ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" คำว่า "ป่าไม้" นี้มีความหมายที่แตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย ตอนปลายศตวรรษที่ ๑๓ ในยุโรป "ป่าไม้" หมายถึง พื้นที่ที่พระมหากษัตริย์ได้สงวนไว้ เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับล่าสัตว์ ของส่วนพระองค์ ส่วนสิทธิในการตัดไม้ และการก่นสร้างแผ้วถางป่า เพื่อการเพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ยังเป็นของประชาชนทั่วๆ ไปอยู่ | ||
พื้นที่ที่มีป่าไม้ปกคลุม น้ำและดินจะได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี | ||
ถัดมาอีกศตวรรษหนึ่ง "ป่าไม้" กลับหมายถึง พื้นที่อันกว้างขวางที่ประกอบด้วยป่าไม้ ทุ่งหญ้า และแม้แต่หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านในป่า สิทธิในการล่าสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าว ยังคงสงวนไว้เป็นของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ส่วนสิทธิในการใช้พื้นที่นั้นๆ เพื่อประโยชน์อย่างอื่น ได้ถูกจำกัดลงไป บรรดาป่าไม้ที่สำคัญๆ ในประเทศอังกฤษ ล้วนแล้วแต่เป็นป่าไม้ประเภทดังกล่าวข้างต้น โดยกษัตริย์ในราชวงศ์นอร์แมนเป็นผู้กำหนดขึ้น | ||
พื้นที่ที่มีป่าไม้ปกคลุม น้ำและดินจะได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี | ||
ในสมัยต่อมา เมื่อพระราชอำนาจพิเศษในการล่าสัตว์ของกษัตริย์ ได้ถูกจำกัดลง ความหมายโดยทางนิตินัยของคำว่า "ป่าไม้" จึงได้กลายมาเป็นพื้นที่ที่เปลี่ยว มีพรรณไม้จำพวกไม้ต้นปกคลุมอยู่เป็นส่วนใหญ่ หรือมีปริมาณมากกว่าพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้า หรือไร่นา
ปัจจุบันองค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ให้คำนิยามคำว่า "ป่าไม้" หมายถึง "บรรดาพื้นที่ที่มีพฤกษชาตินานาชนิดปกคลุมอยู่ โดยมีไม้ต้นขนาดต่างๆ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ โดยไม่คำนึงว่า จะมีการทำไม้ในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม สามารถผลิตไม้ หรือมีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศ หรือต่อระบบของน้ำในท้องถิ่น" นอกจากนี้พื้นที่ที่ได้ถูกตัดฟัน หรือแผ้วถาง หรือโค่นเผาไม้ลง และมีเป้าหมายที่จะปลูกป่าขึ้นในอนาคต ก็นับรวมเป็นพื้นที่ป่าไม้ด้วย แต่ทั้งนี้มิได้นับเอาป่าละเมาะ หรือหมู่ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่นอกป่า หรือต้นไม้สองข้างทางคมนาคม หรือที่ยืนต้นอยู่ตามหัวไร่ปลายนา หรือที่ขึ้นอยู่ในสวนสาธารณะ ให้เป็นป่าไม้ด้วย เมื่อมองในแง่ของอนุรักษ์นิยมแล้ว คำว่า "ป่าไม้" มิได้หมายถึง เฉพาะกลุ่มหรือหมู่ไม้ของต้นไม้ ที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่อันกว้างไพศาลเท่านั้น แต่หมายถึง ชมรมของสรรพสิ่งที่มีชีวิต ทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ แต่มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ นอกจากมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เล็ก สูงต่ำ แตกต่างกัน จนทำให้เป็นเรือนยอดหรือพุ่มไม้ ที่มีหลายระดับชั้นแล้ว ยังมีพฤกษชาติจำพวกไม้พุ่ม ไม้กอ ไม้เถา ไม้เลื้อย และพืชคลุมดินอีกนานาชนิด นอกจากพืชแล้ว ยังมีสัตว์จำพวกสัตว์บก สัตว์น้ำ นก แมลง ตลอดจนเห็ดรา (fungi) บัคเตรี แอลจี และจุลินทรีย์ ทั้งที่ดำรงชีวิตอยู่บนพื้นดิน และใต้ผิวดิน ลงไปจำนวนมากมาย จนสุดที่จะคณานับ เมื่อบรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายรวมตัวกันเข้าแล้ว ก็บังเกิดเป็นสังคมทางชีวภาพ (biological association) อันประกอบด้วย สรรพสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีปฏิกิริยาต่อกัน และกัน อาทิเช่น นกและสัตว์ ก็ช่วยกะเทาะเมล็ดพันธุ์ไม้ เพื่อให้สามารถงอกได้สะดวกขึ้น แมลงและนก ก็ช่วยผสมเกสรดอกไม้ บริเวณใต้ต้นไม้หรือพฤกษชาติ ที่คลุมดินอยู่ จะมีเศษใบไม้ กิ่งไม้ ต้นไม้ที่โค่นล้ม รวมทั้งซากสัตว์ซากพืช และแมลงต่างๆ ทับถมพื้นดินอยู่ เมื่อนานปีเข้า ก็อาศัยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดิน ช่วยทำให้ผุพัง และสลายตัว เป็นปุ๋ยธรรมชาติ (humus) เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน และช่วยปกคุมผิวดิน มิให้ถูกแสงแดดแผดเผา หรือถูกกระแสฝนตกต้องอย่างรุนแรง ซึ่งเท่ากับเป็นการป้องกัน มิให้ดินถูกกระแสน้ำ หรือกระแสลมที่รุนแรง กัดชะพัดพาให้พังทลายไป และช่วยให้น้ำฝนบางส่วน ที่เหลือจากการระเหย คืนสู่อากาศ ได้มีโอกาสซึมซาบลงสู่แหล่งเก็บกักน้ำใต้ดิน เมื่อหมดฝน หรือย่างเข้าฤดูแล้ง ก็มีน้ำใสสะอาดไหลออกมาหล่อ เลี้ยงลำห้วย ลำธาร หรือน้ำพุ อย่างไม่ขาดสาย ซากพืช ที่ปกคลุมพื้นที่ป่าไม้ยังช่วยป้องกัน หรือลดการระเหยของน้ำในดิน ซึ่งทำให้พืชได้รับประโยชน์จากความชื้น ในดินอย่างใหญ่หลวง ใต้พื้นดินลงไปจะมีเรือนรากของต้นไม้ และรากพืชจำนวนมาก ไชชอนไปแทบทุกสารทิศ ประกอบกับมีไส้เดือน และสัตว์จำพวกที่ขุดรูอยู่ในดิน เช่น อ้น เม่น และจุลินทรีย์นานาชนิด จึงทำให้ดินที่มีป่าไม้ปกคลุมร่วนโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่มีป่าไม้ปกคลุม น้ำและดิน จะได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี ทั้งภูมิอากาศในท้องถิ่นที่ป่าไม้ตั้งอยู่ ก็มีความละมุนละไม ไม่ร้อนจัด หรือหนาวจัดอีกด้วย |