เล่มที่ 33
คลอง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

คลองขุดในประเทศไทย


            ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากคลองเป็นอย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนกล่าวได้ว่า วิถีชีวิตของคนไทยเกี่ยวข้องกับคลองอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด อาจกล่าวถึงคลองขุด ที่สำคัญๆ ของไทย โดยแบ่งออกเป็น ๒ ช่วงระยะเวลาใหญ่ๆ ดังนี้

๑. คลองที่ขุดขึ้นในช่วงก่อนสมัยรัตนโกสินทร์  

            ก. คลองที่ขุดขึ้นในสมัยสุโขทัย

            คลองที่ขุดขึ้นในสมัยสุโขทัยน่าจะสัมพันธ์กับ "ถนนพระร่วง" หรือ "ท่อปู่พระยาร่วง" ที่นักประวัติศาสตร์ และโบราณคดีสันนิษฐานว่า เป็นแนวคลองที่ขุดขึ้น เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำปิงผ่านเมืองกำแพงเพชร มาที่กรุงสุโขทัย และเชื่อมต่อกับคลอง ที่ขุดจากแม่น้ำยม ที่เมืองศรีสัชนาลัยมาที่กรุงสุโขทัยเช่นเดียวกัน

            ข. คลองที่ขุดขึ้นในสมัยอยุธยา
            
            กรุงศรีอยุธยามีสภาพคล้ายเป็นเกาะโดยมีแม่น้ำล้อมรอบอยู่ทุกด้าน ปัจจุบันจึงเรียกชื่อว่า ตัวเกาะเมือง แม่น้ำที่ไหลโอบล้อมตัวเกาะเมือง ได้แก่ แม่น้ำลพบุรี อยู่ทางด้านทิศเหนือ แม่น้ำป่าสัก อยู่ทางด้านทิศตะวันออก และแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ เดิมแม่น้ำลพบุรีไหลไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมา ได้มีการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสัก เรียกชื่อว่า คูขื่อหน้า ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกเหนือสุดของตัวเกาะเมือง แม่น้ำลพบุรีจึงไหลมาลงแม่น้ำป่าสักมากขึ้น เพราะระยะทางใกล้กว่า ส่งผลให้แม่น้ำลพบุรีสายเดิมที่ไหลไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา ตื้นเขินและแคบลง ปัจจุบันเรียกชื่อว่า คลองเมือง อยู่ทางตอนเหนือสุดของตัวเกาะเมือง


แผนที่ตัวเกาะเมืองของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเขียนขึ้นโดยชาวต่างประเทศ ในสมัยอยุธยา
 แสดงให้เห็นแม่น้ำที่โอบล้อมเกาะและคลองต่างๆ ที่ขุดผ่านเมืองเป็นจำนวนมาก

            นอกจากจะมีแม่น้ำล้อมรอบแล้ว ภายในตัวเกาะเมืองยังมีการสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบด้วย ความยาวทั้งหมด ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร และมีการขุดคลองเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายภายในตัวเกาะเมือง ทั้งจากทิศเหนือไปทิศใต้ และทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ทำให้เรือสามารถสัญจรไปมาจากแม่น้ำสายต่างๆ ผ่านตัวเกาะเมืองได้โดยสะดวก คลองที่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ ได้แก่ คลองฉะไกรใหญ่ คลองฉะไกรน้อย คลองประตูเทพหมี คลองประตูจีน และคลองในไก่ (คลองมะขามเรียง) ปัจจุบันคลองเหล่านี้ถูกถมไปหมดแล้ว เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ภายในตัวเกาะเมือง


แผนที่สังเขปตัวเกาะเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยา
 แม่น้ำป่าสัก คลองเมือง และคูขื่อหน้าล้อมอยู่โดยรอบ

            นอกจากการขุดคลองภายในตัวเกาะเมืองของกรุงศรีอยุธยา และสถานที่ใกล้เคียงแล้ว ยังมีการขุดคลองลัด ในลำน้ำเจ้าพระยาหลายแห่ง เพื่อให้เรือเดินทางจากปากน้ำ ไปสู่กรุงศรีอยุธยาได้สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น คลองลัดสำคัญในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ขุดขึ้น ในสมัยอยุธยา เรียงตามลำดับระยะเวลาในการขุด ได้แก่

            คลองลัดบางกอก ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๕ ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ปัจจุบัน กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ไหลผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่าราชวรดิฐ วัดอรุณราชวราราม และท่าเตียน ส่วนแม่น้ำเดิมแคบลง กลายเป็นคลอง ที่เรียกชื่อว่า คลองบางกอกน้อย คลองบางขุนศรี และคลองบางกอกใหญ่ เชื่อมต่อกัน


แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงหน้าวัดอรุณราชวราราม ซึ่งเดิมเป็นคลองลัดบางกอกที่ขุดขึ้นในสมัยอยุธยา


            คลองลัดเกร็ดใหญ่ ขุดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คลองสายนี้ได้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม เมื่อมีคลองลัดตัดตรงไป จึงทำให้แคบลง ปัจจุบัน เป็นคลองบ้านพร้าว เชื่อมต่อกับคลองบางหลวงเชียงราก อยู่ในเขตจังหวัดปทุมธานี

            คลองลัดเมืองนนท์ ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๘ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ปัจจุบัน กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนที่ไหลผ่านหน้าตลาดขวัญ ในจังหวัดนนทบุรี ส่วนแม่น้ำเดิมแคบลง กลายเป็นคลองที่เรียกกันว่า คลองแม่น้ำอ้อม เชื่อมต่อกับคลองบางกรวย

            คลองลัดเกร็ดน้อย ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๕ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ปัจจุบัน กลายเป็นแม่น้ำใหญ่ ของลำน้ำเจ้าพระยา ส่วนลำน้ำเดิมไหลอ้อมผ่านไปทางตำบลเกาะเกร็ด และตำบลอ้อมเกร็ด อำเภอปากเกร็ด ในเขตจังหวัดนนทบุรี เรียกชื่อว่า คลองอ้อมเกร็ด

            คลองลัดโพธิ์ ขุดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ โดยโปรดให้พระยาราชสงคราม (ปาน) เป็นแม่กองขุดคลองนี้ ตรงบริเวณคอคอด ที่แม่น้ำเจ้าพระยาโค้งเข้าหากัน ในเขตพื้นที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในปัจจุบัน เดิมคลองนี้มีความยาว ๒๕ เส้น (๑,๐๐๐ เมตร) ต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำริว่า คลองลัดอาจทำให้น้ำเค็มจากปากน้ำไหลมาถึงกรุงเทพฯ ได้เร็วขึ้น และกระแสน้ำ อาจทำให้คลองลัดกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ได้ในภายหลัง เนื่องจาก การกัดเซาะอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับคลองลัดเกร็ด และคลองลัดบางกอกที่มีมาก่อนแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำทำนบกั้นปากคลอง และถมคลองให้แคบลง แต่ถึงกระนั้น กระแสน้ำก็ยังกัดเซาะตลิ่งบริเวณปากคลองลึกเข้าไป จนความยาวของคลองเหลือเพียง ๖๐๐ เมตรเท่านั้น


คลองลัดโพธิ์ในเขตพื้นที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ปัจจุบันมีสะพานข้าม
แม่น้ำเจ้าพระยา ๒ สะพานต่อเนื่องกัน เป็นแนวขนานไปกับคลองนี้

            เพื่อป้องกันการกัดเซาะตลิ่งปากคลองไม่ให้คงมีอยู่ต่อไป และเพื่อสนองพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ จึงได้มีการทำประตูน้ำถาวรกั้นบริเวณปากคลองทางด้านทิศเหนือ และบุคอนกรีตต ามแนวตลิ่งริมสองฝั่งคลอง โดยจะเปิดประตูน้ำ ก็ต่อเมื่อต้องการให้มีการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเวลาน้ำหลาก ออกสู่บริเวณปากน้ำได้เร็วขึ้น คลองนี้จึงไม่ได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ เช่นคลองอื่นๆ โดยทั่วไป

            นอกจากคลองลัดในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังมีคลองที่ขุดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำสายอื่น ในสมัยอยุธยาที่สำคัญอีก ๒ คลอง คือ คลองสำโรง และคลองพระพุทธเจ้าหลวง - มหาไชยชลมารค

            คลองสำโรง ไม่ปรากฏปีที่เริ่มขุดในครั้งแรก แต่สันนิษฐานว่า คงขุดขึ้นตั้งแต่ สมัยที่ขอมมาสร้างเมืองพระประแดงเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล ต่อมา ในรัชกาล สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้ขุดซ่อมคลองนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๑ เนื่องจากคลองที่ขุดไว้แต่เดิมนั้นตื้นเขิน คลองนี้ขุดแยกจาก แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้าย ที่บ้านปากคลองสำโรง ในตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ไปเชื่อมกับแม่น้ำบางปะกงฝั่งขวาในตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ยาว ๕๑ กิโลเมตร