อักษรบอกอังกา
คัมภีร์ใบลานที่จารเสร็จแล้ว จะไม่ใช้ตัวเลขเรียงลำดับหน้า เหมือนหนังสือทั่วไป แต่จะใช้ตัวอักษรแทน เรียกว่า "อักษรบอกอังกา" ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนเลขหน้าในใบลานนั่นเอง อังกาเหล่านี้ จะจารไว้ที่กึ่งกลาง ริมซ้ายด้านหลังของใบลานแต่ละใบ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

อักษรบอกอังกา เป็นอักษรที่ใช้บอกเลขหน้าของคัมภีร์ใบลาน
อักษรบอกอังกา หรืออักษรที่ใช้บอกหน้าของหนังสือใบลาน ใช้พยัญชนะในภาษาบาลี ซึ่งมีอยู่ ๓๓ ตัว คือ ก ข ค ฆ ง จ ฉ ช ฌ ญ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ต ถ ท ธ น ป ผ พ ภ ม ย ร ล ว ส ห ฬ อ
รูปแบบอักษรที่ใช้บอกอังกานิยมใช้แบบเดียวกับอักษรที่ใช้จารเนื้อเรื่อง เช่น คัมภีร์ใบลานจารอักษรขอมบรรจง อักษรบอกอังกา ก็ต้องใช้อักษรขอมบรรจงเช่นเดียวกัน อักษรบอกอังกาแต่ละตัว ต้องผสมรูปสระ ๑๒ สระ ตามแบบสระในภาษาบาลี โดยเริ่มต้นตั้งแต่ รูปอักษรตัวแรก คือ อักษร ก ผสมกับรูปสระดังนี้ "ก กา กิ กี กุ กู เก ไก โก เกา กํ กะ" เมื่อครบ ๑๒ ลานแล้ว ลานที่ ๑๓ ต้องเริ่มต้นอักษรตัวใหม่ต่อไป คือ อักษร ข ผสมกับสระต่อไป อีก ๑๒ ลาน ใบลานที่เรียงลำดับอังกาครบ ๒ รูปอักษรแล้ว จะมีจำนวน ๒๔ ลาน จัดรวมเป็นชุดเดียวกัน เรียกว่า "ผูก" ดังนั้นคัมภีร์ใบลาน ๑ ผูก จึงมี ๒๔ ลาน
อนึ่ง เรื่องที่จารลงในใบลานอาจจะมีเนื้อเรื่องยาวมาก ผูกเดียวไม่จบ ต้องจารต่อกันหลายผูกนับเนื่องเรียงลำดับไปเป็นผูก ๒ ผูก ๓ เรื่องหนึ่งๆ อาจมีจำนวนมากถึง ๑๐ ผูก ๒๐ ผูก หรือมากน้อยกว่านั้นก็ได้ อักษรที่ใช้บอกอังกา ก็จะใช้พยัญชนะเรียงตามลำดับไป จนถึงพยัญชนะตัวสุดท้ายคือ "อ" ถ้ายังไม่จบเรื่อง อักษรต่อไปให้ย้อนกลับไปใช้อักษร "ก" โดยมีอักษร "ย" ควบกล้ำด้วย คือ "กฺย กฺยา กฺยิ กฺยี กฺย กฺยู เกฺย ไกฺย โกฺย เกฺยา กฺยํ กฺยะ" แล้วต่อด้วยอักษร "ขฺย" เรียงลำดับไปทำนองเดียวกับอักษรบอกอังกา ในรอบแรก ส่วนผูกสุดท้ายหรือผูกอื่นๆ ถ้าหากมีจำนวนลานเกินกว่า ๒๔ ลาน ตั้งแต่ ๒๕ ลาน ถึง ๔๐ ลาน หรือมากน้อยกว่านั้น ก็ยังคงนับจำนวน ๒๔ ลานเป็น ๑ ผูก เป็นเกณฑ์เสมอไป ส่วนลานที่เกินนั้น ให้นับจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๑, ๒, ๓, ๔ เรียงลำดับไป ตัวอย่างเช่น ในผูกมี ๓๐ ลาน ต้องเรียกว่า ๑ ผูก ๖ ลาน หรือ ๑ ผูก ๖ ใบ หรือจะใช้ว่า ๓๐ ใบก็มี
เมื่อเรียงหน้าหนังสือใบลานตามลำดับอังกาถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ใช้ไหม หรือด้าย หรือเชือก ทำเป็นหูร้อย เรียกว่า "สายสนอง" ใช้สายสนองผูกหูใบลานตามช่องที่เจาะไว้ในตอนแรก การผูกหูใบลาน จะผูกเฉพาะหูด้านซ้ายเพียงด้านเดียว ปล่อยด้านขวาให้ว่างไว้ เพื่อความสะดวกในการเปิดพลิกใบลาน สายสนองที่ใช้ผูกหูใบลานนั้น ปลายข้างหนึ่งต้องทำเป็นห่วงไว้ แล้ววนปลายสายอีกข้างหนึ่ง รอบกึ่งใบลานด้านบน พร้อมกับสอดปลายสายสนองเข้าไปในห่วง ที่ทำไว้นั้น ทั้งนี้เพื่อใช้ดึงและมัดใบลานให้แน่นเมื่อต้องการจะเก็บ และคลายสายสนองออกขณะคลี่หรือพลิก เพื่อการอ่านใบลาน แต่หากคัมภีร์นั้นไม่มีการแบ่งผูก ใช้วิธีเรียงลำดับต่อๆ กัน ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง แม้จะมีจำนวนลานมากเท่าใดก็ตาม รวมเรียกว่า "กับ" คัมภีร์กับหนึ่งจะมีเส้นเชือกยาวร้อยรวมลานทั้งหมดไว้ด้วยกันทั้ง ๒ หู (๒ รู) โดยมีไม้ประกับร้อยปิดหน้า - หลังเพื่อให้ลานแข็งแรง ไม่หักเดาะ หรือฉีกขาดง่าย เชือกที่ร้อยหูคัมภีร์ทั้ง ๒ เส้นนี้เรียกว่า สายสนอง เช่นเดียวกัน