เมื่อนำเปลือกข่อยขึ้นจากน้ำด่างแล้ว ต้องนำไปล้างในน้ำคลอง หรือในร่องน้ำ ที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา ล้างเปลือกข่อยให้สะอาดจนหมดด่าง แล้วบีบให้แห้ง โดยนำมาเข้าที่ทับน้ำ ซึ่งทำด้วยไม้กระดาน ๒ แผ่น กว้างประมาณ ๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร หนาประมาณ ๙ - ๑๐ เซนติเมตร แผ่นหนึ่งวางเป็นพื้นสำหรับวางเปลือกข่อย อีกแผ่นหนึ่งมีช่องสำหรับใส่ไม้ เพื่อวางไว้ข้างบน ลักษณะคล้ายกับที่ทับกล้วยขนาดใหญ่ ผู้ทำจะนั่งทับบนไม้กระดานนั้น ทำให้น้ำไหลออกมา จนเปลือกข่อยแห้งสนิท เพื่อไม่ให้เปลือกเน่า แล้วนำมาเลือกแยกเปลือกอีกครั้งหนึ่ง
เปลือกข่อยที่เปื่อยยุ่ยแล้ว เมื่อจะทำให้เป็นเยื่อกระดาษ ต้องทุบให้ละเอียด โดยวางเปลือกข่อยที่จะทุบบนเขียง ซึ่งเป็นไม้ประดู่ หรือไม้มะขามขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๖๐ - ๗๐ เซนติเมตร และมีค้อนทุบข่อยที่ทำจากไม้ชิงชัน หรือไม้ประดู่ หัวค้อนเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เซนติเมตร หน้าค้อนเรียบ ตรงกลางเจาะเป็นที่ใส่ด้ามยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ใช้ค้อนไม้ ๒ อัน ถือทั้ง ๒ มือทุบสลับกัน การทุบต้องทุบตรงๆ เพื่อให้หน้าค้อนเรียบเสมอกัน และทุบค้อนให้ลงบนข่อยเป็นแถว โดยซ้ำค้อนกันเล็กน้อย วนไปมาประมาณ ๓ รอบ ถ้ามีเศษกระดาษเก่าที่ทำไว้ในคราวก่อน ก็นำไปชุบน้ำจนอ่อนยุ่ย แล้วนำมาใส่รวมในข่อยที่ทุบใหม่นั้นอีก นำน้ำมาพรมเยื่อข่อยที่ทุบไว้ในรอบแรกนี้ ให้เปียกพอสมควร แล้วทุบอีกครั้ง วนไปมาประมาณ ๖ - ๗ รอบ การทุบครั้งหลังนี้ เรียกว่า สบข่อย ถ้าทุบพร้อมกันสองคน โดยนั่งหันหน้าเข้ากัน และลงค้อนคนละที เรียกว่า สบรายคน เมื่อทุบจนละเอียดดีทั่วกันแล้ว เปลือกข่อยนั้นจะมีลักษณะเป็นเยื่อ พร้อมที่จะใช้ทำกระดาษได้ต่อไป
จ. การหล่อกระดาษ
การหล่อกระดาษแต่ละแผ่นนั้น หากต้องการให้เนื้อกระดาษมีความหนาเท่าๆ กัน ทุกแผ่น ช่างทำกระดาษนิยมปั้นเยื่อข่อยให้เป็นก้อน มีขนาดเสมอกัน ประมาณเท่าผลมะตูม แต่ถ้าเป็นช่างผู้ชำนาญ จะกะขนาดได้เสมอกัน โดยไม่จำเป็นต้องปั้นเป็นก้อนไว้ก่อนก็ได้
จากนั้นนำเยื่อข่อยที่ปั้นเป็นก้อนแล้วนี้ ละลายน้ำในครุ ซึ่งเป็นภาชนะอย่างหนึ่ง ทำด้วยไม้ไผ่สานตาถี่ ลักษณะคล้ายกระบุง สูงประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ปากครุมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๕ เซนติเมตร มีงวงที่ปากครุสำหรับถือ ตัวครุชันยาไว้โดยรอบ ใช้มือตีก้อนเยื่อข่อยจนแตกและละลายปนกับน้ำดีแล้ว วางพะแนงลงในน้ำนิ่ง ซึ่งอาจเป็นบ่อ หรือสระที่ชักน้ำจากลำคลอง หรือท้องร่อง เข้ามาเก็บกักไว้
