เล่มที่ 33
คลอง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
คลองขุดที่สำคัญของโลก

            ในโลกมีคลองขุดมากมายในประเทศต่างๆ ในที่นี้ จะนำมากล่าวเฉพาะ ที่สำคัญมากเพียง ๓ คลอง โดย ๒ คลองแรกเป็นคลองที่ขุดขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือ ไม่ต้องอ้อมทวีปใหญ่ๆ ส่วนคลองที่ ๓ เป็นคลองขุดที่อาจถือได้ว่า มีอายุเก่าแก่ที่สุดของโลกที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

๑. คลองสุเอซ

            ตั้งอยู่ในประเทศอียิปต์ ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา เป็นคลองที่เชื่อมการติดต่อระหว่าง ทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย โดยขุดตัดคอคอดสุเอซจากเมืองพอร์ตซาอิดทางด้านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปยังเมืองสุเอซทางด้านทะเลแดง คลองนี้ผ่านทะเลสาบ ๒ แห่ง คือ ทะเลสาบทิมซา และทะเลสาบบิตเตอร์ คลองมีความยาว ๑๖๓ กิโลเมตร กว้างน้อยที่สุด ๕๕ เมตร และลึกน้อยที่สุด ๑๒ เมตร ซึ่งช่วยย่นระยะทางเดินเรือ ระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย โดยไม่ต้องอ้อมตอนใต้ ของทวีปแอฟริกาได้ถึง ๖,๔๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเรือผ่านคลองประมาณ ๑๓ ชั่วโมง


ที่ตั้งของคลองสุเอซ ซึ่งขุดเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กับทะเลแดง

            คลองสุเอซขุดขึ้นโดยนักการทูตและผู้ส่งเสริมการขุดคลอง ชาวฝรั่งเศส ชื่อ แฟร์ดีนอง เดอ เลเซป (Ferdinand de Lesseps) ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลอียิปต์ให้ขุดคลองนี้ โดยเริ่มขุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ (ตรงกับรัชกาลที่ ๔ ของไทย) แล้วเสร็จและเปิดใช้ใน พ.ศ. ๒๔๑๒ (ตรงกับรัชกาลที่ ๕ ของไทย) ใช้เงินในการขุดจำนวน ๑๗ ล้านปอนด์สเตอร์ลิง กรรมสิทธิ์ของคลอง ในตอนแรกเป็นของฝรั่งเศส ต่อมาอังกฤษได้เข้าควบคุมผลประโยชน์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ และได้เข้าครอบครองอย่างเด็ดขาด ภายหลังจากได้อียิปต์เป็นดินแดนในอารักขา ของตน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ จนกระทั่งวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ รัฐบาลอียิปต์ได้ประกาศให้คลองนี้ ตกเป็นของรัฐ ทำให้รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศส ประท้วงและเข้าแทรกแซง การดำเนินงานของคลอง ส่งผลให้มีการปิดคลองจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาเมื่อเกิดสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล อียิปต์ได้ปิดคลองสุเอซอีกครั้งหนึ่ง ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๘ ปัจจุบัน คลองสุเอซได้รับการปรับปรุง และเปิดให้เรือนานาชาติแล่นผ่านได้ตามปกติแล้ว นับเป็นคลองที่มีความสำคัญ ทางด้านการค้าและทางยุทธศาสตร์มาก แห่งหนึ่งของโลก

๒. คลองปานามา

            ตั้งอยู่ตรงคอคอดปานามา ระหว่างตอนใต้สุดของทวีปอเมริกาเหนือ กับตอนเหนือสุดของทวีปอเมริกาใต้ ในเขตประเทศปานามา เป็นคลองขุด เพื่อเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก ปากคลองทางด้านมหาสมุทรแอตแลนติก ในทะเลแคริบเบียนมีเมืองโกลอน (Colon) เป็นเมืองท่า ส่วนทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิกมีเมืองบัลโบอา (Balboa) ตั้งอยู่ที่ปากคลอง คลองปานามาเป็นเส้นทางเดินเรือทางลัดที่ช่วยย่นระยะทาง โดยไม่ต้องอ้อมตอนใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ทำให้การเดินทางระหว่าง มหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิกสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น คลองมีความยาว ประมาณ ๖๕ กิโลเมตร กว้างน้อยที่สุด ๙๑ เมตร ลึกน้อยที่สุด ๑๒ เมตร ใช้เวลาเดินเรือผ่านคลองประมาณ ๘ ชั่วโมง


คลองปานามา ซึ่งขุดผ่านทะเลสาบกาตุน ทางตอนเหนือของคลอง และบริเวณที่สูงทางตอนใต้ของคลอง

            ผู้ริเริ่มขุดคลองปานามา คือ แฟร์ดีนอง เดอ เลเซป ซึ่งได้ขุดคลองสุเอซมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่การขุดคลองปานามาในระยะแรกระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๒ - ๒๔๓๒ ทำไม่สำเร็จ เพราะขาดเครื่องมือ และเงินทุน อีกทั้งมีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากโรคระบาดและอากาศร้อน แฟร์ดีนอง เดอ เลเซป จึงต้องขายสิทธิในการขุดคลองให้แก่สหรัฐอเมริกา ซึ่งสนใจการขุดคลองผ่านคอคอดปานามา ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เนื่องจากในช่วงนั้น ชาวอเมริกันจำนวนมากได้ไปตั้งถิ่นฐานทางฝั่งตะวันตก ของประเทศ แถบรัฐโอเรกอนและรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อขุดค้นหาแร่ทองคำ และต่อมา ยังได้หมู่เกาะฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมแห่งแรกในทวีปเอเชียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ สหรัฐอเมริกาได้รับสิทธิให้เป็นผู้ขุดคลองปานามา ตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญา ซึ่งทำขึ้นระหว่างรัฐบาลปานามากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ ตามสนธิสัญญานั้น สหรัฐอเมริกาต้องจ่ายเงินจำนวน ๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่ปานามา และจ่ายเป็นรายปีอีกปีละ ๒๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ โดยปานามายินยอมให้สหรัฐอเมริกามีอำนาจในการปกครองบริเวณ ๒ ฝั่งคลองปานามา ซึ่งมีอาณาเขตกว้าง ๑๖ กิโลเมตร เป็นเวลา ๑๐๐ ปี การขุดคลองปานามาแล้วเสร็จ และเปิดให้เดินเรือได้ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ หลังการเปิดใช้คลองสุเอซ ๔๕ ปี สามารถย่นระยะทางเดินเรือ จากฝั่งตะวันออก ของอเมริกากลาง ไปยังฝั่งตะวันตก โดยไม่ต้องอ้อมทางตอนใต้ ของทวีปอเมริกาใต้ได้ เป็นระยะทางถึงประมาณ  ๙,๐๐๐  กิโลเมตร ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๙๘ สหรัฐอเมริกาได้ทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับประเทศปานามา เกี่ยวกับคลองปานามา ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ สหรัฐอเมริกาต้องจ่ายค่าเช่าคลอง ให้แก่ปานามาเพิ่มขึ้นเป็นปีละ ๑,๙๓๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ หลังจากนั้น รัฐบาลปานามาได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา คืนคลองให้แก่ปานามา แต่สหรัฐอเมริกาไม่ยินยอม ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ และ พ.ศ. ๒๕๐๗ เกิดการจลาจลวุ่นวายขึ้นในเขตคลอง ชาวปานามาและชาวอเมริกัน บาดเจ็บ และเสียชีวิตไปหลายร้อยคน ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๓ สหรัฐอเมริกาเสนอให้ประเทศปานามา ทำสนธิสัญญากันใหม่หลายครั้ง แต่ประเทศปานามาไม่ยินยอม จนกระทั่งในวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๐ สหรัฐอเมริกาจึงได้ทำสนธิสัญญากับประเทศปานามารวม ๒ ฉบับ โดยฉบับที่ ๑ ระบุว่า จะมีการโอนคลองปานามาให้แก่ประเทศปานามา และสหรัฐอเมริกาจะถอนกำลังทหารทั้งหมด ออกจากเขตคลอง ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ส่วนฉบับที่ ๒ ระบุว่า จะมีการรับประกันความเป็นกลาง ของคลองปานามา ให้เรือของทุกชาติแล่นผ่านไปมาในคลองได้

            คลองปานามามีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากคลองสุเอซ คือ คลองนี้ขุดผ่านทะเลสาบหลายแห่ง ที่สำคัญคือ ทะเลสาบกาตุน (Gatun Lake) และทางตอนใต้ของคลองขุดผ่านบริเวณที่สูง โดยจุดสูงที่สุดอยู่เหนือระดับทะเลปานกลาง ๒๖ เมตร อีกทั้งระดับน้ำในทะเลแคริบเบียน ด้านมหาสมุทรแอตแลนติก กับในมหาสมุทรแปซิฟิก มีไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงต้องทำประตูกั้นน้ำภายในลำคลอง เป็นตอนๆ เพื่อยกระดับเรือให้สูงขึ้น หรือลดต่ำลง เมื่อเรือแล่นผ่าน จากปากคลองด้านหนึ่งไปออกปากคลองอีกด้านหนึ่ง ในปีหนึ่งๆ มีเรือแล่นผ่านคลองนี้ นับหมื่นลำ จึงถือเป็นคลองเดินเรือนานาชาติที่สำคัญมาก อีกคลองหนึ่งของโลก

๓. คลองหยวนเหอ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า คลองแกรนด์ (Grand Canal)

            เป็นคลองที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน และถือได้ว่า เป็นคลองที่เก่าแก่ และยาวที่สุด คลองหนึ่งของโลก มีความยาว ๑,๖๐๙ กิโลเมตร ตั้งต้นจากเมืองเทียนจิน (Tianjin) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง ไปจนถึงเมืองหางโจว (Hangzhou) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเซี่ยงไฮ้


ที่ตั้งของคลองหยวนเหอ ทางตะวันออกของประเทศจีน เป็นคลองที่เก่าแก่และยาวที่สุดคลองหนึ่งของโลก

            ในด้านประวัติความเป็นมา ถึงแม้ว่าบางส่วนของคลองหยวนเหอมีอายุเก่าแก่ ย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ ๓ ก่อนพุทธศักราช แต่ช่วงที่สำคัญของคลองนี้ ขุดขึ้น ในรัชสมัยจักรพรรดิยัง-ที (Yang-ti) แห่งราชวงศ์ซุย (Sui dynasty) ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยพระองค์โปรดให้ปรับปรุงลำน้ำที่มีอยู่เดิม และขณะเดียวกันก็มีการขุดคลองบางส่วนขึ้นใหม่ เป็นช่วงคลองที่เรียกว่า ตุงชี (Tungchi section) ซึ่งขุดขึ้นระหว่างแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) กับแม่น้ำหวางเหอ (ฮวงโห) บทบาทสำคัญของคลองนี้ คือ เป็นเส้นทางนำอาหาร ที่อุดมสมบูรณ์ จากลุ่มแม่น้ำฉางเจียงขึ้นไปยังจีนภาคเหนือ กิจกรรมดังกล่าว ทำให้มีการเชื่อมภาคใต้ และภาคเหนือ เข้าด้วยกันทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง และการทหาร

            ปัจจุบันคลองนี้ลดความสำคัญลงไป เนื่องจากไม่ได้รับความนิยม เท่าการคมนาคมขนส่งทางรถไฟ และการเดินเรือตามบริเวณชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งอาหาร แต่ยังคงใช้ประโยชน์ ในการขนส่งวัตถุดิบ ของอุตสาหกรรมบ้างเล็กน้อย รวมทั้งการขนส่งทางเรือในระยะทางสั้นๆ สำหรับชุมชนในท้องถิ่นด้วย