เล่มที่ 32
สิทธิมนุษยชน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สิทธิมนุษยชนกับศาสนาและสังคมไทย

            เนื่องจากคำว่า "สิทธิมนุษยชน" เป็นคำใหม่ จึงไม่ปรากฏอยู่ในภาษา ของหลักธรรมในศาสนาต่างๆ แต่ความหมายอันลึกซึ้งของสิทธิมนุษยชน มีอยู่ในทุกศาสนา ซึ่งเห็นว่าชีวิตมนุษย์มีคุณค่า ดังนั้น จึงมีบัญญัติ ห้ามทำลายชีวิตมนุษย์ ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ ถือว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะต่างก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจกฎธรรมชาติเดียวกัน ทุกคนต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกคนต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรม นอกจากนั้น ในทัศนะของพระพุทธศาสนา มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมสูงสุด อันเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคน และมีผลทำให้เข้าถึงชีวิตที่มีอิสรภาพและมีความสุข ด้วยเหตุนี้ จะเอาวรรณะที่ต่างกัน มาเป็นเครื่องจำกัดศักยภาพมิได้ เพราะวรรณะทุกวรรณะต่างเสมอกันโดยกรรม คือ ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว


ข้อความส่วนหนึ่งจากร่างพระราชบัญญัติทาษรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘)

            นอกจากพระพุทธศาสนา ศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาอิสลาม คริสต์ศาสนา ก็มีหลักธรรมเรื่องคุณค่าของชีวิตมนุษย์ และศักยภาพในการพัฒนาตนเอง จนบรรลุถึงธรรมอันสูงสุด การมีอิสรภาพ และการมีความสุข ซึ่งปรากฏอยู่ในศาสนาต่างๆ แท้จริงแล้ว เป็นรากฐานของแนวคิด ด้านสิทธิมนุษยชน ที่เน้นถึงสิทธิของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเท่าเทียมกันมาแต่กำเนิด ดังปรากฏในข้อ ๑ ของปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรี และเท่าเทียมกัน ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนต่างได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผล และมโนธรรม และพึงปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง" ดังนั้น "สิทธิมนุษยชน" จึงมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นคุณธรรมที่มีอยู่ในศาสนา วัฒนธรรม และสังคมไทย มาเป็นเวลานานแล้ว และมีก่อนการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชนด้วย การเลิกทาสในประเทศไทย ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่ยืนยันถึงคุณค่าที่เท่าเทียมกันของชีวิตทุกชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ดังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๔ ที่ประกาศว่า "บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ในภาวะจำยอมใดๆ มิได้ การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ในทุกรูปแบบ"