การศึกษาทางด้านชีววิทยาสมัยใหม่
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีหน่วยย่อย คือ เซลล์ ซึ่งมีธาตุชนิดต่างๆ ทั้งที่เป็นโลหะและอโลหะ เช่น โซเดียม คาร์บอน ออกซิเจน ซึ่งธาตุเหล่านี้ประกอบกันเข้าเป็นสารเคมีอินทรีย์ที่เรียกว่า สารชีวโมเลกุล (bio-molecule) อันเป็นองค์ประกอบหลักของเซลล์ที่นอกเหนือจากน้ำ สารชีวโมเลกุลเหล่านี้เมื่อเกิดการรวมกันหรือกระทบกัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีขึ้น ภายในเซลล์ เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของสาร เรียกว่า กิจกรรมของชีวโมเลกุล (biomolecular activity) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การทำงานร่วมกันอย่างมีระเบียบแบบแผนของชีวโมเลกุล เป็นรากฐานที่ทำให้เซลล์มีชีวิต
สารชีวโมเลกุลที่สำคัญมีจำนวนมากภายในเซลล์ ซึ่งทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทำให้เซลล์ดำรงชีวิตได้ ในภาพแสดงดีเอ็นเอในนิวเคลียส ที่สังเคราะห์อาร์เอ็นเอนำรหัส แล้วออกนอกนิวเคลียสไปยังไรโบโซม เพื่อสังเคราะห์เป็นโปรตีน
สารชีวโมเลกุลที่สำคัญต่อการมีชีวิต มีหลายชนิด เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน อาร์เอ็นเอ (RNA) ดีเอ็นเอ (DNA) สารชีวโมเลกุลเหล่านี้มีจำนวนมากมาย และมีการทำงานที่สัมพันธ์ และเชื่อมโยงกันระหว่างชีวโมเลกุลภายในเซลล์อย่างซับซ้อน การมีชีวิตของเซลล์จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างสารชีวโมเลกุลเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังอาจขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างสารชีวโมเลกุลกับสภาวะแวดล้อมด้วย