เล่มที่ 32
สิทธิมนุษยชน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กลไกการ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ

            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐เป็นผลพวงจากการต่อสู้ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาเป็นเวลายาวนาน และประชาชนได้มีส่วนร่วม ในการเสนอความคิด และร่วมร่างรัฐธรรมนูญนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ที่รัฐธรรมนูญ ได้มีบทบัญญัติปกป้องสิทธิ และเสรีภาพ ของประชาชนไว้อย่างกว้างขวางโดยกำหนดกลไกต่างๆ ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ได้แก่
  • ศาลรัฐธรรมนูญ ในมาตรา ๒๕๕ ถึงมาตรา ๒๗๐
  • ศาลปกครอง ในมาตรา ๒๗๖ ถึง มาตรา ๒๘๐
  • ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ในมาตรา ๑๙๖ ถึงมาตรา ๑๙๘
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในมาตรา ๑๙๙ ถึงมาตรา ๒๐๐
๑) ศาลรัฐธรรมนูญ

            เป็นองค์กร ซึ่งมิได้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั่วไปแต่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะ คดี ที่มีปัญหากฎหมายเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ หน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญ คือการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพื่อรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สอบถามข้อเท็จจริง และข้อมูลหลักฐาน จากชาวไทยภูเขาที่ร้องเรียน ในเรื่องที่ดินทำกิน

            การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐ ธรรมนูญ มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

            ๑. เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

                        โดยมิให้มีการบัญญัติกฎหมาย ที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติรับรองไว้

            ๒. เพื่อประโยชน์ในการปกครองประเทศ

                        ด้วยการรักษาดุลยภาพการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรตามที่ปรากฏในรัฐ ธรรมนูญ อันเป็นกระบวนการถ่วงดุลอำนาจ ระหว่างองค์กรต่างๆ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตย


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มอบรางวัล "องค์กร ที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น" แก่องค์กรบ้านบ่อนอกและบ้านหินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

            ๓. เพื่อคุ้มครองปกป้องรัฐธรรมนูญ ให้ดำรงรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดเอาไว้

                        เมื่อบทบัญญัติกฎหมายใดมีข้อความ หรือเจตนารมณ์ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีการควบคุม โดยวินิจฉัยให้กฎหมายนั้นไม่มีผลใช้บังคับ ศาลรัฐธรรมนูญมีองค์ประกอบดังนี้คือ มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ ๑ คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นๆ อีก ๑๔ คน รวมเป็น ๑๕ คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง ๑๕ คน มาจากบุคคลต่อไปนี้

                        ๑. ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา และได้รับเลือก โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน ๕ คน

                        ๒. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกในที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน ๒ คน

                        ๓. ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา จำนวน ๕ คน

                        ๔. ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา จำนวน ๓ คน

            ศาลรัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนได้ ถึงแม้ว่า ประชาชนทั่วไป ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เนื่องจาก การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้น สามารถทำได้ ๒ วิธี คือ

            ๑. ใช้สิทธิทางศาล คือ ส่งเรื่องผ่านทางศาลเพื่อให้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ และภายหลังได้ถูกให้อพยพออกจากที่อยู่ที่ทำกิน โดยถูกฟ้องต่อศาลว่า ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ มาตราตามที่ถูกฟ้องนั้น อาจขัดหรือแย้งต่อสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ ขอให้ศาลได้ส่งข้อโต้แย้งนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความวินิจฉัย

            ๒. ใช้สิทธิผ่านกระบวนการของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

            เช่น ผู้พิการที่มีความรู้ความสามารถสอบเข้าทำงานในส่วนราชการได้ แต่ถูกปฏิเสธการเข้าทำงาน จากส่วนราชการ โดยอ้างระเบียบปฏิบัติบางประการ ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุแห่งสภาพทางร่างกาย หรือสุขภาพอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ วรรค ๒ ผู้พิการคนนั้นอาจส่งเรื่องร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้ส่งเรื่องร้องเรียนนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

