ประเทศไทยมีพรรณไม้ที่หลากหลายมาก บางชนิดมีหลายชื่อ และบางชนิดเรียกชื่อซ้ำกัน ทั้งที่เป็นคนละต้น ทำให้เกิดความสับสนว่า เป็นชนิดใด ทางวิทยาศาสตร์ให้ยึดถือเอาชื่อวิทยาศาสตร์ หรือชื่อสากลเป็นหลัก วรรณคดีจึงต้อง อาศัยวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนช่วย พรรณไม้ที่ กล่าวถึงในวรรณคดีมีอยู่หลายชนิดที่ไม่สามารถ ชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นชนิดใด เนื่องจากชื่อนั้นๆ หมายถึงพันธุ์ไม้หลายชนิด และในแต่ละบทกลอน ไม่มีใครทราบว่า จินตกวีจะมุ่งหมายถึงด้านใด เพียงแต่สันนิษฐานกันอย่างมีหลักเกณฑ์เท่านั้น โดยพิจารณาจากลักษณะพืช สภาพแวดล้อม และถิ่นที่เกิดวรรณคดีเรื่องนั้นๆ เช่น กระสัง ชนิดหนึ่งหมายถึง ไม้ล้มลุกต้นเล็กๆ ลำต้นเขียว ใส ชาวบ้านใช้เป็นผัก และตามโรงเรียนนิยมใช้ ทดลองการดูดน้ำสีของพืช อีกชนิดหนึ่งคือ ไม้ต้น ขนาดกลาง อยู่ในวงศ์เดียวกับส้มและมะนาว ใบ เขียวเข้ม และมีต่อมน้ำมันหอมๆ อยู่ที่ใบ ใน บางท้องที่เรียกว่า มะสัง เมื่อพบชื่อกระสังใน วรรณคดี ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณ เพื่อตัดสิน ว่าเป็นชนิดใด
กาหลง
ดอกแก้วกาหลง
พันธุ์ไม้ชื่อกาหลง ในวรรณคดีไทยได้กล่าวถึงแตกต่างกันไปเป็น ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นไม้ดอกหอม และอีกชนิดหนึ่ง ดอกไม่มีกลิ่น และมักจะกล่าวถึงพร้อมๆ กันกับชงโคเสมอ
แก้วกาหลงเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ พบตามป่าดิบใกล้ริมน้ำ ทางภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นไม้ใบดกทรงพุ่มสวย ดอกเล็กสีนวลแกมเขียว หรือสีนวลแกมชมพู ออกดอกตามซอกใบระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ดอกแยกเพศ และแยกต้น ต้นเพศเมีย ดอกไม่มีกลิ่น มักเรียกว่า กระเบา ส่วนต้นเพศผู้ดอกมีกลิ่นหอมมากเรียกว่า แก้วกาหลง ผลกลม เปลือกแข็ง มีขนสีน้ำตาลแกมแดง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๘ - ๑๐ ซม. ภายในผล มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเหล่านี้มีเนื้อนุ่มหุ้มอยู่ มีรสหวานมัน รับประทานได้ ตำรายาไทยใช้น้ำมันที่บีบจากเมล็ด รักษาโรคเรื้อนและโรคผิวหนัง ซึ่งสรรพคุณดังกล่าวนี้ มีรายงานวิจัยรับรองว่า ใช้รักษาโรคได้จริง
พันธุ์ไม้อีกชนิดหนึ่งคือ กาหลง (Bauhinia acuminata Linn.) เป็นไม้พื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวงศ์เดียวกันกับชงโคและหางนกยูง ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ใบคล้ายชงโค แผ่นใบกลมและปลายเว้าลึกตรงกลางจนดูคล้ายใบแฝด สีเขียวเข้ม หรือเขียวแกมเทา ดอกสีขาว ๕ กลีบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕ - ๖ ซม. ออกเป็นช่อ ๒ - ๓ ดอก ที่ปลายกิ่ง ฝักแบน ในแต่ละฝักจะมีเมล็ด ๕ - ๘ เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและกิ่งตอน กาหลงออกดอกตลอดทั้งปี พบขึ้นและปลูกประดับทั่วไป ชื่ออื่นๆ ที่ใช้เรียกกันคือ เสี้ยวดอกขาว เสี้ยวน้อย หรือส้มเสี้ยว
ต้นกาหลงชนิดที่มีใบคล้ายชงโค
ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างกาหลงชนิดนี้กับแก้วกาหลงคือ ดอกไม่มีกลิ่นหอม เมื่อปลูกประดับ จุดเด่นจึงอยู่ที่ดอกใหญ่สีขาวที่ประดับอยู่บนทรงพุ่ม ดังนั้น ในบทวรรณคดีบางบทที่กล่าวถึงกาหลงโดยที่ไม่เน้นเรื่องกลิ่นหอม จึงน่าจะหมายถึงกาหลงชนิดที่สองนี้
จัน
ดอกจัน
พันธุ์ไม้ในวรรณคดีที่ชื่อออกเสียงว่า จัน นั้น มีการเขียนอยู่ ๒ แบบ แบบหนึ่งคือ จัน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำจำกัดความว่า หมายถึง พันธุ์ไม้พวก Diospyros อีกแบบหนึ่งคือ จันทน์ ซึ่งหมายถึง พันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอม เช่น จันทน์แดง จันทน์ชะมด
จัน (Diospyros deccandra Lour.)