พะแนง คือ แบบพิมพ์ที่จะใช้ทำแผ่นกระดาษ ลักษณะเป็นตะแกรง มีกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่กรุด้วยผ้ามุ้งหรือลวดมุ้ง ขึงให้ตึงกับขอบไม้นั้น ไม้ที่ใช้ทำกรอบพะแนงนิยมใช้ไม้สัก ที่มีความหนา ประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร และใช้ไม้หวายขมผ่าซีกมาประกอบ ทบชายผ้ามุ้ง ตอกด้วยตะปูตรึงให้ติดกับพะแนง ผ้ามุ้งที่ทำพะแนง ต้องย้อมด้วยยางมะพลับจนแข็ง จึงจะใช้ได้ และไม่เปื่อยง่าย ส่วนขนาดของพะแนงนั้น โดยทั่วไป มีความกว้างยาวเท่ากับความกว้างยาวของหน้ากระดาษที่ต้องการ ซึ่งโดยปกตินิยมใช้ ๓ ขนาด คือ
๑. ขนาดสมุดธรรมดา กว้าง ๕๕ เซนติเมตร ยาว ๒๒๐ เซนติเมตร
๒. ขนาดสมุดพระมาลัย กว้าง ๙๘ เซนติเมตร ยาว ๒๒๐ เซนติเมตร
๓. ขนาดกระดาษเพลา กว้าง ๕๕ เซนติเมตร ยาว ๑๗๕ เซนติเมตร
เมื่อวางพะแนงลงในสระหรือบ่อกักน้ำ ซึ่งมีน้ำที่นิ่งและใสแล้ว ส่วนที่เป็นตะแกรงจะจมอยู่ใต้น้ำ ขอบของพะแนงจะลอยบนผิวน้ำ ให้นำเยื่อข่อยที่ละลายแล้วในครุ เทลงในพะแนงให้ทั่ว เกลี่ยเยื่อข่อยในพะแนง ให้แผ่กระจายเสมอกัน แล้วจึงพรมน้ำให้ทั่วอีกครั้งหนึ่งก่อนยกขึ้นจากน้ำ ขณะที่ยกพะแนงขึ้นจากน้ำ ต้องยกให้อยู่ในระดับราบเสมอกันทั้งแผ่น เพื่อให้เยื่อข่อยที่เกาะติดอยู่ที่ผิวหน้าของตะแกรง มีความหนาบางเท่ากันตลอดทั้งแผ่น วางพะแนงพิงตามแนวนอนให้เอียงประมาณ ๘๐ องศา แล้วใช้ไม้ซางยาวๆ คลึงรีดเยื่อข่อยบนพะแนงนั้น ให้น้ำตกจากพะแนงจนแห้ง และหน้ากระดาษเรียบเสมอกัน ยกพะแนงขึ้นตั้งพิงราวพะแนง ซึ่งนิยมใช้ไม้ไผ่ทำเป็นราว วางพะแนงตั้งพิงให้เอียงประมาณ ๔๕ องศา ตากแดดไว้ จนแห้งสนิท โดยกลับเอาข้างล่างขึ้นข้างบน เยื่อข่อยที่แห้งติดอยู่กับพะแนงนั้น เมื่อลอกออกจากพะแนงจะเป็นกระดาษแผ่นบางๆ เรียกว่า กระดาษเพลา ส่วนกระดาษที่หล่อให้หนามากๆ นั้นเก็บไว้ทำเป็นเล่มสมุดต่อไป
กระดาษเพลา (อ่านว่า เพฺลา) แม้จะเป็นกระดาษเนื้อบาง แต่ก็มีคุณสมบัติ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง นอกจากใช้ในการขีดเขียนได้แล้ว ยังนำไปใช้ในกิจการอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ใช้ทำหมันยาเรือ ปั่นเป็นเส้นใช้แทนด้าย เย็บซ่อมสมุดไทย และใช้เป็นส่วนประกอบการทำดอกไม้ไฟ เช่น ใช้ทำรองดอกไม้เทียน นอกจากนั้นยังใช้ในงานช่างทองได้อีกด้วย โดยในกลุ่มช่างตีทอง นิยมเรียกกระดาษเพลาว่า กระดาษดาม ในจังหวัดภาคเหนือ เช่น จังหวัดลำปาง เรียกกระดาษเพลาว่า กระดาษน้ำโท้ง