เล่มที่ 32
หนังสือโบราณของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การรวบรวมหนังสือโบราณ

            ในปัจจุบัน หนังสือโบราณของไทย มีกระจัดกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ แต่เดิมหนังสือเหล่านี้เมื่อสร้างแล้ว ถ้าไม่ใช่เรื่องในพระพุทธศาสนา ก็จะเก็บรักษา อยู่ในบ้านเรือน ของคนทั่วไป มีการเผยแพร่ โดยวิธีคัดลอกสืบต่อกันมา ถ้าเป็นเรื่องในพระพุทธศาสนาก็จะนำไปถวายวัด เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้เป็นการสืบพระศาสนา และใช้เป็นตำราเรียน หากพิจารณาตามประวัติการศึกษาเล่าเรียนของเด็กไทยแล้ว ย่อมมีความชัดเจนอย่างยิ่งว่า วัดเป็นสถานศึกษามาตลอดสมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยครูผู้สอนหนังสือก็คือ พระสงฆ์ ในวัดต่างๆ นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ วัดจึงเป็นแหล่งที่มีสรรพตำราต่างๆ ทั้งทางโลก และทางธรรมจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นหนังสือประกอบการศึกษาเล่าเรียน

            นอกจากนั้น คนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนต่างก็มีความเชื่อว่า การสร้างหนังสือไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมะ คือ เรื่องในทางพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก และวรรณกรรมชาดกต่างๆ หรือหนังสือประเภทอื่นๆ เช่น ตำรายา ตำราทำนายโชคชะตา คาถา เลขยันต์ เมื่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะนำหนังสือเหล่านั้นถวายแก่วัด หรือพระสงฆ์ เป็นศาสนบูชา จะได้รับอานิสงส์บันดาลให้สมหวังในสิ่งที่ประสงค์ เพื่อให้ตนเองได้รับผลบุญ มีความสุขสบาย มีโอกาสไปเกิดในสวรรค์ รวมทั้งได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บุคคลอื่นตามความปรารถนาด้วย


ตำรายา

            เมื่อการสร้างหนังสือเป็นที่นิยมกันมากยิ่งขึ้น ก็ทำให้หนังสือเหล่านี้ มีฉบับซ้ำๆ กันเป็นจำนวนมาก ในระยะหลังต่อมา เมื่อความนิยมในการใช้คัมภีร์ใบลาน และหนังสือสมุดไทยหมดไป หนังสือโบราณของไทยดังกล่าว ไม่มีการสร้างขึ้นใหม่อีกต่อไป ส่วนที่อยู่ในครอบครองของวัด ก็ขาดการดูแลรักษา ปล่อยให้ชำรุดเสียหายโดยมาก ส่วนที่ยังอยู่ตามบ้านเรือน ทายาทปัจจุบัน ซึ่งได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษไม่สนใจที่จะเก็บรักษาสืบต่อไป เห็นว่าเป็นของไม่มีประโยชน์ ถ้าเก็บไว้ในบ้านเรือน ก็จะทำให้สกปรก รกรุงรัง เป็นที่อาศัยของปลวก มด แมลงต่างๆ ยากต่อการดูแลรักษา จึงนำไปถวายวัดบ้าง เผาทิ้งบ้าง

            หลักสำคัญของการรวบรวมหนังสือโบราณอีกประการหนึ่งคือ การเผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับหนังสือโบราณให้แก่ชุมชน ในท้องถิ่นต่างๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจ เป็นการเผยแพร่ และแนะนำวิธีการสงวนรักษา หนังสือโบราณ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้ช่วยกันดูแลรักษาทรัพย์สินทางปัญญา และมรดกทางวัฒนธรรมประเภทนี้ ไว้เป็นสมบัติ และเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของตนสืบไป