เล่มที่ 24
ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๒)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พันธุ์ไม้น้ำและพันธุ์ไม้ชายน้ำ

            ไทยเป็นประเทศที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ดังบทเพลงของหลวงวิจิตรวาทการ ในเรื่อง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดิน ของเรา สุดแสนอุดมสมบูรณ์" แหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำลำคลอง หนอง บึงต่างๆ น้ำสะอาด จนสามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ มีพรรณไม้น้ำต่างๆ ขึ้นอยู่อย่างมากมาย ขยายพันธุ์ และเพิ่มจำนวนพอเหมาะพอควร ที่จะรักษาสมดุลของธรรมชาติ คนไทยใช้ไม้น้ำเหล่านี้ หลายชนิดเป็นอาหาร เป็นพืชผักที่บริโภคในชีวิตประจำวัน แหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ มีความสวยงามเป็นที่ประทับใจ จนจินตกวีนำมาพรรณนาไว้ ในวรรณคดีเรื่องต่างๆ

แหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

แพงพวยน้ำ (Jussiaea repens Linn.)

ดอกแพงพวยน้ำ

            ในวรรณคดีไทยกล่าวถึง แพงพวย ในเหล่าพรรณไม้ตามคูคลอง หนองบึง จึงน่าจะหมายถึง แพงพวยน้ำ ซึ่งมีชื่ออื่นๆ อีก ได้แก่ ผักพังพวย และผักปอดน้ำ เป็นไม้น้ำ ลำต้นค่อนข้างอวบ ทอดยาวตามผิวน้ำ โดยมีรากสีขาวเหมือนฟองน้ำเป็นกระจุกอยู่ตามข้อ ทำหน้าที่เป็นทุ่นช่วยในการลอยตัว ใบเดี่ยวรูปไข่เวียนเป็นเกลียวรอบต้น ดอกออกเดี่ยวๆ ตรงซอกใบ สีขาวหรือสีนวล มีกลิ่นอ่อนๆ กลีบดอก ๕ กลีบ ร่วงง่าย ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก ขนาดเล็ก มีเมล็ดมาก แต่การขยายพันธุ์มักใช้แยกลำต้นจากกอเดิมไปปลูก

            แพงพวยน้ำเป็นพืชที่พบทั่วไปในนาข้าว และห้วยหนอง คลอง บึงต่างๆ มักเจริญและทอดยอดตามผิวน้ำเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ขณะออกดอกจะทำให้แหล่งน้ำมีความสวยงามมาก เพราะเห็นดอกสีอ่อนๆ กระจายอยู่เหนือกลุ่มใบที่เขียวเป็นมัน

            ในช่วงที่น้ำในนาและหนองบึงแห้งลง ไม้น้ำหลายชนิดตายไป แต่แพงพวยน้ำยังคงอยู่ได้ แม้ต้นจะแคระแกร็นและแข็ง นับว่าเป็นต้นไม้ที่มีความทนทานมากชนิดหนึ่ง ชาวบ้านใช้ยอดอ่อนเป็นผัก รับประทานได้ทั้งสด หรือนำไปลวกหรือต้มให้สุกก่อนก็ได้ บางแห่งใช้จิ้มน้ำปลาหวานแบบสะเดาลวก

สันตะวา (Ottelia alismoides Pers.)

สันตะวาใบพาย

            สันตะวา หรือสันตะวาใบพายเป็นพันธุ์ไม้ ในวงศ์เดียวกับสาหร่ายหางกระรอก ทางภาคอีสานเรียกว่า ผักโตวา หรือผักโหบเหบ ภาคใต้เรียกว่า ผักหวา พบทั่วไปในแหล่งน้ำจืดต่างๆ และเป็นวัชพืชในนาข้าว สันตะวาเจริญอยู่ใต้น้ำโดยมีรากยึดติดกับดิน ลำต้นสั้น ไม่มีไหล ใบเวียนรอบต้นถี่ๆ จนดูเป็นกอ ใบบางค่อนข้างใส เป็นแผ่นใหญ่สีเขียวหรือเขียวอมน้ำตาล ขอบจีบย่นๆ ดอกสีขาว ๓ กลีบ เป็นดอกเดี่ยว มีก้านยาวชูจากซอกใบขึ้นมาเหนือน้ำ ผลค่อนข้างยาวมี ๓ ปีก มีเมล็ดเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งเมื่อตกลงในดินจะงอกขึ้นมาเป็นต้นเล็กๆ ใช้เมล็ดขยายพันธุ์ได้อีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากการแตกหน่อ ถ้าสภาพแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ดี สันตะวาจะเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อใดที่น้ำแห้ง สันตะวาก็จะแห้งตายไปด้วย คนไทยในชนบทรับประทานใบอ่อนและดอกเป็นผักสด แกล้มกับลาบ ก้อย แกงเผ็ด หรือใช้จิ้มน้ำพริก

            นอกจากนี้ ยังมีสันตะวาอีกชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน และพบตามแหล่งน้ำจืดเช่นกันคือ สันตะวาใบข้าว หรือสันตะวาขนไก่ (Vallisneria spiralis Linn.) มีใบเป็นแถบยาว และบิดเป็นเกลียวอยู่ใต้น้ำ พบได้น้อยกว่าสันตะวาใบพาย ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงสันตะวาก็จะเข้าใจว่าหมายถึง สันตะวาใบพาย

สาหร่าย

สาหร่ายหางกระรอก

สาหร่าย ที่กล่าวถึงในวรรณคดีไทยเป็นไม้น้ำที่พบตามลำคลอง และท้องทุ่ง มีทั้งที่อยู่ใต้น้ำ และบางชนิดอยู่เหนือน้ำ ดังนั้น จึงควรหมายถึงสาหร่าย ๓ ชนิด ต่อไปนี้

๑. สาหร่ายพุงชะโด หรือสาหร่ายหางม้า (Ceratophyllum demersum Linn.)

            พบทั่วไปตามนาข้าวที่มีน้ำขัง หรือบ่อบึงที่น้ำนิ่งทั้งที่ร่มและที่แจ้ง ลำต้นยาว แตกแขนงได้มากมาย จึงอยู่เป็นกลุ่มแน่น ใบเป็นเส้นๆ ออกรอบข้อเป็นชั้นๆ ปลายใบแยกเป็น ๒ แฉก มีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ที่ต้นเดียวกัน ทุกส่วนของสาหร่ายชนิดนี้อยู่ใต้น้ำ

๒. สาหร่ายหางกระรอก (Hydrilla verticillata Presl.)

            อยู่ในวงศ์เดียวกันกับสาหร่ายพุงชะโด และมักขึ้นปนกันอยู่ใต้น้ำ ลำต้นกลมและอวบ แตกแขนงได้มาก และมีรากออกตามข้อ ใบเป็นแผ่นเรียวเล็ก ไม่มีก้านใบ ออกรอบข้อเป็นชั้นถี่ๆ ทำให้ดูเป็นพวงคล้ายหางกระรอก เวลาออก ดอกจะมีก้านยาวจากซอกใบ ชูดอกเดี่ยวๆสีขาว ขึ้นมาบนผิวน้ำ ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน สาหร่ายหางกระรอกขยายพันธุ์ และเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วมาก ปัจจุบันมีการนำมาปลูกในตู้ปลาและอ่างเลี้ยงปลา เพื่อความสวยงามและใช้เป็นวัสดุพืชพันธุ์ในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

๓. สาหร่ายข้าวเหนียว (Utricularia aurea Lour.)

