูง ทางใดต่ำ ให้ทำทางระบายให้น้ำไหลไปสู่ที่ต่ำ ตรงที่ลุ่มจะต้องระวัง อย่าให้น้ำขังแช่ต้นยางไว้นานๆ อาจทำให้ต้นยางตายได้ ทางน้ำควรจะขุดเป็นร่องหรือคู ให้น้ำไหลไปได้สะดวก ทางระบายน้ำที่กล่าวนี้ มิใช่มุ่งจะพยายามให้น้ำออกไป ให้พ้นจากสวนยางโดยเร็ว ควรจะต้องพิจารณาหาทาง ให้น้ำซึมลงไปในใต้พื้นดินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่ควรจะให้น้ำขังเป็นแห่งๆ จะทำให้เป็นที่เพาะยุง ซึ่งอาจจะนำเชื้อไข้มาเลเรียมาให้ได้

การกรีดยางที่ไม่ระมัดระวัง ทำให้กรีดลึกเลยเปลือก จนต้นยางเป็นแผลเปลือกไม่เรียบ กรีดซ้ำอีกไม่ได้ ทำให้เกิดโรคเปลือกเน่า เนื่องจากติดเชื้อราดังในภาพ ถ้าไม่รักษาต้นยางอาจตายได้

๖. การป้องกันโรคและศัตรูของต้นยาง

            โรคที่อาจเกิดแก่ต้นยางนั้นมีอยู่หลายอย่าง และในอายุต่าง  กัน อาจเกิดได้ทั้งที่ใบ กิ่ง ลำต้น และราก โรคส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อราชนิดต่างๆ และสัตว์อีกหลายชนิดที่เป็นศัตรูของต้นยาง คือ

            (๑) โรครากขาว (white root disease) เกิดที่ราก เนื่องจากรา ไรกิโดพอรัส ลิกโนซัส (Rigidoporus lignosus) ถ้าขุดจะเห็นเป็นเส้นขาวเกาะอยู่ตามราก ทำให้รากเน่า และต่อไปอาจทำให้ต้นยางตายได้ ราชนิดนี้คล้ายกับราสีขาว ซึ่งขึ้นอยู่ตามต้นไม้ผุทั่วไป มีข้อที่แตกต่างกัน คือ ราชนิดหลังดึงออกได้ง่าย ส่วนราโรครากขาวติดแน่นอยู่กับราก และแทรกตัวเข้าไปในรากด้วย

            (๒) โรครากแดง (red root disease) เกิดที่ราก เนื่องจากรา กาโนเดอร์มาซูโดเฟอร์เรียม (Ganoderma pseudoferreum) ตรงที่เกิดโรคจะมีสีครีม และ สีแดง

            (๓) โรครากเหลือง (brown root disease) เกิดจากรา เฟลลินัส น็อกซิอัส (Phellinus noxius) มีลักษณะคล้ายโรครากขาว ผิดแต่สีเป็นสีน้ำตาล และเมื่อเกาะอยู่นานเข้า สีจะกลายเป็นสีดำ

ต้นยางเป็นโรคใบร่วง (ไฟทอพทอรา) กิ่งยอดแห้งอาจถึงตายได้

            โรครากทั้ง ๓ ชนิดนี้ โรครากขาวเป็นอันตรายมากที่สุด เพราะโรครากขาวเจริญ และระบาดไปเร็วมาก ถ้าเกิดแก่ต้นที่ยังเล็กอยู่ ให้เอาราก และส่วนอื่นๆ ที่เป็นโรค เผาทำลายให้หมด

            (๔) โรคใบยางเป็นรูไหม้ (bird's eye spot) เกิดจากรา เฮลมินทอสโพเรียม ฮีเวีย (Helminthosporium heveae) มักเกิดขึ้นทั่วไปกับใบอ่อนของต้นยางอ่อน อายุไม่เกิน ๒ ปี โรคชนิดนี้สังเกตได้จากใบ ซึ่งปรากฏเป็นรูเล็กขนาด ๒-๓ มิลลิเมตร ขอบรูมีสีไหม้ๆ ไม่มีอันตรายถึงกับทำให้ต้นยางตาย แต่อาจทำให้ต้นอ่อนแอ และไม่เจริญเติบโตต่อไปได้ การกำจัด ควรใช้ยาฆ่าเชื้อราพ่นใบทั้งข้างล่างข้างบน หรือจะใช้ยาผสมบอร์โดซ์ก็ได้

            (๕) โรคยอดหรือแขนงตาย โรคนี้เกิดจากรา คอลลิทอร์ทริคัม กลีออสโพเรียม (Colletortrichum gleosporium) ทำให้ยอดหรือแขนงที่แตกใหม่ๆ แห้ง และจะเห็นเชื้อราขึ้นอยู่บริเวณนั้น มักจะเกิดแก่ต้นยางเล็กๆ อายุ ๑-๒ ปี เมื่อพบโรคนี้ จะต้องตัดยอดที่เป็นโรคออกเผาไฟเสีย