๒) ศาลปกครอง

            เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ การใช้อำนาจของทางราชการ เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน และคุ้มครองประโยชน์ของส่วนรวมให้ได้ดุลยภาพกัน และเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้อง ในการปฏิบัติราชการ ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในกำกับดูแลของ รัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาท อันเนื่องมาจากการกระทำ หรือการละเว้นการกระทำของหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าว หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

            ศาลปกครอง แบ่งออกเป็น ๒ ชั้นศาล คือ ศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองชั้นต้น โดยมีโครงสร้าง และเขตอำนาจตามแผนผังต่อไปนี้

            คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีจำนวน  ๑๓  คน ผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง คือ


ศาลปกครอง


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

            ๑. ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือได้รับความเสียหายจากการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

            ๒. ผู้ที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

            ๓. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ในกรณีที่เห็นว่า กฎหรือการกระทำของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

            ๔. กรณีอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้ ฟ้องต่อศาลปกครอง


ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์ที่พิจารณาวินิจฉัยเฉพาะคดีที่มีปัญหากฎหมาย เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น


สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

๓) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

            เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร มิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ในการดำเนินการบริหารบ้านเมือง ด้วยเหตุนี้ สถาบันนี้จึงต้องมีอำนาจพอสมควร ในการสอบสวนการกระทำ หรือการละเลยการกระทำของฝ่ายบริหาร ต้องมีความเป็นอิสระ ในการดำเนินงาน และที่สำคัญ จะต้องเป็นสถาบันที่เยียวยาให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งมักเป็นประชาชน ให้ได้รับความยุติธรรม

            องค์ประกอบของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีจำนวนไม่เกิน ๓ คน โดยการแต่งตั้ง จากผู้ที่ประชาชนให้การยอมรับนับถือ มีความรอบรู้ และมีประสบการณ์ ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐวิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกัน ของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา และสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ในเรื่องดังต่อไปนี้ 

            ๑. เรื่องที่ข้าราชการ พนักงานของรัฐ หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่

            ๒. เรื่องที่ข้าราชการ พนักงานของรัฐ หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติ หรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ โดยก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน หรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการปฏิบัตินั้น จะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็ตาม ผู้ที่มีสิทธิร้องเรียน หรือส่งเรื่อง ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คือ
  • ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยไม่เป็นธรรม หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ร้องเรียนแทน
  • ผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือเรื่องที่จะร้องเรียน
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือกรรมาธิการของวุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องร้องเรียนด้วยตนเอง หรือรับเรื่องจากผู้เสียหาย เพื่อส่งต่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

๔) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

            ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นกลไกหลักในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสานต่อเจตนารมณ์ของประชาชน ที่สะท้อนอยู่ในรัฐธรรมนูญให้เกิดผลที่เป็นจริง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วย ประธานกรรมการ ๑ คน และกรรมการอีก ๑๐ คน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้ง ๑๑  คน ได้รับการเลือกสรรจากคณะกรรมการสรรหา ซึ่งเสนอรายชื่อผู้ที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน จำนวน ๒๒ คน เพื่อให้วุฒิสภาเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุด ๑๑ คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

            พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ไว้ สรุปได้ดังนี้

                        ๑. ส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติ ตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

                        ๒. ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม

                        ๓. เสนอแนะนโยบายและการแก้ไขกฎหมายเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

                        ๔. ส่งเสริมการศึกษา วิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน

                        ๕. ส่งเสริมความร่วมมือ และการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นๆ ด้านสิทธิมนุษยชน

                        ๖.  จัดทำรายงานประจำปี เพื่อประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และผลการปฏิบัติงานประจำปี

                        ๗. เสนอความเห็นในกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษย ชน

            การร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ที่มีสิทธิร้องเรียน คือ
  • ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้องเรียนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่น หรือองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ร้องเรียนแทน
  • องค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน
  • กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาร้องเรียน