            เป็นไม้น้ำขนาดเล็กอีกชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นปะปนกับสาหร่ายพุงชะโด และสาหร่ายหางกระรอก พบทั่วไปตามแหล่งน้ำนิ่ง ขณะออกดอก จะเห็นสีเหลืองสดพราวไปทั่วบริเวณ เพราะช่อดอกจะชูขึ้นสูงเหนือน้ำ ส่วนลำต้นและใบจมอยู่ใต้น้ำ สาหร่ายชนิดนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษเพราะเป็นพืชกินแมลง ใบเป็นเส้นเล็กๆออกเป็นคู่ตรงกันข้าม หรือเป็นกระจุกๆ ละ ๔ ใบ ตรงโคน ใบพองออกเป็นถุง หรือกระเปาะเล็กๆ สำหรับจับแมลง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดที่มีจำนวนมาก หรือด้วยลำต้นที่ขาดเป็นท่อนๆ

สาหร่ายข้าวเหนียวมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปอีกหลายชื่อ เช่น ปราจีนบุรี เรียกว่า สาหร่ายไข่ปู สุพรรณบุรี เรียกว่า สาหร่ายดอกเหลือง กรุงเทพฯ เรียกว่า สาหร่าย หรือสาหร่ายนา ที่น่าสนใจคือชื่อ สายตีนกุ้ง ที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกนั้น อาจเพี้ยนมาเป็น สายติ่ง ซึ่งมีกล่าวถึงในวรรณคดี หลายบทหลายตอนแต่ไม่มีข้อมูลว่า เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใดก็ได้

กระจับ (Trapa bicornis Osb. var. cochin chinensis Gliick ex Steenis)
ต้นกระจับ
ดอกกระจับ


            กระจับเป็นไม้น้ำชนิดหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก เพราะผลมีรูปร่างประหลาด คล้ายหน้าควาย ที่มีเขาโค้ง ๒ เขา สีดำสนิท เมื่อกะเทาะเปลือกนอกที่แข็งออก จะได้เนื้อในสีขาว มีแป้งมาก นำมาต้มให้สุกก่อนรับประทาน หรือต้มกับน้ำตาล แล้วรับประทานกับน้ำแข็งเป็นขนมอย่างหนึ่ง กระจับมีรากหยั่งยึดดินและมีไหล ใบเดี่ยวมี ๒ แบบ ใบที่ลอยน้ำมีก้านยาว อวบน้ำ และพองเป็นกระเปาะตรงกลาง แผ่นใบมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือรูปพัด เวียนเป็นเกลียวถี่ๆ ตามลำต้น ทำให้ดูเหมือนใบแผ่เป็นวงรอบต้น ใบอีกแบบหนึ่งอยู่ในน้ำ เป็นเส้นฝอยๆ คล้ายราก ดอกสีขาวมีกลีบ ๔ กลีบ บานอยู่เหนือน้ำ เมื่อติดผลแล้ว ก้านดอกจะงอกลับลงน้ำ และผลจะเจริญอยู่ใต้น้ำ ผลอ่อนสีม่วงอมแดงจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ส่วนที่เป็นเขาโค้ง ๒ เขานี้เจริญมาจากกลีบเลี้ยง กระจับมี ๒ พันธุ์ คือ พันธุ์เขาแหลม และพันธุ์เขาทู่ พันธุ์เขาแหลมมีรสชาติดี แต่ชาวบ้านนิยมปลูกพันธุ์เขาทู่มากกว่า

กระจับขยายพันธุ์ด้วยผลและไหล มีการปลูกตามคูคลองหนองบึงทั่วไป ที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ ใช้เวลา ๕ - ๖ เดือน จะสามารถเก็บผลิตผลได้ ไม้น้ำชนิดนี้ สวยงามแปลกตา ใบรูปคล้ายพัดแผ่รอบๆ ต้น ผิวด้านบนสีเขียวเป็นมันเงางาม ส่วนแผ่นใบด้านล่างมีสีม่วงแดง ปลูกประดับในสวนน้ำได้ดี

            มีกระจับอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกประดับตามสวนน้ำเรียกว่า กระจับแก้ว หรือกระจับญี่ปุ่น (Ludwigia sedioides Hora) ลักษณะของต้นและใบ จะคล้ายกัน แต่ขนาดเล็กกว่ามาก ใบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้างยาวประมาณ ๑ ซม. ขอบใบและก้านใบเป็นสีแดง ดอกสีเหลืองสดมีกลีบ ๔ กลีบ ไม่ติดผล ขยายพันธุ์โดยใช้ไหล กระจับแก้วมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จึงไม่ใช่กระจับที่กล่าวถึงในวรรณคดีไทย

จอก (Pistia stratiotes Linn.)

ต้นจอก

            จอกเป็นวัชพืชน้ำอีกชนิดหนึ่งของไทย อยู่ในวงศ์เดียวกับเผือกและบอน มีชื่ออื่นๆ ที่ใช้เรียก คือ ผักกอก หรือกากอก เป็นพืชล้มลุกหลายฤดู ลำต้นสั้น มีไหลซึ่งแตกแขนงและทอดยาวขนานกับผิวน้ำ ใบเดี่ยว เป็นแผ่นกว้าง เวียนเป็นเกลียวถี่ๆ รอบต้น ขึ้นเป็นกระจุกคล้ายผักกาดสีเขียวสด อยู่ตามผิวน้ำ มีรากเป็นเส้นฝอยๆจำนวนมากที่โคนต้น ดอกสีขาวหรือเขียวอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ขนาดเล็กมาก มีใบประดับสีเขียวอ่อนเป็นแผ่นหุ้มอยู่ตรงซอกใบ เนื่องจากดอกเล็กมาก และซ่อนอยู่ตามซอกใบจึงมักไม่มีใครเห็น ทำให้เข้าใจกันว่า จอกเป็นพืชไร้ดอก

            จอกมีการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน ขยายพันธุ์โดยแตกหน่อใหม่จากไหล เพิ่มปริมาณ และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จึงสร้างปัญหาแก่แหล่งน้ำ จอกต้นเล็กๆ มีสีเขียวสดใส ถ้ามีจำนวนไม่มากนัก จะดูเหมือนดอกไม้สีเขียวๆ ลอยน้ำอยู่ดูสวยงาม จึงมีผู้นำไปใช้ประดับในสวนน้ำ ต้นอ่อนๆ ใช้เป็นอาหารเลี้ยงหมูได้

ผักบุ้ง (Ipomoea aquatica Forsk.)

ดอกผักบุ้ง

            ผักบุ้ง หรือผักทอดยอด เป็นพืชล้มลุกวงศ์เดียวกับมันเทศ เป็นพืชผักพื้นเมือง ที่คนไทยรู้จักคุ้นเคย และใช้บริโภคกันมา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำจืดต่างๆ ตามที่ชื้นแฉะ ในนาข้าว ตามสวน หรือแม้แต่ที่รกร้าง ผักบุ้งมีลำต้นกลมกลวง มียางสีขาว เห็นข้อปล้องอย่างชัดเจน มีรากออกตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว ก้านยาว เรียงสลับ ใบมีรูปร่างแตกต่างกันไปหลายแบบ เช่น แบบรูปไข่ แบบรูปหัวลูกศร ช่อดอกออกตรงซอกใบช่อละ ๑ - ๓ ดอก ดอกเป็นรูปกรวยสีขาว หรือชมพูอ่อนแกมม่วง และมีแฉกรูปดาวสีม่วงตรงกลางดอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๔ - ๕ ซม. ผลรูปไข่หรือกลม เมล็ดสีดำ

            ผักบุ้งที่ขึ้นมาเองตามสวน หรือตามท้องนา จะมีลำต้นค่อนข้างแข็ง ปล้องยาว ยอดอ่อน มีทั้งสีเขียวล้วน และสีแดงแกมม่วง พันธุ์ที่สีเขียวล้วนมักเรียกว่า ผักบุ้งไทย พันธุ์ที่มีสีแดงแกมม่วง เรียกว่า ผักบุ้งแดง นิยมรับประทานเป็นผักสดแกล้มกับอาหารอื่นๆ หรือใช้ประกอบอาหาร ผักบุ้งที่มีลำต้นอวบ สีเขียวสด ใบดก รูปใบเป็น แถบแคบยาวที่ขายกันตามตลาดเรียกว่า ผักบุ้งจีน มีการปลูกเป็นการค้าโดยเฉพาะ ไม่ได้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ผักบุ้งจีนนี้ เมื่อทำให้สุก จะนิ่มและเปื่อยง่าย นิยมใช้ทำอาหารประเภทผัด ผักบุ้งทุกพันธุ์มีวิตามินเอสูง ถ้ารับประทานเป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตา ในตำรายาไทย ใช้ต้นต้มกับน้ำตาลรับประทานเป็นยาถอนพิษเบื่อเมา

ตับเต่า

            ไม้น้ำที่ชื่อตับเต่ามี ๒ ชนิด คือ ตับเต่า หรือผักอีแปะ ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ วงศ์เดียวกับต้นแววมยุราชนิดหนึ่ง และผักเต่า หรือตับเต่านา ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว วงศ์เดียวกับสาหร่ายหางกระรอกอีกชนิดหนึ่ง ทั้ง ๒ ชนิดขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำจืด ในท้องนา และหนองบึงทั่วไป ดังนั้น ต้นตับเต่าที่กล่าวถึงในวรรณคดีจึงอาจเป็นชนิดใดชนิดหนึ่งในจำนวนนี้

ตับเต่า (Mimulus orbicularis Benth.)

            ตับเต่ามีลำต้นอวบน้ำ และแตกแขนง ไม่มีไหล มีรากตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว เป็นแผ่นกลมหนา ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และลอยอยู่บนผิวน้ำ ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ มีสีม่วงอ่อนแกมขาว มีจุดสีเหลืองตรงกลางดอก มีก้านยาวชูดอกขึ้นเหนือน้ำ ฝักมีเมล็ดเล็กๆจำนวนมาก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ในภาคอีสานเรียกว่า ผักจองแปะ ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกตูม ใช้รับประทานเป็นผักสด

ตับเต่านา (Hydrocharis morsusranae Linn.)


ต้นและดอกตับเต่า

            ลักษณะคล้ายตับเต่า ใบกลมแต่ฐานใบเว้าลึก ก้านใบยาว แลดูคล้ายกับอยู่เป็นกลุ่มเป็นกอเล็กๆ ๕ - ๖ ใบ มีไหลทอดยาวไปตามน้ำ ดอกสีขาว แยกเพศ มีก้านชูขึ้นเหนือน้ำ ผลกลมๆ คล้ายตะขบฝรั่ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและไหล ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด

            นอกจากแหล่งน้ำจืดแล้ว ในบริเวณที่น้ำกร่อยตามป่าชายเลน ซึ่งมีความงดงามแปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง มีไม้ชายฝั่งชายน้ำขึ้นระเกะระกะ เป็นที่อาศัยของสัตว์ต่างๆ เช่น กุ้ง ปู ปลา และหอย ลักษณะธรรมชาติที่งดงามและสมบูรณ์ เช่นนี้จะค่อยๆ หมดไปเมื่อน้ำเสีย ต้นไม้ตาย สัตว์ต่างๆ ตายไป บ้างอพยพไปหาที่อาศัยแห่ง อื่นบ้าง ภาพที่ผู้อ่านประทับใจและซาบซึ้งจาก วรรณคดีนั้น ปัจจุบันหาดูได้ยาก


ลำพู (Sonneratia caseolaris Engler)

