เล่มที่ 24
ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๒)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พรรณไม้ประดับต่างถิ่น

            พรรณไม้ที่กล่าวถึงในวรรณคดีไทยส่วนใหญ่ เป็นไม้พื้นเมืองของไทย ที่พบขึ้นตามธรรมชาติ ในสภาพภูมิประเทศต่างๆ กัน พันธุ์ไม้ที่มีถิ่นเดิม อยู่ต่างประเทศบางชนิดเข้ามาเนิ่นนาน จนปรับตัว กลมกลืนกับไม้พื้นเมือง แพร่กระจายขยายพันธุ์ ไปจนทั่วถิ่นทำให้เข้าใจกันว่าเป็นไม้พื้นเมือง เช่น พุทธชาด รัก และบานเย็น ไม้ประดับบางชนิด ซึ่งปัจจุบันนิยมปลูกกันทั่วไป จนเป็นที่รู้จักกันดี ว่าเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศแน่นอน แต่มักไม่ทราบ ว่า เข้ามาปลูกและเจริญงอกงามในเมืองไทยได้ อย่างไร ตั้งแต่เมื่อใด คนส่วนใหญ่มักคิดว่า พันธุ์ไม้เหล่านั้นเพิ่งจะถูกนำมาปลูกในเมืองไทย เมื่อความนิยมไม้ประดับและจัดสวนเฟื่องฟูเร็วๆ นี้ ก็ได้ เมื่อปรากฏชื่อพรรณไม้ต่างถิ่นเหล่านั้นใน วรรณคดี จึงทำให้ประวัติของไม้ประดับแต่ละชนิด นั้นกระจ่างขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เช่น เบญจมาศ มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ พุทธรักษามีมาตั้งแต่ สมัยอยุธยา เช่นเดียวกับดาหลา หรือกาหลา ซึ่ง เป็นไม้ตัดดอกในปัจจุบัน เป็นต้น

ดอกเบญจมาศ
ดอกดาหลา

ไม้ประดับในวรรณคดีที่น่าสนใจในเชิงประวัติ เช่น

ดาวเรือง (Tagetes erecta Linn.)

ดอกและใบดาวเรือง
ดอกดาวเรืองสีส้มหรือสีน้ำตาลแกมม่วงแซม (ดาวเรืองน้อย)

            ดาวเรือง ดอกไม้สีเหลืองสดใสที่ปลูกประดับตามบ้านตามสวนทั่วไปนั้น เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว ในวงศ์เดียวกับทานตะวัน และบานชื่น ปลูกง่าย ให้ดอกเร็ว มีหลายพันธุ์ทั้งขนาดดอกเล็ก และดอกใหญ่ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก มีบันทึกเป็นหลักฐานว่า ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้นำเข้ามาปลูกครั้งแรกในกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเจริญงอกงามได้ดีจนปลูกกันดาษดื่นในขณะนั้น

            ต้นดาวเรืองสูง ๓๐ - ๖๐ ซม. แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มเล็กๆ ลำต้นอวบแข็ง ใบเป็นใบเดี่ยว ขอบหยักเว้าเป็นแฉกเล็กๆ ลึกบ้างตื้นบ้าง สีเขียวเข้มเช่นเดียวกับลำต้น ช่อดอกกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒ - ๗ ซม. สีเหลือง เหลือง อมเขียว บางชนิดมีสีน้ำตาลแกมม่วงแซม บางพันธุ์มีทั้งดอกย่อยวงนอกและดอกย่อยวงใน บางพันธุ์มีแต่ดอกย่อยวงนอกล้วนๆ ดังนั้น พันธุ์นี้จะไม่ติดเมล็ด พันธุ์ที่มีดอกย่อยทั้งสองวงจะติดเมล็ดง่าย เมล็ดแบน สีดำ เพาะขึ้นง่าย การขยายพันธุ์จึงนิยมใช้วิธีเพาะเมล็ด

            ดาวเรืองชอบที่แจ้ง ดินระบายน้ำดี นิยมปลูกเป็นแปลงประดับสวน และปลูกเป็นไม้กระถาง นอกจากนั้น ในปัจจุบันเกษตรกรยังปลูกเป็นไม้ตัดดอก ที่ทำรายได้ดีอีกชนิดหนึ่ง สีของดอกดาวเรืองเกิดจากรงควัตถุพวกแคโรทีนอยด์ ซึ่งใช้ทำสีย้อมผ้า และผสมอาหารไก่เพื่อให้ได้ไข่ไก่ที่มีสีแดง และผิวหนังไก่มีสีเข้มน่ารับประทานยิ่งขึ้น

            ดาวเรืองมีสรรพคุณใช้เป็นสมุนไพร ใบใช้ทาแผลเน่าเปื่อยและฝี ใช้ดอกผสมกับข่าและสะค้าน สำหรับรับประทานแก้ปวดท้อง ต้นใช้เป็นยาขับลม และแก้ปวดท้อง

ยี่เข่ง

ดอกยี่เข่ง

            ยี่เข่งเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูง ๑.๕ - ๒.๕ เมตร ทรงพุ่มโปร่ง เปลือกต้นสีน้ำตาลเป็นมัน ใบเดี่ยว รูปไข่ ปลายแหลม กว้าง ๒ - ๓ ซม. ยาว ๓ - ๖ ซม. เรียงเป็นเกลียวรอบกิ่ง ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม จะออกดอกเป็นช่อใหญ่ ที่ปลายกิ่งหรือที่ซอกใบส่วนที่ใกล้ยอดที่สุด ดอกมี ๓ สี คือ สีขาว สีชมพู และสีม่วง ลักษณะดอกคล้ายเสลา ตะแบก และอินทนิล เพราะเป็นพันธุ์ไม้สกุลเดียวกัน กลีบดอก ๕ - ๖ กลีบ เป็นแผ่นบางและจีบย่นทุกกลีบ มีโคนกลีบเรียวลงเป็นก้าน แลดูสวยงาม และนุ่มนวล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒ - ๓ ซม. ผลกลม ขนาดเล็ก เมื่อแก่มีสีน้ำตาล ใช้ขยายพันธุ์ได้ แต่นิยมใช้วิธีตอนกิ่งมากกว่า

            ยี่เข่งมีถิ่นกำเนิดในจีนและญี่ปุ่น กระจายพันธุ์ทั่วไป ทั้งในเขตร้อน และเขตหนาว นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะสวยงาม ทนแล้งได้ดี และเจริญเติบโตค่อนข้างช้า ไม่มีปัญหาในเรื่องขนาดและสัดส่วนเมื่อนำมาใช้ในการจัดสวน ในการดูแลรักษา ควรหมั่นตัดแต่งกิ่ง จะทำให้ได้ทรงพุ่มสวยงามและดอกดก การที่กล่าวถึงยี่เข่งในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา เป็นหลักฐานที่แสดงว่า พันธุ์ไม้ชนิดนี้ น่าจะนำเข้ามาในตอนต้นสมัยรัชกาลที่ ๒ และปลูกประดับไว้ ในบริเวณพระราชวัง มากกว่าที่จะนำเข้ามาตอนปลายรัชกาล ที่ตามที่พระยาวินิจวนันดรได้เขียนไว้ในตำนานไม้ต่างประเทศในประเทศไทย ส่วนผู้ที่นำเข้ามาน่าจะเป็นชาวจีนนั่นเอง

ยี่โถ (Nerium indicum Mill.)