เล่มที่ 34
โรคฉี่หนู
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การป้องกันโรค

            เนื่องจากสัตว์ที่เป็นพาหะโรคฉี่หนูมีมากมายจนไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นไปได้ และเชื้อเลปโทสไปเรก็ยังคงปนเปื้อน อยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา การป้องกันโรคนี้ จึงกระทำได้ โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ ในแหล่งที่สงสัยว่า มีเชื้อปนเปื้อน หรือปกป้องตนเองในกรณีที่ต้องสัมผัสสิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อ ดังนั้น วิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการติดเชื้อมีดังนี้

๑. หลีกเลี่ยงสภาวะต่างๆ
  • การสัมผัสโดยตรงกับพาหะนำโรค เช่น หนู สุนัข แมว 
  • การว่ายน้ำหรือลงเล่นในแหล่งน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เช่น ทะเลสาบ คลอง ลำธาร
  • การเดินด้วยเท้าเปล่าบนดิน หรือดินโคลน
๒. ใช้อุปกรณ์ป้องกันเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ
  • สวมรองเท้าบูตเมื่อต้องแช่ในแหล่งน้ำต่างๆ ที่อาจมีเชื้อปนเปื้อน เช่น เมื่อลงดำนา
  • สวมถุงมือยางเมื่อสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น ในขณะรีดนมวัว การสัมผัสลูกหรือรกของสัตว์ที่แท้งออกมา
  • สวมแว่นตาเพื่อป้องกันการกระเด็นของสารคัดหลั่ง หรือน้ำที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะ
๓. กำจัดเชื้อหรือสัตว์ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแพร่เชื้อ
  • กำจัดหนู 
  • แยกสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อไปรักษาและป้องกันการแพร่หรือปนเปื้อนเชื้อในบริเวณที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน หรือแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน
  • ทำความสะอาดบริเวณที่มีสัตว์เลี้ยง มีที่ระบายสิ่งปฏิกูล และการทำลายเชื้อในเขตเลี้ยงปศุสัตว์
๔. การสำรวจโรคในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า 

            รวมทั้งการตรวจแหล่งน้ำ ดินทราย เพื่อค้นหาแหล่งปนเปื้อนหรือแหล่งแพร่เชื้อและดำเนินการแก้ไข

๕. แนะนำผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ ให้รีบพบแพทย์เมื่อมีกลุ่มอาการที่น่าสงสัย 

            เช่น มีไข้เฉียบพลัน ตาแดงปวดกล้ามเนื้อมาก ภายหลังจากสัมผัสน้ำหรือสัตว์ที่สงสัยภายใน ๖ - ๓๐ วัน เพื่อรีบขอรับการตรวจ และรักษาโดยเร็ว และบอกประวัติการเดินทางในระยะเวลา ๑ เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้แพทย์นึกถึงโรคฉี่หนูด้วย

๖. การฉีดวัคซีนป้องกันโรค 

            การฉีดวัคซีนในสัตว์ให้ได้ผลจะต้องใช้วัคซีนที่มีเชื้อหลายๆ สายพันธุ์ที่พบในท้องถิ่นนั้นๆ จึงจะป้องกันการเกิดโรคได้ ส่วนการฉีดวัคซีนในคนไม่นิยมใช้ เพราะป้องกันได้เฉพาะสายพันธุ์อิกเทอโรเฮมอร์ราจิกา และต้องฉีดกระตุ้นทุกปี ประสิทธิภาพก็ยังไม่แน่นอน อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนจำหน่ายในประเทศไทย

๗. การให้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรค

            ในกรณีหากมีการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อเป็นครั้งคราว ควรรับประทานยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการเกิดโรคในแต่ละครั้งคราวไป เช่น ทหารที่เข้าไปฝึกในป่า ผู้ที่เล่นน้ำในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าปนเปื้อนเชื้อ อย่างไรก็ดี การรับประทานยาปฏิชีวนะ ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน