นอกจากกรีดไม่ให้ลึกเกินไปแล้ว จะต้องพยายามกรีดให้เปลือกบางที่สุด ครั้งละประมาณ ๑.๕ มิลลิเมตร เดือนหนึ่งๆ กรีดเปลือกออกไม่ควรเกิน ๒.๕ เซนติเมตร ต้นยางต้นหนึ่งๆ ควรถนอมเปลือกไว้ให้กรีดได้ อย่างน้อย ๓ รอบ โดยใช้เวลากรีดให้ได้กว่า ๓๐ ปี ถ้าเปลือกยังดีเมื่อต้นยางอายุกว่า ๑๕ - ๒๐ ปีแล้ว ยังมีทางที่จะใช้ยาเร่งน้ำยาง จะช่วยให้ได้น้ำยางเพิ่มมากขึ้น จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับพันธุ์ยางด้วย บางพันธุ์เพิ่มได้อีกเท่าตัว
คนกรีดยางคนหนึ่งควรให้กรีดได้ประมาณ ๓๕๐- ๔๕๐ ต้นเท่านั้น โดยให้กรีดอย่างประณีต ระมัดระวัง ไม่ต้องรีบร้อน และควรให้กรีดตั้งแต่เช้ามืด เมื่อมองเห็นเปลือกต้นยางแล้ว การกรีดอย่างรีบร้อนและกรีดในตอนดึก นอกจากทำให้ต้นยางเสียหายได้ง่ายแล้ว สุขภาพของคนงานจะไม่สมบูรณ์ และอาจได้รับอันตรายจากงู และสัตว์ร้ายอื่นๆ อีกด้วย
๔. ต้องใช้ระบบกรีดที่ให้น้ำยางออกพอสมควร
เมื่อเริ่มกรีดควรกรีดโดยให้น้ำยางออกแต่น้อยก่อน จะต้องกรีดครึ่งรอบต้น กรีดวันเว้นสองวัน ไม่น้อยกว่า ๕-๖ เดือน แล้วจึงกรีดครึ่งต้นวันเว้นวัน และควรให้มีระยะพักอีกบ้าง มีข้อควรจำไว้เสมอว่า ถ้ากรีดเอาน้ำยางออกมากเกินไป ต้นยางจะเป็นโรคเปลือกแห้ง ยางพันธุ์ดีเกือบทุกชนิดมักเป็นโรคเปลือกแห้งง่ายกว่า ต้นยางพันธุ์ธรรมดา และเมื่อเปิดกรีดแล้ว จะต้องสังเกตดูอาการของต้นยางต่อไปด้วยว่า ต้นยางต้นใดให้น้ำยาง ลดน้อยลง หรือมีต้นยางต้นใดเป็นโรคเปลือกแห้ง (ไม่มีน้ำยางออกเลย) กี่ต้น ถ้าปรากฏว่า ต้นใดผิดสังเกตให้ หยุดกรีด แต่ถ้าปรากฏว่า มีมากประมาณร้อยละ ๕ ของต้นยางทั้งสวน ให้เปลี่ยนเป็นกรีดครึ่งรอบต้นทุกวันที่สาม และให้พักต้นยางที่ทรุดโทรมเสียประมาณ ๖ เดือน แล้วจึงทดลองกรีดต่อไปใหม่
ระบบการกรีดยาง เป็นวิธีวัดค่าโดยประมาณว่า การกรีดระบบใด จะเกิดภาระแก่ต้นยางมากน้อยเท่าใด แต่เดิมมาเรียกระบบกันหลายชื่อ สถาบันค้นคว้าการยางแต่ละแห่งเรียกไม่เหมือนกัน ในที่สุด ได้ตกลงเรียก และใช้สัญลักษณ์อย่างเดียวกัน โดยได้กำหนดความพอดีของความยาวของรอยกรีด กับความบ่อยครั้งของการกรีดไว้ดังนี้
"การกรีดยางครึ่งต้นโดยกรีดวันเว้นวัน เป็นการกรีดให้เกิดภาระแก่ต้นยางพอดี ๑๐๐%" เมื่อได้กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นแล้ว เพื่อให้สะดวกแก่การเขีย นจึงได้กำหนดสัญลักษณ์ขึ้น เช่น ให้อักษร S เป็นสัญลักษณ์ความยาวของการกรีดรอบต้น จากซ้ายเอียงลงมาทางขวา การกรีดยางครึ่งรอบต้น จึงเท่ากับ S/2 และ ให้ d เป็นสัญลักษณ์ของความบ่อยครั้งของการกรีด การกรีดวันเว้นวัน หรือกรีดทุกๆ ๒ วัน จึงเท่ากับ d/2 เมื่อเอาข้อกำหนดข้างต้นมารวมเขียนเป็นสมการขึ้น เขียนได้ดังนี้
S/2 x d/2 = 100%
จากสมการนี้ให้ถือว่า ตัวอักษรมีค่าเท่ากับ ๑ ทุกตัวอักษร ทำให้พลิกแพลงระบบกรีดได้ โดยระวังไม่ให้เกิดภาระแก่ต้นยางเกินกว่า ๑๐๐% สมมุติว่า ถ้ากรีดรอบต้นทุก ๔ วัน จะเกิดภาระแก่ต้นยางเท่าใด
