จุดมุ่งหมายของการศึกษาชีววิทยา
จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดในการศึกษาชีววิทยา คือ การเข้าใจกลไกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในการดำรงชีวิตของเซลล์ ซึ่งต้องทำการศึกษา ตั้งแต่ระดับหน่วยที่เล็กที่สุด คือ ระดับอะตอม ไปจนถึงโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้ง ต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโมเลกุลต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากมนุษย์สามารถศึกษา ดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด และสามารถมองเห็นกิจกรรมต่างๆ ในภาพรวมของเซลล์ได้ จะทำให้สามารถเข้าใจเซลล์ได้ดีขึ้น นำไปสู่การประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวได้มากมาย เช่น ในทางการแพทย์ หากเราทราบถึงความแตกต่าง ระหว่างเซลล์ปกติกับเซลล์ที่เป็นโรค จะช่วยให้เราสามารถค้นหาวิธีการรักษาความผิดปกติ ที่พบเฉพาะในเซลล์ที่เป็นโรคนั้นๆ ได้อย่างจำเพาะ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ร่างการประกอบไปด้วยอวัยวะ และเนื้อเยื่อต่างๆ ทำงานประสานกัน โดยมีหน่วยย่อยที่เล็กที่สุด คือ เซลล์
การทำงานของเซลล์เกิดจากกิจกรรมของสารชีวโมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์ เช่น โปรตีน
จากความต้องการบรรลุสู่จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุด ดังกล่าวข้างต้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์คิดค้น เครื่องมืออัตโนมัติใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ในการศึกษาชีววิทยา จากเดิมที่เป็นการศึกษาโมเลกุล อาทิ การศึกษาเฉพาะดีเอ็นเอส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือโปรตีนชนิดใดชนิดหนึ่ง มาเป็นการศึกษาโมเลกุลจำนวนมากภายในเซลล์ ในเวลาเดียวกัน หรือในการทดลองครั้งเดียวกัน ทำให้สามารถลดเวลา ขั้นตอนและจำนวน ในการทดลองลง และเมื่อนำข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้ มาวิเคราะห์เข้าด้วยกัน จะช่วยทำให้เห็นความสัมพันธ์ของการทำงาน ของชีวโมเลกุลต่างๆ ที่ทำงานประสานกันภายในเซลล์ได้อย่างชัดเจน ทำให้เข้าใจการทำงานของเซลล์มากขึ้น