เล่มที่ 34
โรคฉี่หนู
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กลไกการเกิดโรคและพยาธิสรีรวิทยา

            เมื่อคนไปสัมผัสกับปัสสาวะ ดิน หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเลปโทสไปเร เชื้อก็จะชอนไชเข้าไปตามผิวหนัง หรือเยื่อบุที่มีแผล หลังจากนั้น จะเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ตำแหน่งที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไม่มีบาดแผล หรือร่องรอยโรคให้เห็น ไม่รู้สึกคัน และไม่เจ็บปวด เมื่อเชื้อโรคได้เข้าสู่ร่างกายแล้ว ผนังเซลล์ชั้นนอกของเชื้อเลปโทสไปเร ก็จะทำปฏิกิริยากับร่างกาย และกระตุ้นการหลั่งสาร เป็นผลให้เกิดการอักเสบ ของหลอดเลือดแดง ในอวัยวะต่างๆ ตัวเชื้อเองก็ยังหลั่งสารพิษที่เรียกว่า ชีวพิษภายในตัว (endotoxin) ออกมา ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดง และพยาธิสภาพ ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้เชื้อในแต่ละสายพันธุ์ยังก่อโรคได้มากไม่เท่ากัน บางสายพันธุ์มีสารที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และเกล็ดเลือดยังถูกทำลายได้ด้วย ในขณะเจ็บป่วย ทำให้เกล็ดเลือดของผู้ป่วยต่ำกว่าปกติได้

            ระยะแรก เชื้อจะไชผ่านผิวหนังหรือเนื้อเยื่อเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ในระยะ ๗ - ๑๐  วันแรกของไข้ ในระยะต่อมา เชื้อจะถูกทำลาย โดยภูมิต้านทาน และปฏิกิริยาของร่างกาย ก่อให้เกิดการอักเสบ ของอวัยวะต่างๆ และผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเปราะบางและแตกง่าย ปฏิกิริยาต่อต้านเชื้ออาจรุนแรง จนทำให้เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ตาย หรือทำหน้าที่บกพร่อง จนล้มเหลวในที่สุด หากผ่านพ้นภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ไปได้ ผู้ป่วยจะทุเลา หรือหายได้เองภายใน ๗ - ๒๑ วัน