ต้นลำพูน

            จากบทวรรณคดีเรื่อง นิราศเมืองเพชร ของสุนทภู่ ทำให้มองเห็นภาพของต้นลำพู ซึ่งขึ้นอยู่ตามป่าชายเลน และที่น้ำกร่อยได้อย่างชัดเจน ลำพูเป็นไม้ต้นสูง ๕ - ๑๕ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรี หรือรูปไข่แกมรูปรี ยาวประมาณ ๓.๐ - ๕.๐ ซม. ปลายแหลมเป็นส่วนใหญ่ ก้านใบสั้นและออกเป็นคู่ตรงกันข้าม มีรากหายใจเป็นแท่งแหลมๆ โผล่ขึ้นจากพื้นดินรอบๆ ต้น ออกดอกที่ปลายกิ่ง หรือตามซอกใบ ๑ - ๓ ดอก ดอกตูมสีเขียวเป็นรูปไข่ปลายแหลมเล็กน้อย กลีบดอกเป็นเส้นหรือรูปใบหอก เกสรเพศผู้เป็นเส้นสีชมพูจำนวนมาก ร่วงง่าย คงเหลือแต่กลีบเลี้ยงสีเขียวเป็นกลีบสามเหลี่ยมหนาๆ ๖ กลีบ ซึ่งจะติดอยู่กับผลจนผลแก่ ผลกลมแป้น มียอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นยาวติดอยู่ที่ยอด ผลดิบใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก รับประทานกับแกงเผ็ด หรือใส่ข้าวยำเช่นเดียวกับดอก ผลสุกมีรสเปรี้ยวอมฝาดรับประทานกับน้ำปลาหวานเหมือนมะม่วง ชาวบ้านนำรากหายใจของลำพูมาใช้เป็นจุกขวด และเป็นทุ่นลอยในการประมง เนื้อไม้ของลำพูแข็งใช้ทำเชื้อเพลิงได้

ในเวลากลางคืนตามต้นลำพูจะมีหิ่งห้อยมา เกาะตามใบอยู่เต็มต้น ทำให้มีแสงระยิบระยับสวยงาม

จาก (Nypa fruticans Wurmb.)


ทะลายผลจาก 


            จากเป็นพืชพวกปาล์มชนิดหนึ่งที่ขึ้นเป็นกอ ตามริมน้ำ ในที่น้ำกร่อย หรือน้ำทะเลท่วมถึง มีใบประกอบแบบขนนกขนาดใหญ่ คล้ายใบมะพร้าว ช่อดอกขนาดใหญ่ออกตรงซอกใบ ประกอบด้วยช่อดอกย่อยๆ หลายช่อ แต่ละช่อมีกาบสีเหลืองอมส้ม เป็นแผ่นใหญ่หุ้มอยู่ ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อยาวหลายๆ ช่อ ล้อมรอบช่อดอกเพศเมีย ซึ่งเป็นช่อกลมอยู่ตรงกลาง ผลสีน้ำตาลไม่มีก้านเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นกลุ่มใหญ่ๆเรียกว่า ทะลาย แต่ละผลเป็นรูปหกเหลี่ยม เปลือกหนาแข็งมีเส้นใย เนื้อในเมล็ดสีขาว รสหวานเล็กน้อย รับประทานได้ มักนำมาเชื่อม หรือใส่น้ำหวานรับประทานกับน้ำแข็ง เป็นขนมที่เด็กๆ ชอบ เมื่อนำมารับประทานแบบนี้ ผู้ขายมักบอกว่าเป็น ลูกชิด (ซึ่งเป็นปาล์มอีกชนิดหนึ่งที่เนื้อในเมล็ดคล้ายจาก แต่อร่อยกว่า และราคาแพงกว่าจาก) การหลอกลวงผู้บริโภคแบบนี้ มีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้ว

            ทางภาคใต้มีการนำช่อดอกอ่อน และผลอ่อน ซึ่งมีรสฝาด มารับประทานสด ต้มหรือลวก จิ้มน้ำพริก หรือนำไปทำแกงเผ็ดต่างๆ ช่อดอกมีน้ำหวานใช้ทำน้ำตาลได้เหมือนมะพร้าวหรือตาล แต่มักจะนำมาหมักทำน้ำส้มสายชูมากกว่า แต่เดิมจังหวัดสมุทรปราการมีต้นจากมากมายเรียกว่า ป่าจาก อาชีพสำคัญของชาวสมุทรปราการคือ การทำขนมที่ใช้ใบจากห่อเป็นชิ้นยาวๆ แล้วปิ้งให้สุกเรียกว่า ขนมจาก ใบจากใช้มุงหลังคาได้ ส่วนแกนช่อดอกแห้ง นำมาทุบให้แตกเป็นเส้นๆ ใช้ทำแส้ปัดยุง ปัจจุบัน การพัฒนาท้องถิ่นเหล่านี้ทำให้แทบจะไม่มีป่าจากหลงเหลืออยู่อีก