ความหมายของคลอง
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ กล่าวถึงความหมาย ของคลองว่า เป็นทางน้ำ หรือลำน้ำที่เกิดขึ้นเอง หรือขุดเชื่อมกับแม่น้ำ หรือทะเล นอกจากนี้ พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๔ (ปรับปรุง) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ อธิบายว่า คลอง คือ ลำน้ำที่ขุดขึ้น เพื่อใช้ในการคมนาคมขนส่ง โดยเชื่อมการติดต่อระหว่างแม่น้ำ หรือน่านน้ำ ให้สะดวกขึ้น หรือขุดเพื่อช่วยในการชลประทาน
โดยนัยดังกล่าว คลองจึงแบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือ คลองธรรมชาติ และคลองขุด ตัวอย่างของคลองธรรมชาติในประเทศไทยมีอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะ ในภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นลำน้ำสายสั้นๆ ไหลลงสู่ทะเลโดยตรง หรืออาจเป็นส่วนหนึ่ง ของลำน้ำสายใหญ่ ที่ไหลลงทะเลก็ได้ เช่น ในภาคตะวันออก มีคลองกระแส เป็นส่วนหนึ่ง ของแม่น้ำประแส ในจังหวัดระยอง และคลองใหญ่ เป็นส่วนหนึ่ง ของแม่น้ำตราด ในจังหวัดตราด ส่วนในภาคใต้มีคลองหลังสวน จังหวัดชุมพร คลองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คลองท่อม จังหวัดกระบี่ คลองนาทวี จังหวัดสงขลา คลองเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเลโดยตรง
ในกรณีของคลองขุดนั้น เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังนี้
๑. ขุดเป็นคลองลัด เพื่อเชื่อมลำน้ำตอนที่ไหลโค้งตวัด หรือเชื่อมแม่น้ำ ๒ สายเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำ มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
๒. ขุดเป็นคลองคูเมือง เพื่อเป็นแนวป้องกันจากศัตรูผู้รุกราน อยู่ถัดจากกำแพงเมืองออกมา เช่น คลองคูเมืองด้านตะวันตกของกรุงธนบุรี และคลองคูเมือง ๓ ชั้น ด้านตะวันออกของเกาะรัตนโกสินทร์ในกรุงเทพฯ
๓. เพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำ และป้องกันอุทกภัยจากน้ำท่วมและน้ำขัง
๔. เพื่อใช้ในการชลประทาน สำหรับพื้นที่เกษตรกรรม
๕. เพื่อใช้ในกิจการประปา สำหรับการอุปโภค และบริโภคน้ำสะอาด ของประชาชน ที่อาศัยอยู่ในเมือง และเขตชุมชนใหญ่ๆ
วัตถุประสงค์ในการขุดคลองข้างต้นนั้น บางครั้งเป็นการขุดคลอง เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ในสมัยโบราณ ส่วนใหญ่เป็นการขุดคลองด้วยเหตุผลข้อที่ ๑ หรือข้อที่ ๒ ในช่วงต่อมา มีวัตถุประสงค์ข้อที่ ๓ และข้อที่ ๔ เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนวัตถุประสงค์ข้อที่ ๕ นั้น เป็นการขุดคลอง เพื่อการประปาในสมัยใหม่ เพื่อสนองความต้องการ ของเมือง หรือชุมชนใหญ่ๆ ในด้านการมีน้ำที่สะอาด สำหรับการอุปโภค และบริโภค