จัน หรือจันอิน จันขาว จันลูกหอม เป็นไม้ต้นขนาดกลาง วงศ์เดียวกับมะพลับ และมะเกลือ เปลือกต้นสีน้ำตาลอมดำ เรือนยอดกลม หรือคล้ายรูปกรวย ใบดกแน่น ดอกขนาดเล็กสีขาว หรือเหลืองอ่อน ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมีย แยกกันคนละต้น ผลกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓ - ๕ ซม. เมื่อสุกมีสีเหลืองเนื้อนุ่ม รสหวาน และมีกลิ่นหอม รับประทานได้
ผลของจัน มีแตกต่างกันเป็น ๒ แบบ แบบหนึ่งผลกลมแป้น มีรอยบุ๋มด้านล่างตรงกลาง เรียกกันว่า ลูกจัน อีกแบบหนึ่งผลกลมหนาคล้ายทรงกลม และไม่มีรอยบุ๋ม เรียกกันว่า ลูกอิน ปัจจุบันมักเรียกชื่อโดยรวมทั้งสองแบบไว้ด้วยกันว่า จันอิน หรือ อินจัน ซึ่งถ้าอ่านจากวรรณคดีจะพบว่า ชื่อนี้สุนทรภู่เคยใช้มาแล้วตั้งแต่ประพันธ์เรื่อง สิงหไกรภพ
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้คำอธิบายที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ ชนิดลูกกลมแป้นตรงกลางบุ๋ม ไม่มีเมล็ด เรียกว่า ลูกจันอิน ชนิดลูกกลมรีมีเมล็ดเรียกว่า ลูกจันโอ
จันเป็นไม้เนื้อแข็ง และมีสรรพคุณทางสมุนไพร ตำรายาไทยใช้เนื้อไม้ต้มเป็นยาบำรุงประสาท แก้ปอดและตับพิการ และแก้ร้อนใน เคยปลูกกันตามวัด และในชนบท ปัจจุบันพบได้น้อย
โยทะกา
โยทะกาดอกเหลืองเมื่อดอกโรยจะเป็นสีม่วง
พันธุ์ไม้ในวงศ์เดียวกับกาหลง และหางนกยูง ตามความเข้าใจของคนทั่วไป โยทะกาหมายถึง พันธุ์ไม้ ๒ ชนิดคือ โยทะกาดอกเหลือง หรือชงโคดอกเหลือง และโยทะกาหรือเถาไฟ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า โยทะกาเลื้อย
โยทะกาดอกเหลือง หรือชงโคดอกเหลือง (Bauhinia tomentosa Linn.) เป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศ ดอกสีเหลืองมี ๕ กลีบ เหลื่อมซ้อนกัน คล้ายดวงโคมห้อยระย้าใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกและใบมีกลิ่นฉุน กลีบดอกร่วงง่าย มีปลูกประดับในเมืองไทยมาก่อน พ.ศ. ๒๔๘๓ พระยาวินิจวนันดรได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือไม้ประดับบางชนิดของไทยว่า "เป็นไม้พุ่มสูงราว ๒ - ๒.๕ เมตร ดอกใหญ่ ๖ - ๑๐ ซม. สีเหลืองอ่อน กลีบบนมีสีเลือดหมูแก่ที่โคนกลีบ เมื่อดอกโรยกลายเป็นสีกุหลาบอ่อน ออกเป็นช่อน้อยดอก ดูเหมือนจะเป็นไม้ของอินเดีย เรียกว่า ชงโค" ไม้พุ่มชนิดนี้ เป็นไม้ปลูก ไม่พบขึ้นตามในป่า ดังนั้น โยทะกาที่กล่าวถึงในวรรณคดี คงจะไม่ใช่ชนิดนี้
ส่วนโยทะกา หรือเถาไฟ หรือโยทะกาเลื้อย (Bauhinia integrifolia Roxb.) เป็นไม้เลื้อย มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ของไทย และแหลมมลายู พบตามป่าดิบทางภาคใต้ มีใบเดี่ยวค่อนข้างกลม ปลายเว้าตรงกลางลึกบ้างตื้นบ้าง แต่โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตรงซอกใบ สีเหลืองปนส้มและสีส้มแดงปะปนกันอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเล็ก ไม่มีกลิ่น เส้นผ่านศูนย์กลางดอกเพียง ๑.๕ - ๒ ซม. โยทะกาชนิดนี้ ออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ โยทะกาที่กล่าวถึงในวรรณคดี น่าจะเป็นชนิดนี้ เพราะพบในป่า และมีคำบรรยายให้เห็นว่า ช่อดอกออกระย้าอยู่สูงมาก จนต้องสอย จึงจะถึง
โยทะกาเลื้อย
หงอนไก่ (Celosia argentea Linn.)
หงอนไก่ไทย
คนไทยรู้จักหงอนไก่ว่า เป็นพืชล้มลุกต่างถิ่น มีดอกสีสดใส รูปร่างคล้ายหงอนไก่จริงๆ ปลูกประดับตามบ้านทั่วไป บางครั้งมีการตัดดอกไปรวมกับใบเตย และดอกสร้อยทอง มัดรวมกันเป็นกำเล็กๆ ขายตามร้านดอกไม้ สำหรับใช้บูชาพระ
หงอนไก่ที่เป็นไม้พื้นเมืองของไทยก็มีเช่นกัน พบอยู่ตามริมทาง ที่รกร้างว่างเปล่า และในป่า โดยเฉพาะทางภาคกลาง ภาคเหนือเรียกกันว่า หงอนไก่ไทย หงอนไก่ดง หรือดอกถ้วย ช่อดอก เป็นหางยาวแหลม สีชมพู ต้นสูง ๐.๕๐ - ๑.๐๐ เมตร ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา มีสรรพคุณทางสมุนไพร แต่ไม่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
ส่วนหงอนไก่ฝรั่ง (Celosia argentea Linn. var. cristata Ktze) เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ลำต้นอวบ และใบค่อนข้างนิ่ม ดอกเป็นช่อใหญ่ที่ยอด ลักษณะช่อแผ่แบน ขอบ หยักเว้าและย่นคล้ายหงอนของไก่ มีหลายสี เช่น แดงเข้ม แดงแสด และเหลือง ส่วนมากพบแต่สีแดงเข้ม ดอกไม่มีกลิ่น เมล็ดเล็กๆสีดำมัน ไม่มีหลักฐานว่านำเข้ามาเมืองไทยในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่า น่าจะมีปลูกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะในวรรณคดีหลายเรื่องและหลายบทกล่าวถึงในลักษณะของดอกไม้ที่ปลูกประดับ และมีสีแดงสดใส
พันธุ์ไม้ไทยอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อหงอนไก่ หรือหงอนไก่ทะเล (Heritiera littoralis Dry) อยู่ในวงศ์เดียวกับต้นสำโรง และหัสคุณเทศ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ขึ้นตามป่าชายเลนที่น้ำทะเลท่วมถึง ดอกเล็กเป็นช่อสีชมพูอมม่วง ออกที่ปลายกิ่ง ผลรูปร่างคล้ายหัวของไก่ตัวผู้ที่มีหงอนข้างบน สีเหลือง หรือสีแสด