เล่มที่ 32
สิทธิมนุษยชน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สถานการณ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ในประเทศไทย

            การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทำให้สหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศให้การยอมรับว่าประเทศไทยมี พัฒนาการในการพิทักษ์และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแล้ว อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติรัฐก็ยังไม่ได้ออกกฎหมายรองรับมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้อีกจำนวนมาก ทั้งยังมีนโยบายและกฎหมายบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญ นอกจากนั้น สิทธิของประชาชน และชุมชนในประเทศบางครั้งยังถูกคุกคามและละเมิดจากกลุ่มต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น กระบวนการข้ามชาติเพื่อลักลอบค้ามนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานเด็กการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิในการพัฒนา การแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นและทำลายสิ่งแวดล้อมโดยบรรษัทข้ามชาติที่ ร่วมมือกับกลุ่มทุนในประเทศ อาจกล่าวได้ว่า ถึงแม้ประชาคมระหว่างประเทศและสหประชาชาติจะให้การยอมรับว่าประเทศไทยมี พัฒนาการในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่รวดเร็วและก้าวหน้าแต่ปัจจุบันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศก็ยัง ปรากฏอยู่เสมอ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงยิ่งขึ้น ถ้าไม่รีบดำเนินการแก้ไขให้ทันท่วงที

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ปรากฏเสมอๆ ในสังคมไทย พอจะสรุปได้ดังนี้ คือ

สถานการณ์ ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

            ทิศทางการพัฒนาที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ ผ่านมา ส่งผลให้สถาบันครอบครัวไทยอ่อนแอลง ทั้งในแง่ของการพัฒนาศักยภาพบุคคลในครอบครัว และสร้างภูมิต้านทานให้แก่เด็ก รวมถึงการทำร้ายเด็ก โดยบุคคลในครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น เด็กและเยาวชนติดยาเสพติด เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน การใช้แรงงานเด็ก เด็กในธุรกิจบริการทางเพศ เด็กหนีภัย เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

สถานการณ์ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

            ถึงแม้ว่า รัฐธรรมนูญจะได้กำหนดให้มีการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายและกระบวนการ ยุติธรรมหลายประการ แต่ในทางปฏิบัติการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ยังคงเป็นปัญหาอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา กระบวนการลงโทษโดยวิธีต่างๆ การคุ้มครองเด็กและเยาวชนเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายและกฎระเบียบอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง แก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีกฎหมายอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ออกมารองรับสิทธิของประชาชนและ สิทธิชุมชน โดยเฉพาะสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


การชุมนุมของชาวบ้าน เพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘

สถานการณ์ ด้านนโยบายทางสังคม

            ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะได้รับรอง และคุ้มครองมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน และกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมความเสมอภาคแก่ผู้ด้อยโอกาส เด็ก คนชรา คนพิการ รวมทั้งส่งเสริมความเสมอภาค ทางโอกาสระหว่างหญิงและชาย และคุ้มครองมิให้มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน แต่ก็ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกมาก เช่น ประเทศไทยยังเป็นทั้งประเทศต้นทาง ประเทศส่งผ่าน และประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์ข้ามชาติ โดยเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก รวมถึงคนไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และจากประเทศอื่นๆ ได้ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านธุรกิจบริการทางเพศ และการเอาเปรียบแรงงาน

            นอกจากนี้ ทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นการผลิตในระบบอุตสาหกรรมได้ก่อให้เกิดช่อง ว่างของการกระจายรายได้ ผู้ใช้แรงงานถูกเอาเปรียบ และไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีขบวนการรวมกลุ่มของสหภาพแรงงานต่างๆ ที่เข้มแข็ง สภาพความปลอดภัยในการทำงานส่วนใหญ่ยังมีความเสี่ยงสูง และไร้หลักประกัน

สถานการณ์ ด้านฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิชุมชน

            การที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิของชุมชนในด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ก็เพื่อพัฒนาให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีอำนาจต่อรองในการพิทักษ์ปกป้องทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งพื้นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย ตลอดจน ความสามารถในการจัดการชุมชนของตน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข


การจัดกิจกรรมนันทนาการให้แก่ผู้สูงอายุ เป็นการส่งเสริมความเสมอภาคแก่คนชรา ซึ่งเป็นนโยบายทางสังคม

            อย่าง ไรก็ตาม รัฐและกลไกของรัฐ ยังขาดความรู้ และความเข้าใจ ถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง อีกทั้งยังนิยมใช้รัฐเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบาย และการดำเนินการ จึงยังไม่มีการออกกฎหมาย เพื่อรับรองสิทธิชุมชนให้ชัดเจน อีกทั้งบางครั้ง ยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งเสริม และเคารพสิทธิ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนา ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งจากการดำเนินโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการของเอกชน บรรษัทข้ามชาติ หรือรัฐบาล