เล่มที่ 3
ทรัพยากรป่าไม้
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ภยันตรายที่ป่าไม้ได้รับ

            ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ภยันตรายที่ป่าไม้ได้รับส่วนใหญ่เป็นภัยธรรมชาติ เช่น แมลง โรคพืช ไฟป่า ส่วนภัยจากมนุษย์มีไม่มากนัก เพราะประชาชนของเขารู้ถึงคุณค่า มีความรัก และความหวงแหนป่าไม้ ส่วนประเทศไทย แม้ว่าจะมีกรมป่าไม้รับผิดชอบบริหารงานด้านป่าไม้ของชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ หรือย่างเข้าปีที่ ๙๐ ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๙) แล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ป่าไม้ของไทยยังคงมืดมนอยู่ คล้ายกับสถานการณ์ป่าไม้ทางทวีปยุโรป เมื่อคริสต์ศตวรรณที่ ๑๘-๑๙ ซึ่งเป็นยุคที่ประชาชนส่วนใหญ่มุ่งล้างผลาญป่าไม้ ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้มีที่ดินสำหรับเพาะปลูก และอยู่อาศัย เพื่อให้มีไม้ใช้ทำเชื้อเพลิง และก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน จนป่าต้องเสื่อมโทรมสูญหายไปเป็นอันมาก ยิ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากจำนวน ๘ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ไปเป็น ๑๘ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ และนับแต่นั้นมาก็ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๙) มีจำนวนกว่า ๕๐ ล้านคน ความต้องการที่ดิน และไม้ เพื่อใช้สอย และเป็นสินค้าก็ได้เพิ่มทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว

ภยันตรายจากมนุษย์ที่ป่าไม้ได้รับ อาจจำแนกออกได้ตามลำดับของความรุนแรง และความเสียหายได้ดังนี้

            ๑. การโค่นล้ม เผาผลาญป่าไม้ ในพื้นที่ที่เป็นภูเขา อันเป็นต้นลำธาร ของแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน แควป่าสัก ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นการกระทำของชาวไทยภูเขา ซึ่งแยกเป็นเผ่าใหญ่ๆ อยู่ ๖-๗ เผ่า มีจำนวนซึ่งไม่เคยสำรวจไว้แน่นอนประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ - ๗๐๐,๐๐๐ คน และบางส่วนเป็นการกระทำของชาวไทยพื้นราบ ซึ่งไม่มีที่นาในพื้นที่ราบเพียงพอสำหรับปลูกข้าว จึงได้บุกรุกขึ้นบนเขาเพื่อทำไร่เลื่อนลอย
บริเวณที่ถูกบุกรุกโค่นเผาทำลาย
บริเวณที่ถูกบุกรุกโค่นเผาทำลาย
            จากการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ทางภาคพื้นดิน ซึ่งกรมป่าไม้ได้ดำเนินการไว้ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๘- ๒๕๐๑ และตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศ ที่ได้ถ่ายทำไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๔๙๗ ปรากฏว่า ร้อยละ ๗๐ ของป่าดงดิบ ซึ่งอยู่ตามทางภาคเหนือ ได้ถูกโค่น เผาทำลายไป หากนับถึงในปัจจุบันนี้แล้วความเสียหายของป่าไม้ทางภาคเหนือ จากการทำไร่เลื่อนลอย ก็จะต้องขยายวงกว้างออกไปอีกมากมายหลายเท่าตัว

