เล่มที่ 24
ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๒)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พรรณไม้ที่กล่าวถึงในวรรณคดีไทยทั้งหมดนั้น หากได้มีการรวบรวมจากทุกเรื่องโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว คงมีจำนวนมากกว่า ๒๕๐ ชนิดขึ้นไป บางชนิดกล่าวถึงซ้ำกันในหลายๆ เรื่อง แต่บางชนิดพบเฉพาะในบางเรื่อง ชนิดที่กล่าวถึงซ้ำๆ กัน แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ

            ๑. ไม้ดอกหอม โดยเฉพาะไม้ไทย ที่นิยมปลูกกันตามบ้าน ตามสวน และอุทยาน เช่น ลำดวน สารภี สายหยุด ลั่นทม จำปา จำปี พุด มะลิ พิกุล เป็นต้น
            
            ๒. ไม้ป่า เป็นพันธุ์ไม้ที่พบในสภาพธรรมชาติตามป่าเขา และอุทยานประเภทสวนป่า ซึ่งเป็นแบบหนึ่งของสวนในอดีต ที่พระเจ้าแผ่นดินไปสร้างอุทยานนอกเมืองไว้พักผ่อน โดยใช้สภาพธรรมชาติเดิมเป็นหลัก แล้วปรับแต่ง หรือปลูกพันธุ์ไม้เสริมเข้าไปบ้าง ตัวอย่างพันธุ์ไม้ เช่น ยาง สัก ประดู่ ชิงชัน เต็ง รัง ตะเคียน ตะแบก โมกมัน เป็นต้น

            ๓. ไม้ประดับ เพื่อความสวยงาม อาจมีกลิ่นหอมหรือไม่มีก็ได้ เช่น กาหลง ชงโค โยทะกา ยี่เข่ง ยี่โถ บานชื่น ดาวเรือง เบญจมาศ เป็นต้น

การเรียนรู้ถึงพรรณไม้ในวรรณคดีไทยนั้น ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใด สิ่งสำคัญคือ การกระตุ้นให้คนไทย ได้ตระหนักถึงคุณค่าของพรรณไม้เหล่านั้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรอันมีค่าของเรา และช่วยกันหาทางอนุรักษ์พรรณไม้ต่างๆ ให้คงอยู่สืบไป ขณะเดียวกันก็ช่วยกัน ถ่ายทอดจิตสำนึกเช่นนี้ สู่คนไทยคนอื่นๆ ต่อไป เรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