โรคไฟทอพทอรา แพร่เชื้อที่รอยกรีดยาง ซึ่งเป็นเปลือกอ่อน ในภาพจะเห็นเปลือกมีรอยปริเป็นเส้นดิ่งสีดำคล้ำ ยาวบ้าง สั้นบ้าง ลึกถึงเนื้อไม้ และจะเน่าลุกลามไปรอบต้น เรียกว่า โรคเส้นดำ อาจทำให้ต้นยางตายได้

            (๖) โรคใบร่วง โรคนี้เกิดจากเชื้อราเช่นกัน มีเชื้อราที่ทำให้ใบร่วงอยู่ ๒-๓ ชนิด เช่น โรคเพาเดอรี มิลดิว (powdery mildew) เกิดจากราโออีเดียม ฮีเวีย (Oidium heveae) และโรคไฟทอพทอรา (phytophthora) เกิดจากราไฟทอพทอรา (phytophthora spp.) ชนิดที่ร้ายแรง คือ ชนิด ไฟทอพทอรา ซึ่งทำให้ทั้งใบ และก้านใบร่วงด้วย โรคไฟทอพทอรานี้ ถ้าระบาดมาก จะทำให้เกิดโรคเส้นดำ (black stripe) ที่รอยกรีด และโรคเปลือกลำต้นเน่า (stem canker) อีกด้วย

            ถ้าปรากฏว่า ต้นยางขนาดต่างๆ มีอาการผิดสังเกต เช่น ยอดแห้ง ใบเหี่ยวร่วงหล่น หรือไหม้เป็นรู หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของต้นยางแห้ง เน่า ฯลฯ ควรจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อจะได้มาตรวจและทำลาย มิให้ขยายตัวต่อไป

ต้นยางเป็นโรคราสีชมพูที่ง่ามกิ่ง ถ้าเป็นหลายแห่งอาจทำให้ต้นยางตายได้

            (๗) โรคสีชมพู (pink disease) เกิดที่กิ่ง ง่าม หรือที่คาคบ ซึ่งเก็บน้ำ หรือความชื้นได้มาก โรคนี้เกิดจากราคอร์ทิคัม ซาลโมนิโคลอร์ (Corticium salmonicolor) ทำให้เปลือกที่กิ่ง ที่ง่าม หรือที่คาคบ เน่า และทำให้ส่วนที่เลยออกไปทางปลายกิ่งตายได้

            (๘) โรคเปลือกเน่า (mouldy rot) เกิดจากรา เซอราโทซีสทิส ฟิมบริเอทา (Ceratocystis fimbriata) มักจะเกิดที่รอยกรีด ทำให้หน้ายางหรือรอยกรีดเน่า และกรีดไม่ได้อีกต่อไป

            โรคต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อรานั้น ในปัจจุบันนี้มียาที่จะรักษาได้ผลดีอยู่หลายชนิด ฉะนั้น ถ้าเห็นต้นยางมีอาการผิดปกติเมื่อใด ควรจัดการรักษาเสียโดยเร็ว อย่าปล่อยให้แพร่เชื้อต่อไป

            (๙) ปลวก เป็นสัตว์ที่ทำลายต้นยาง ทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ มีอยู่หลายชนิด แต่มีบางชนิดเท่านั้นที่ทำอันตรายแก่ต้นยาง ถ้าปรากฏว่า มีอยู่ในสวนยาง ควรกำจัดให้หมดไป มียากำจัดปลวกที่ให้ผลดีจำหน่ายอยู่ทั่วไปแล้วหลายชนิด

ปุ่มเปลือกที่งอกใหม่หรือตาไม้แข็งรอบต้นยาง ซึ่งเกิดจากการกรีดต้นยางโดยไม่ระมัดระวังจนเกิดเป็นแผลจำนวนมาก

            ต้นยางที่เสียหายอยู่เป็นประจำนั้น มิใช่เนื่องมาจากโรคหรือแมลงทั้งหมด แต่เนื่องมาจากคนกรีดยาง ที่กรีดโดยไม่ระมัดระวังเกือบทั้งหมด การกรีดยางโดยไม่ระมัดระวังนี้ ได้ทำความเสียหายแก่ต้นยางมากที่สุด บางรายกรีดไม่ถึง ๑๐ ปี ต้นยางก็เสียหายจนไม่มีเปลือกดีจะกรีดเสียแล้ว ขณะนี้มีสวนยางที่ได้รับความ เสียหาย เนื่องจากกรีดไม่ถูกต้อง เป็นจำนวนกว่า ๓ ล้านไร่ หรือประมาณ ๗๐-๘๐% ของต้นยางที่กรีดได้ทั้งหมด ทำให้ได้ยางลดน้อยลงกว่าที่ควรจะได้ไปมาก เจ้าของสวนยางควรจะระมัดระวัง อย่ากรีดให้เสียหาย จะได้ยางมากอยู่เสมอ