            ๒. การบุกรุกโค่นเผาป่าไม้ในพื้นที่ที่ใกล้เส้นทางคมนาคม ทั้งที่เป็นที่ราบ และเนินเขา เพื่อทำไร่มันสำปะหลัง ปอ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งลุกลามไปทั่วทุกภาคของประเทศโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมระหว่างที่ดินกับการเพาะปลูก
ป่าพรุที่ถูกโค่นทำลาย
ป่าพรุที่ถูกโค่นทำลาย
            แม้ภยันตรายชนิดนี้จะมีความเสียหายน้อยกว่า การทำลายป่าประเภทแรกก็ตาม แต่ต้นไม้มีค่า เช่น ไม้สัก ยาง ประดู่ แดง ตะเคียนทอง ฯลฯ หลายล้านต้น ซึ่งควรจะทำออกไปใช้ประโยชน์ ได้ถูกเผาทำลายเป็น เถ้าถ่านไปเป็นจำนวนมาก เพราะพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ที่ถูกบุกรุกเป็นป่าสงวนหรือเตรียมการสงวนของรัฐ ราษฎรหรือนายทุนผู้บุกรุกป่าจึงไม่นำพาที่จะบำรุงดิน ให้สมบูรณ์ คงใช้การเพาะปลูกแบบสุกเอาเผากิน ผลิตผลของพืชไร่ก็จะดีอยู่เพียง ๒ - ๓ ปีแรก ครั้นแล้ว ก็ลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ ในที่สุดก็ไม่สามรถ จะใช้เพาะปลูกได้อีก เพราะดินจืดหรือมีวัชพืชปกคลุม หนาแน่น จึงไปบุกรุกโค่นเผาทำลายป่าไม้แห่งอื่นต่อไป
สภาพป่าที่ถูกโค่นทำลาย
สภาพป่าที่ถูกโค่นทำลาย
            การกระทำดังกล่าว นอกจากทำให้ประเทศต้องสูญเสียต้นไม้มีค่า โดยถูกเผาผลาญลงเป็นเถ้าถ่านหลายล้านต้นต่อปีแล้ว ยังทำให้ความสมบูรณ์ของดิน ทั้งในด้านเคมี และฟิสิกส์เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เป็นอาณาบริเวณกว้างขวางขึ้นเป็นลำดับด้วย แม้ว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ และส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ปีละหลายพันล้านบาท แต่ก็เท่ากับได้ส่งต้นทุนของดินอันล้ำค่าในรูปของไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ออกไปปีละหลายสิบล้านต้น เพื่อแลกกับเครื่องจักรกล รถยนต์ เครื่องสำอาง หรือแม้แต่เนื้อ นม เนย ในที่สุด ผืนแผ่นดินไทยก็จะเหลืออยู่แต่เพียงหิน กรวด ทราย ที่ใช้เพาะปลูกไม่ได้
            ๓. การลักตัดไม้ เพื่อทำฟืน เผาถ่าน เป็นอันตรายที่ป่าไม่ได้รับ จากการตัดโค่นไม้ เพื่อทำฟืน หรือเผาถ่านนี้ นับว่ามีความร้ายแรงรองจากสองประเภทแรก อย่างไรก็ดี หากคำนึงถึงความเสียหายที่มีต่อดิน และน้ำในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายแล้ว ก็นับว่ารุนแรงมาก เพราะการลักตัดไม้ประเภทนี้กระทำกับต้นไม้ทุกชนิดทุกขนาด ทั้งยังขุดเอาส่วนโคน หรือตอ และรากไม้ที่อยู่ในดินขึ้นมาตัดทอนแล้วเผาเป็นถ่านอีกด้วย จนทำให้ป่าราบเรียบเป็นหน้ากลอง ประกอบกับป่าไม้ประเภทนี้เป็นป่าแดง หรือป่าเต็งรังที่มีดินเลว และแห้งแล้งมากเมื่อถูกทำลายลงแล้ว ก็เป็นการยากอย่างยิ่งที่จะปรับปรุงพื้นที่ที่เสียหายให้ใช้ในการเพาะปลูก หรือปลูกป่าได้ดี เมื่อทอดทิ้งไว้นานปี ที่ดินถูกแดดเผา และถูกฝนกัดชะดินก็จะเสื่อมโทรมลง จนกลายเป็นพื้นที่ที่รกร้างอันไร้ค่า มีสภาพประดุจทะเลทราย
สภาพป่าที่ถูกโค่นทำลาย
สภาพป่าที่ถูกโค่นทำลาย
            ๔. การลักตัดไม้มีค่า เพื่อทำการค้า แปรรูป หรือใช้สอยส่วนตัว ความเสียหายชนิดนี้มีน้อยกว่าสามประเภทแรก เพราะไม้ส่วนใหญ่ที่ถูกลักตัด มักเป็นไม้มีค่าที่มีขนาดโตพอสมควรที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้คงเหลือต้นไม้ที่มีค่าน้อย หรือขนาดรองๆ ลงไป ไว้ให้เจริญเติบโต หรือสืบขยายพันธุ์ต่อไป ไม้ที่ลักตัดออกมาก็จะจำหน่ายเป็นสินค้า หรือแปรรูปเอาไปสร้างอาคารบ้านเรือน โดยที่รัฐบาลจะไม่ได้ค่าภาคหลวง และค่าบำรุงป่า ซึ่งนับว่าดีกว่าการโค่นแล้วเผาทำลาย
            สำหรับความเสียหายที่ป่าไม้สักได้รับนั้น ปรากฏ ตามผลการสำรวจของดร.เอฟ.เลิตช์ (Dr.F.Loetsch) ผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสห- ประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๐๐ ว่า ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๔๙๘ ไม้สักได้ถูกลักลอบตัดฟัน ประมาณ ปีละ ๒๑๘,๖๐๐ ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๒๒ ล้านบาท ส่วนไม้ชนิดอื่น นอกจากไม้สักหรือที่เรียกว่า ไม้กระยาเลยนั้น ปีหนึ่งๆ จะถูกลักตัดฟันนับ อีกปีละหลายแสนต้น หากถือตัวเลขจากจำนวนไม้ลักตัด ที่เจ้าหน้าที่ยึดไว้ได้เป็นบางส่วนเท่านั้นต้นไม้ใหญ่ ถูกลักตัดทิ้งไว้ในป่า
ต้นไม้ใหญ่ ถูกลักตัดทิ้งไว้ในป่า
            ส่วนภยันตรายตามธรรมชาติ เช่น ไฟป่า แมลง และโรคพืชนั้น ต่างประเทศมีการป้องกันปราบปรามอย่างจริงจัง ส่วนประเทศไทยภัยเหล่านี้แทบจะมองไม่เห็น การป้องกัน และแก้ไขอยู่ในวงจำกัด เช่น ทำเฉพาะส่วนป่าไม้มีค่าบางแห่ง และศัตรูพืชบางชนิด ทั้งนี้ เพราะมีงบประมาณจำกัดมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อป่าปลูกเพิ่มมากขึ้น อันตรายเหล่านี้จะเพิ่มความรุนแรงขึ้น จึงควรเตรียมการป้องกัน กำจัด และปราบปรามให้จริงจังยิ่งขึ้น