ไม้แปรรูป
โดยทั่วๆ ไป หมายถึง เฉพาะไม้ที่แปรรูปจากไม้ซุงท่อน ด้วยการเลื่อยหรือถาก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน หรือแปรรูปต่อไปเป็นอย่างอื่น สำหรับการแปรรูปไม้ซุงขนาดเล็ก เช่น ทำเป็นเสา หรือหมอนรองรางรถไฟ ยังนิยมใช้วิธีถากด้วยขวานกันอยู่ทั่วไป แต่ถ้าเป็นไม้ขนาดใหญ่ต้องการแบ่งไม้ออกเป็นสองส่วน หรือหลายๆ ส่วน ต้องใช้เลื่อย เลื่อยที่ใช้แรงคนมักเป็นเลื่อยแบบชัก หากเป็นโรงเลื่อยจักร อาจมีเลื่อยใช้ได้หลายแบบ คือ ทั้งเลื่อยชัก เลื่อยสายพาน และเลื่อยวงเดือน โรงเลื่อยจักรนั้น จัดเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไม้มาก่อนอุตสาหกรรมประเภทอื่น
กองไม้แปรรูป
ไม้แปรรูปที่ได้ สำหรับตลาดภายในประเทศ นิยมเรียกชื่อตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไม้ไปใช้ เช่น เรียกว่า ไม้เสา คาน ตง คร่าว พื้น ฝาและระแนง ส่วนตลาดระหว่างประเทศ แบ่งเรียกตามขนาดไม้ ซึ่งโดยทั่วๆ ไปมีข้อกำหนดดังนี้ ถ้าเป็นไม้ที่มีความหนาต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของความกว้าง ที่กว้างต่ำกว่า ๑๕๐ มิลลิเมตร เรียกว่า ไม้หน้าแคบ ที่กว้างตั้งแต่ ๑๕๐ มิลลิเมตรขึ้นไป เรียกว่า ไม้หน้ากว้าง ไม้หน้ากว้างที่หนาไม่เกิน ๕๐ มิลลิเมตร เรียกว่า ไม้กระดาน ที่หนาเกิน ๕๐ มิลลิเมตร เรียกว่า กระดานหนา ไม้ที่หนาตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของความกว้างขึ้นไป รวมทั้งไม้เหลี่ยม ถ้ามีขนาดกว้างหนาไม่เกิน ๒๒๕ x ๑๕๐ มิลลิเมตร หรือ ๒๕๐ x ๑๒๕ มิลลิเมตร เรียกว่า ไม้หน้าเล็ก ที่เกินขึ้นไป เรียกว่า ไม้หน้าใหญ่ สำหรับการซื้อขายไม้สักที่หนาตั้งแต่ ๑๒๕ มิลลิเมตรขึ้นไป กว้างตั้งแต่ ๑๗๕ มิลลิเมตรขึ้นไป เรียกว่า ไม้ตับ อันที่จริงไม้ตับนั้น หมายถึง ไม้ที่จะต้องนำไปแปรรูปต่อ เช่น ซอยเป็นกระดาน หรือผ่านเป็นไม้บาง ไม้เหลี่ยม หมายถึง ไม้ที่มีหน้าทั้งสี่เท่ากัน ไม้ซุงที่ถากหรือเลื่อย เพื่อให้ได้รูปหน้าตัดขวางเป็นสี่เหลี่ยม เรียกว่า ซุงเหลี่ยม
การแปรรูปด้วยเลื่อยจักร ตามปกติจะให้ไม้แปรรูปประมาณร้อยละ ๔๐-๗๐ ของปริมาตรไม้ท่อน แล้วแต่ขนาดไม้ว่าเล็กโต และลักษณะไม้ว่าคดงอเป็นหลีบเป็นพู หรือว่าตรงเปลา (ไม่มีกิ่ง) ส่วนที่เสียไปจากส่วนนอกๆของท่อน เนื่องจากการทำให้ไม้กลม เป็นเหลี่ยม เรียกว่า ปีกไม้ ส่วนที่มีตำหนิ เช่น ตาหรือรอยแตกร้าว ต้องตัดทิ้งไปเป็นเศษ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งได้แก่ ขี้เลื่อย ซึ่งได้จากการตัดหรือซอย ไม้ทั้งดีและเสียลงให้ได้ขนาดที่ต้องการ ที่แล้วมา ส่วนเสียของไม้เหล่านี้ นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำ ทำไอขับเครื่องต้นกำเนิดกำลังเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือก็ใช้เผาถ่าน หรือไม่ก็เผาทิ้งไป อย่างไรก็ตาม เป็นที่หวังว่า เมื่ออุตสาหกรรมด้านอื่นๆ เจริญขึ้น การใช้ของเสียจากโรงเลื่อย จะเป็นไปด้วยดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และแทนที่จะทำการเลื่อยไม้เพียงอย่างเดียว ต่อไปโรงเลื่อยอาจเป็นที่รวมของอุตสาหกรรมอย่างอื่น เช่น การอาบน้ำยาไม้ อบไม้ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ประเภทอื่นๆ