เล่มที่ 34
โรคฉี่หนู
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การรักษา

            ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะแรกๆ และได้รับการรักษาอย่างทันเวลา โอกาสหายมีสูงขึ้น และมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง น้อยกว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์และได้รับการรักษาช้า วิธีการรักษาโรคนี้แบ่งเป็น ๒ แบบดังนี้

การทำลายเชื้อด้วยยาปฏิชีวนะ

            โดยปกติแล้ว ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อนี้ได้เองในเวลา ๗ - ๑๔ วัน แต่การใช้ยาปฏิชีวนะจะช่วยกำจัดเชื้อได้เร็ว ทำให้ไข้ลดลงได้เร็วกว่า และมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า

            หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน อาจรักษาด้วยยากินแล้วนัดตรวจติดตามผลเป็นระยะๆ แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อน หรือการวินิจฉัยยังไม่แน่ชัด แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดในการรักษาโรค

เมื่อให้การรักษาด้วยยาที่ถูกต้อง การตอบสนองของไข้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ในรายที่ไม่มีความผิดปกติของอวัยวะใด ไข้มักลดลงหลังการรักษา ๔๘ ชั่วโมง ในรายที่มีความผิดปกติของอวัยวะหนึ่งแห่ง ไข้มักลดลงหลังการรักษา ๖๐ ชั่วโมง



การรักษาแบบประคับประคอง

            ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง รับประทานอาหารได้น้อย และอ่อนเพลีย ควรรักษาด้วยการเช็ดตัวลดไข้ หรือให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ให้น้ำเกลืออย่างเพียงพอ และเฝ้าติดตามดูอาการทั่วไปอย่างใกล้ชิด ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะต่างๆ ควรได้รับการดูแลตามอาการนั้นๆ เช่น

ภาวะแทรกซ้อนทางไต 

            ควรให้น้ำเกลือให้เพียงพอในระยะที่ไตยังทำงานได้ ให้ระวังระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ หากมีไตวายเฉียบพลัน ปัสสาวะเริ่มออกน้อย ต้องลดการให้น้ำเกลือ หากมีของเสียคั่งในเลือดเพราะไตขับออกไม่ทัน ต้องรักษาต่อ โดยการฟอกไต

ภาวะแทรกซ้อนทางตับ 

            งดอาหารโปรตีนสูง หลีกเลี่ยงยาที่อาจเป็นพิษต่อตับ เฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้ต่ำ

ภาวะแทรกซ้อนทางปอด 

            ควรให้ออกซิเจนให้เพียงพอ ถ้ามีภาวะการหายใจล้มเหลวหรือไอมากจนเป็นเลือด แพทย์ควรพิจารณารับไว้ในหออภิบาล และใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อประคับประคองการหายใจและการแลกเปลี่ยนออกซิเจน จนกว่าจะฟื้นกลับสู่ปกติ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา ๗ - ๑๔ วัน กว่าจะเริ่มทุเลา

ภาวะแทรกซ้อนทางโลหิต 

            มักมีเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออกง่ายกว่าปกติ หากมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด ให้เกล็ดเลือด และเลือดชดเชยให้เพียงพอ

การให้ยาลดการอักเสบ เพื่อช่วยลดปฏิกิริยาในอวัยวะต่างๆ หรือช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น ยังคงเป็นเพียงสมมติฐาน ที่รอคอยการพิสูจน์จากการวิจัย ยาที่อาจใช้ได้ผลคือ คอร์ติโคสเตียรอยด์