เล่มที่ 32
หนังสือโบราณของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเขียนสมุดไทย

            คนไทยโบราณนิยมเขียนตัวอักษรใต้เส้นบรรทัด และเนื่องจากสมุดไทยแต่ละเล่ม ไม่มีมาตรฐาน ในการกำหนดขนาดความกว้างยาวของหน้ากระดาษ จำนวนหน้า และไม่มีเส้นบรรทัดอีกด้วย ดังนั้น การเขียนหนังสือแต่ละครั้ง จึงไม่จำกัดว่า หน้าหนึ่งๆ จะต้องมีจำนวนบรรทัดเท่าใด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เขียนหนังสือ ที่นิยม และพบมากที่สุด คือ ๓ - ๔ บรรทัด

            เมื่อจะเขียนหนังสือ ต้องขีดเส้นบรรทัดไว้ก่อน โดยใช้ตะกั่วนมเหลาแหลมขีดเส้นบรรทัด ซึ่งต้องกำหนดความถี่ห่าง ของช่องไฟระหว่างบรรทัด ให้ได้ระดับเสมอกันทุกเส้นบรรทัด ตลอดทั้งเล่มสมุด และต้องให้มีที่พอ สำหรับการเขียนตัวอักษรใต้เส้นบรรทัดด้วย ส่วนการเขียนตัวอักษรบนบรรทัด ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เพิ่งจะนิยมกัน ในสมัยที่ตัวอักษรโรมัน ได้เข้ามาสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณปลายรัชกาลที่ ๓ ถึงต้นรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


การเขียนสมุดไทย
นิยมเขียนตัวอักษรใต้เส้นบรรทัด

            วัสดุที่ใช้เขียนสมุดไทยดำ และสมุดไทยขาว มีหลายอย่าง ทั้งที่ใช้แตกต่างกัน และที่ใช้เหมือนกัน เช่น ดินสอขาว และน้ำหมึกขาว ใช้กับสมุดดำ น้ำหมึกดำใช้กับสมุดขาว ส่วนน้ำหมึกสีแดง สีเหลือง และสีทอง ใช้ได้ทั้งสมุดดำและสมุดขาว อุปกรณ์ที่ใช้เขียนสมุดไทย ส่วนใหญ่ได้มาจากวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นบ้าน

            ดินสอขาว ได้มาจากดินสอพอง (marky limestone) ชนิดหนึ่ง มีเนื้อละเอียด แข็ง สีขาว เมื่อจะนำมาใช้ประโยชน์ในการเขียน ต้องเลื่อยให้เป็นแท่งเล็กๆ

            ปากกาหรือปากไก่ ทำด้วยไม้หรือขนไก่ เหลาแหลม บากให้มีร่อง สำหรับให้น้ำหมึกเดิน ใช้ชุบน้ำหมึกสีต่างๆ เขียนตัวหนังสือ ได้แก่ น้ำหมึกสีขาว ดำ เหลือง แดง และทอง น้ำหมึกสีต่างๆ ดังกล่าวนี้ ได้มาจากวัสดุธรรมชาติ กล่าวคือ
  • น้ำหมึกสีขาว ได้มาจากเปลือกหอยมุก ที่ฝนหรือบดให้ละเอียด จนเป็นแป้งผสมกับกาวยางมะขวิด
  • น้ำหมึกสีดำ ได้มาจากเขม่าไฟบดละเอียด ผสมกับกาวยางมะขวิด หรือใช้หมึกจีนฝนกับน้ำ
  • น้ำหมึกสีแดง ได้มาจากชาด ผสมกับกาวยางมะขวิด
  • น้ำหมึกสีเหลือง ได้มาจากส่วนผสมของรงกับหรดาล รงเป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง มีสีเหลือง ส่วนหรดาลเป็นแร่ มี ๒ ชนิด คือ หรดาลแดง และหรดาลกลีบทอง โดยแร่ที่นำมาใช้ทำน้ำหมึกสีเหลืองนั้น เป็นชนิดหรดาลกลีบทอง
  • น้ำหมึกสีทอง ได้มาจากทองคำเปลว ซึ่งมีวิธีการนำมาใช้ แตกต่างจากหมึกชนิดอื่น คือ ต้องเขียนตัวอักษรด้วยกาว ที่ได้มาจากยางไม้ เช่น กาวยางมะขวิด แล้วใช้ทองคำเปลว ปิดทับบนกาว จะได้อักษรเส้นทองที่เป็นเงางาม แต่ถ้าผสมทองลงไปในกาว เส้นอักษรจะขาดและไม่ขึ้นเงา
            เนื่องจากรูปลักษณะของสมุดไทยมีหลายอย่าง และใช้วัสดุหลายชนิด เขียนตัวหนังสือ ทำให้มีการเรียกชื่อสมุดไทยที่แตกต่างกันไปหลายอย่าง โดยอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ วิธีเรียก คือ

            ก. เรียกชื่อสมุดตามประโยชน์ที่ใช้

                        เช่น สมุดถือเฝ้า สมุดรองทรง สมุดไตรภูมิ

                        สมุดถือเฝ้า คือ สมุดที่ใช้บันทึกเรื่องราว หรือข้อราชการอันจำเป็น สำหรับอ่านถวายพระเจ้าแผ่นดินในที่เฝ้า หรือสำหรับจดบันทึก พระราชกระแส หรือข้อราชการต่างๆ ขณะอยู่ในที่เฝ้า ลักษณะเฉพาะของสมุดถือเฝ้าอยู่ที่ขนาดรูปเล่ม และวิธีเปิดสมุด หรือการพลิกหน้าสมุดจากขวาไปซ้าย

                        สมุดรองทรง คือ หนังสือสมุดไทยที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้ ส่วนมากจะมีรูปทรง และขนาดเท่ากับสมุดถือเฝ้า

                        สมุดไตรภูมิ คือ หนังสือสมุดไทยที่สร้างขึ้น เพื่อใช้เขียนเรื่องไตรภูมิโดยเฉพาะ เป็นสมุดขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๒๘ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๕๑ เซนติเมตร

            ข. เรียกชื่อสมุดตามสีของเส้นอักษรที่ปรากฏในเล่มสมุด

                        เช่น สมุดดำเส้นขาว สมุดดำเส้นหรดาล สมุดเส้นรง สมุดเส้นทอง สมุดขาวเส้นดำ