ฉะนั้น การกรีดครึ่งรอบต้นโดยกรีดวันเว้นวัน กับการกรีดรอบต้นแต่กรีดทุกๆ ๔ วัน ต้นยางจะรับภาระจากการกรีด ๑๐๐% เท่ากัน การที่ให้มีทางคำนวณ โดยประมาณได้เช่นนี้ เป็นประโยชน์มาก เพื่อให้เจ้าของ สวนยางเลือกระบบกรีดเอาได้ เช่น การกรีด ๒ ระบบ ข้างต้น เจ้าของสวนยางเลือกใช้เอาได้ตามความจำเป็น สมมุติว่า มีสวนยางอยู่ ๔๐๐ ไร่ คนหนึ่งกรีดได้ประ- มาณ ๑๐ ไร่ (๔๐๐-๔๕๐ ต้น) ถ้ากรีดวันเว้นวัน ต้องใช้คนกรีด ๒๐ คน เพื่อกรีดยางให้ได้วันละ ๒๐๐ ไร่ แต่ถ้าในท้องที่นั้น หาคนงานที่มีฝีมือกรีดดีๆ ยาก ก็จำเป็นต้องใช้คนกรีดให้น้อยลง แต่ต้องการให้ได้ผลิตผลเท่าเดิมด้วย จึงเปลี่ยนระบบกรีดเป็นกรีดรอบต้น แต่กรีดทุก ๔ วัน ฉะนั้น จึงแบ่งสวนออกเป็น ๔ ส่วน เพื่อหมุนเวียนกรีดวันละ ๑ ส่วน วันหนึ่งๆ จึงมีสวนที่จะกรีดเพียง ๑๐๐ ไร่ และใช้คนงานเพียง ๑๐ คนเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ถึง ๒๐ คน การจัดหาที่พัก และการ ควบคุมก็ง่าย ระบบกรีดจึงมีความสำคัญมาก การที่จะใช้ระบบกรีดระบบใดได้ผลหรือไม่ได้ผล ขึ้นอยู่กับพันธุ์ยางด้วยเหมือนกัน บางพันธุ์ชอบอย่างนั้น บางพันธุ์ชอบอย่างนี้ ฉะนั้น เจ้าของสวนยางจะต้องศึกษา และใช้ความสังเกตไปด้วย
๕. การรองน้ำยางและการเก็บรวบรวม
เมื่อมีการเปิดกรีดต้นยาง จำเป็นต้องเตรียมเครื่อง มือเครื่องใช้ที่จะใช้รองน้ำยาง และรวบรวมน้ำยางให้ พร้อมด้วย คือ
(๑) รางรองน้ำยาง มีลักษณะเป็นรางเล็กๆ ทำด้วยสังกะสี มีขนาดเท่าด้ามช้อนสังกะสี สำหรับติดใต้รอยกรีด เพื่อรองน้ำยางให้ไหลลงถ้วย
(๒) ถ้วยรองน้ำยาง ควรเป็นวัตถุถาวร เท่าที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ใช้ถ้วยดินเผาเคลือบภายใน ขนาดจุ ๒๐๐-๕๐๐ ซีซี
(๓) ลวดวางถ้วยรองน้ำยาง เพื่อให้วางถ้วยรอง น้ำยางได้สะดวก จะต้องมีลวดทำเป็นห่วง สำหรับวาง ถ้วยให้ติดกับต้นยางด้วย
(๔) ถังเก็บน้ำยางและถังรวมน้ำยาง เมื่อกรีดยางแล้วประมาณ ๓ ชั่วโมง น้ำยางจะหยุดไหล (บางพันธุ์ อาจจะยังไหลต่อไปอีก ๑-๒ ชั่วโมง) จึงใช้ถังหูหิ้วขนาดที่จะหิ้วไปได้ เช่น ขนาดจุ ๑๐-๑๕ ลิตร เมื่อเก็บน้ำยางเต็มแล้ว ก็เอาไปเทรวมไว้ในถังรวม ซึ่งมีหลายรูป หลายแบบ แล้วแต่ความสะดวกในการขนส่งเป็นสวนๆ ไป บางสวนทำเป็นถังสังกะสี หรืออะลูมิเนียม ให้เหมาะที่จะวางท้ายรถจักรยานหรือรถจักรยานยนต์ได้ และบางรายก็ทำให้ปากแคบ จะได้ไม่กระฉอก ถ้าสวนยาง ขนาดใหญ่ จะใช้รถยนต์บรรทุกมาลำเลียงเอาไป โดยเทรวมลงในถังใหญ่ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายถัง ที่ใช้ในรถยนต์บรรทุกน้ำมัน
น้ำยางทั้งหมดนี้มีสภาพเป็นน้ำและเสียได้เร็ว จำเป็นต้องรีบส่งไปยังโรงงาน เพื่อทำเป็นยางชนิดต่างๆ ออกจำหน่ายต่อไป
การรองน้ำยาง
ข้อสำคัญในการกรีดเอาน้ำยาง ตั้งแต่การกรีดยาง ถ้วยยาง ถังเก็บน้ำยาง ถังรวมน้ำยาง ทุกๆ ขั้น จะต้องรักษาความสะอาดอย่างดีที่สุด ไม่ให้สกปรก และไม่ให้มีผงลงไปในน้ำยาง เพื่อว่ายางที่ทำออกมาจะได้จำหน่ายได้ในราคาดี