เล่มที่ 34
โรคฉี่หนู
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ระบาดวิทยาของโรคฉี่หนูในประเทศไทย

            นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธุ์ เป็นผู้รายงานว่า พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และตีพิมพ์ในจดหมายเหตุทางแพทย์ ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย (จพสท.) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยรายงานว่า มีผู้ป่วย ๔ รายมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และเสียชีวิต ๒ ราย หลังจากนั้นจึงได้มีการรายงานผู้ป่วยโรคฉี่หนู จากทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่จำนวนผู้ป่วยมีมากที่สุด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุบัติการณ์ของโรคฉี่หนูผันแปรตามฤดูกาล โดยพบสูงสุดในฤดูฝน ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ของทุกปี การเกิดน้ำท่วม หรือฝนตกหนัก ทำให้หนูจำนวนมากอพยพหนีน้ำท่วมเข้ามาในนาข้าว หรือในแหล่งน้ำที่ชาวบ้านจับปลา หรือเข้ามาในเมือง ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคของน้ำในนาข้าว และในแหล่งน้ำที่ชาวบ้านลงไปทำงาน  

ตารางแสดงจำนวนผู้ป่วยโรคฉี่หนูใน พ.ศ. ๒๕๔๘  จำแนกตามภาคที่ผู้ป่วยอาศัย

            การระบาดของโรคฉี่หนูในประเทศไทยช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคใต้ การระบาดใหญ่ทั้ง ๒ ครั้ง คือ ในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และในภาคใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ เกิดขึ้นภายหลังเกิดอุทกภัย และจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จากจำนวนผู้ป่วยที่รายงานมาที่กองระบาดวิทยา ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๓๘ มีจำนวนระหว่าง ๕๕ - ๒๗๒ รายต่อปี คิดเป็น ๐.๓ ราย ต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปีเท่านั้น ต่อมา จำนวนผู้ป่วยเริ่มเพิ่มขึ้นเป็น ๓๙๘ ราย คิดเป็น ๐.๖๕ รายต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ จำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และใน พ.ศ. ๒๕๔๓ จำนวนผู้ป่วย เพิ่มเป็น ๑๔,๒๘๖ ราย หรือ ๒๓.๑๓ ราย ต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิต ๓๖๒ ราย (ร้อยละ ๒.๖) หรือคิดเป็น ๐.๕๙ รายต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี แต่ใน พ.ศ. ๒๕๔๘ พบว่าผู้ป่วยโรคฉี่หนูลดลงเหลือ ๒,๖๕๐ ราย คิดเป็นอัตราป่วย ต่อประชากรหนึ่งแสนคนเท่ากับ ๔.๒๘ ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต ๓๙ ราย หรือเท่ากับ ๐.๐๖ รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับรายงานข้างต้นนั้นคาดว่า น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากสำนักระบาดวิทยาไม่ได้รับแจ้งข้อมูล ของผู้ป่วยทั้งหมด