เล่มที่ 3
ทรัพยากรป่าไม้
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทและชนิดของป่าไม้

            ป่าไม้ในภาคต่างๆ ของโลกพอจะจำแนกออกได้ ตามความแตกต่างขององค์ประกอบต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น และประวัติความเป็นมาแต่ดั้งเดิมของแต่ละภาค เป็นประเภทใหญ่ๆ รวม ๖ ประเภทด้วยกัน ซึ่งแต่ละประเภท ก็มีขึ้นอยู่ในหลายท้องที่ กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไป ลักษณะและชนิดของพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ก็แตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

๑. ป่าไม้สนในเขตหนาว (Cool coniferus forests)

            ขึ้นอยู่ทางซีกโลกเหนือในท้องที่ที่มีอากาศหนาวเท่านั้น มีลักษณะเป็นแถบกว้างแผ่กระจายอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ตั้งแต่อะแลสกา แคนาดา แถบกลุ่มประเทศในสแกนดิเนเวียไปจนถึงไซบีเรีย เนื้อที่ป่าส่วนใหญ่อยู่ในไซบีเรีย ป่าชนิดนี้มีไม้เนื้ออ่อนหรือไม้ในตระกูลสนเขา(conifer) ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น แต่ละท้องที่มีพรรณไม้เพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งเป็น ต้นไม้ที่มีขนาดปานกลางและมีความเติบโตไล่เลี่ยกัน
ป่าสนเขตอบอุ่น ประเทศฟินแลนด์
ป่าสนเขตอบอุ่น ประเทศฟินแลนด์
            พรรณไม้ที่สำคัญมีไวต์สปรูซ (white spruce) แบลคสปรูซ (black spruce) และบัลซัมเฟอร์ (balsam fir) อยู่ในอเมริกาเหนือ มีไม้นอรเวสปรูซ (norway spruce) สกอตไพน์ (scots pine) ในยุโรป และทาง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของรุสเซีย และไม้ลาร์ช (larch) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรุสเซีย

๒. ป่าไม้ผสมโซนอบอุ่น (Temperate mixed forests)

            ขึ้นอยู่ทางตอนกลางของซีกโลกเหนือเกือบทั้งหมด คือ ในยุโรปตอนกลาง อเมริกาเหนือ และเอเชียพรรณไม้ในป่าชนิดนี้มีมากกว่า ป่าสนในเขตหนาว มีทั้งป่าไม้เนื้ออ่อน (soft wood) ซึ่งเป็นไม้ในตระกูลไม้สนเขา และป่าไม้เนื้อแข็ง

ป่าไม้เนื้ออ่อนมีความสำคัญต่อกิจการอุตสาหกรรมมาก ส่วนป่าไม้เนื้อแข็งมีเนื้อไม้ที่มีคุณสมบัติหย่อนกว่า

            พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ บีช (beech) โอ๊ก (oak) เบิร์ช (birch) และพวกวอลนัต (walnut) หรือมันฮ่อ นอกจากนี้ก็มีไม้เนื้ออ่อน ซึ่งมีขึ้นอยู่จำนวน มากในป่าของสหภาพโซเวียตและป่าโดกลาสเฟอร์- เฮมลอค (Douglas fir-hemlock) ทางชายฝั่งตะวันตก ของอเมริกาเหนือ

๓. ป่าชื้นในโซนอบอุ่น (Warm temperate moist forests)

            ขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบโซนอบอุ่นทั้งทางซีกโลกเหนือ และใต้ ในอเมริกาเหนือมีอยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาใต้ นิวซีแลนด์ ชาวฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นและเกาหลี และตอนกลางของแผ่นดินใหญ่จีน

พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สนชนิดต่างๆ ไม้โอ๊ก และยูคาลิปตัสของออสเตรเลีย

๔. ป่าดงดิบแถบศูนย์สูตร (Equatorial rain forests)

            ขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบโซนร้อนที่มีฝนตกชุกเกือบตลอดปี เป็นป่าไม้เนื้อแข็งที่มีพรรณไม้ขึ้นปะปนกันอยู่มากมายหลายชนิด ซึ่งมีลักษณะ และขนาดต่างๆ กัน ป่าชนิดนี้มีอยู่ในย่านลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ป่าดงดิบ ดอยอินทนนท์
ป่าดงดิบ ดอยอินทนน์ เป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่อายุยืน มีมอสส์และตะไคร่น้ำ เกาะอยู่ตามลำต้น และทั่วๆ ไป
            พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะฮอกกานี ซีดาร์ (cedar) และกรีนฮาร์ต (greenheart) ในละตินอเมริกา โอคูม (okoume) โอเบช (obeche) ซิพ (sip) ลิดบา (lidba) และแอฟริกันมะฮอกกานี ในแอฟริกา ใน เอเชียก็ได้แก่ พรรณไม้พวกตระกูลไม้ยาง หรือ ดิพเทอโรคาร์พ (dipterocarp)

๕. ป่าผสมชื้นแถบโซนร้อน (Tropical moist deciduous forests)

            ขึ้นอยู่ในแถบโซนร้อนที่มีฤดูแล้งเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน เช่น ในตอนใต้ของอเมริกาเหนือ และแอฟริกา ย่านลาตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พรรณไม้ที่สำคัญส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ทางเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไม้สาละ (sal) ไม้สัก ฯลฯ

๖. ป่าแล้ง (Dry forests)

            ขึ้นอยู่ในทุกภาคของโลกที่มีความแห้งจัด แต่ส่วนมากแล้วขึ้นอยู่ทางแถบโซนร้อน พรรณไม้ที่ขึ้นอยู่เป็นไม้ขนาดเล็ก เตี้ย แคระแกร็น และปะปนกันมากมายหลายชนิด แต่มีปริมาตรเนื้อไม้ต่อหน่วยเนื้อที่น้อยมาก ป่าส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา และออสเตรเลีย

            พรรณไม้ในป่าชนิดนี้ไม่สู้จะมีความสำคัญในทาง เศรษฐกิจการป่าไม้เท่าใดนัก คงมีการผลิตไม้เสา ไม้พื้น และถ่าน สำหรับใช้สอยภายในท้องที่เท่านั้น