เล่มที่ 32
หนังสือโบราณของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การทำเล่มสมุด

            สมุดไทยมีหลายชนิดและหลายขนาด ซึ่งแต่ละชนิด และแต่ละขนาด มีชื่อเรียกต่างกันออกไป ในภาษาช่างทำสมุด นิยมเรียกชื่อ ตามจำนวนหน้า และประโยชน์ใช้สอยของสมุด เช่น สมุด ๕๐ มาลัยตัด สมุด ๔๐ ไขหน้าเส้นตอก สมุด ๓๐ สมุดโหร สมุดคืบ สมุดพระมาลัย การเรียกชื่อสมุด ๕๐, ๔๐ และ ๓๐ เหล่านี้หมายถึง สมุดที่มีจำนวน ๕๐, ๔๐ และ ๓๐ กลีบ คำว่า กลีบ ในที่นี้ หมายถึง หน้ากระดาษสมุดไทย ที่เป็นรอยพับคู่หนึ่ง ถ้านับเป็นฝาหรือหน้า จะเท่ากับสมุด ๑๐๐ ฝา (หน้า) ๘๐ ฝา (หน้า) และ ๖๐ ฝา (หน้า) ส่วนสมุดโหร คือ สมุดที่โหรนำไปใช้จดปฏิทิน และสมุดคืบ คือ สมุดพก หรือสมุดขนาดเล็ก มีเพียง ๑๐ - ๑๑ กลีบเท่านั้น ตรงข้ามกับสมุดพระมาลัย ซึ่งมีขนาดกว้าง และยาวกว่าสมุดชนิดอื่นๆ เท่าที่พบในปัจจุบัน มีขนาดกว้าง ๑๕ - ๒๕ เซนติเมตร ยาว ๖๐ - ๗๐ เซนติเมตร ในขณะที่สมุดชนิดอื่นๆ มีขนาดกว้าง ๑๐ - ๑๓ เซนติเมตร ยาว ๓๓ - ๓๕ เซนติเมตร ส่วนสมุดไขหน้าเส้นตอก หมายถึง สมุดที่ทำหน้ากว้างกว่าปกติ

            ในการทำสมุดนั้น ช่างทำสมุดจะทำแบบพับสมุดไว้ทุกขนาดและชนิด ของสมุด ฉะนั้น เมื่อได้กระดาษที่พร้อมจะทำสมุดแล้ว ก็ใช้ไม้แบบ ซึ่งเป็นไม้แผ่นหนาๆ มีขนาดกว้างยาวเท่ากับหน้าสมุดที่ต้องการจะทำ วางไม้แบบลงบนตอนกลางตามขวางของแผ่นกระดาษ นำมีดหักสมุด ซึ่งเป็นมีดไม่มีคม ปลายมน มีด้ามถือ กรีดกระดาษให้เป็นรอยตามแบบทั้งสองข้าง เอาไม้แบบออก แล้วหักกระดาษไปตามรอยที่ขีดนั้น กลับไปกลับมา จนหมดกระดาษด้านหนึ่ง และต้องพยายามหักพับให้เป็นแนวตรงระดับ เสมอกันทุกตอน ทำวิธีเดียวกันนี้อีกด้านหนึ่ง โดยไม่ต้องวางแบบอีก ถ้ากระดาษสั้นและต้องการจะต่อกระดาษให้หน้าสมุดยาวตามต้องการ ต้องพับริมกระดาษนั้น ให้เป็นขอไว้สำหรับเป็นที่ต่อหน้าสมุด แล้วใช้แป้งเปียกที่ใช้ลบสมุด ทากระดาษส่วนที่พับเป็นขอไว้ต่อหน้าสมุด ให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ


กระดาษที่พับเป็นสมุดมีหลายขนาด

            กระดาษที่พับกลับไปกลับมาแล้วนี้ ต้องตัดริมทั้งสองข้างให้เรียบ เป็นแนวตรง และได้รูปดีก่อนจึงทำปกสมุด การทำปกสมุดก็คือ การติดคิ้วสมุดลงบนปกหน้าทั้ง ๒ ด้าน ของเล่มสมุดนั่นเอง คิ้วสมุด คือ แถบกระดาษสมุด ซึ่งมีความกว้าง ประมาณ ๑ - ๒ เซนติเมตร ทาด้วยแป้งเปียก ติดไว้ริมขอบของใบปกสมุดโดยรอบ ๔ ด้าน ติดคิ้วนี้ โดยเรียงซ้อนกัน ๓ - ๕ ชั้น ให้ได้ระดับลดหลั่นจากกว้างขึ้นไปหาแคบ เสร็จแล้ว จะได้สมุดไทยที่ต้องการ สมุดไทยเล่มหนึ่งๆ จะมีจำนวนหน้าและขนาด ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้สมุด